TDRI​ แนะ“เยียวยาโควิด” กู้เพิ่ม 7 แสนล้าน ใช้เงินยังไงให้เข้าเป้า

22 พ.ค. 2564 | 07:13 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ค. 2564 | 19:01 น.
762

นักวิชาการ TDRI ผ่าปัญหา “มาตรการเยียวยาโควิด” ในการใช้เงินกู้ก้อนใหม่อีก 7 แสนล้านของรัฐบาล เพื่อให้การใช้จ่ายเงินเข้าเป้าหมายมากที่สุด

การแพร่ระบาดของโควิดส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา จึงมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิดระลอกใหม่ ในวงเงิน 7 แสนล้านบาท เพื่อรับมือโควิดระลอกใหม่ แบ่งดูแล 3 ด้านดังนี้

  • สาธารณสุข 3 หมื่นล้านบาท
  • เยียวยาประชาชน 4 แสนล้านบาท
  • ฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคม 2.7 แสนล้านบาท  

TDRI​ แนะ“เยียวยาโควิด” กู้เพิ่ม 7 แสนล้าน ใช้เงินยังไงให้เข้าเป้า

เนื่องจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ได้มีการนำมาใช้ตั้แต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันเหลือเงินที่จะนำออกมาใช้ได้อีกราว 1.8 แสนล้านบาท และรัฐบาลมีภาระต้องใช้เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจำนวน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเหลือวงเงิน 3 หมื่นล้านบาทที่เป็นของกระทรวงสาธารณสุขไม่เพียงพอในการรับมือกับการระบาดของโควิดรอบใหม่

ทั้งนี้การกู้เงินรอบนี้เป็นการกู้เพิ่มเติมจากวงเงินกู้เดิม 1 ล้านล้านบาท ที่เคยกู้เงินมาแล้วเท่ากับว่าเงินแก้วิกฤตโควิดสองรอบรวมทั้งสิ้น 1.7 ล้านล้านบาท 

คำถามก็คือการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทรอบก่อนถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วหรือไม่ และเงินกู้รอบใหม่ 7 แสนล้านบาทควรนำไปใช้อย่างไร
สำหรับการกู้รอบใหม่หากถามว่าควรหรือไม่ควรก็ต้องตอบว่า ขณะนี้ประเทศจำเป็นต้องการงบประมาณจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ การเยียวยา และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังนั้นเงินกู้ 7 แสนล้านบาท จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องดำเนินการ แต่จะเหมาะสมหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าเอาเงินไปใช้อะไร 

“เยียวยาโควิด” กู้เพิ่ม 7 แสนล้าน ใช้เงินยังไงให้เข้าเป้า

“ดร.นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งสนใจศึกษาวิจัยโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย โดยเฉพาะมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ ไล่เรียงทีละข้อว่ารัฐบาลควรนำเงินไปใช้ในเรื่องใดบ้าง 

TDRI​ แนะ“เยียวยาโควิด” กู้เพิ่ม 7 แสนล้าน ใช้เงินยังไงให้เข้าเป้า

ส่วนที่ 1 คือ ด้านสุขภาพรัฐบาลสามารถเลือกได้หลายแบบ เช่น อาจจะนำไปซื้อชุด PPE เน้นการตรวจเชิงรุก เน้นการจัดหาวัคซีนทางเลือกที่สามารถป้องกันสายพันธุ์ใหม่ๆ เช่น โควิดสายพันธุ์อินเดีย ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้ศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็ว 

สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่า การฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยไทยออกจากวิกฤตด้านสาธารณสุขและการเปิดประเทศ โดยหากฉีดวัคซีนได้เร็วจะช่วยหนุนการเติบโตจีดีพีในปี 2564-2565 ขยายตัว 3.0-5.7%

ส่วนที่ 2 คือ การเยียวยากรอบวงเงินกู้ใหม่ 4 แสนล้านบาท หากนำเงินเยียวยาจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ยังคงค้างมารวมด้วยภาครัฐจะมีเงินเยียวยาราว 6 แสนล้านบาท นั่นหมายจะมี “เงินอัดฉีด” ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรืออุดหนุนค่าครองชีพแบบให้เปล่า แต่หากสถานการณ์บานปลายไปประมาณ 6 เดือน รัฐบาลต้องพิจารณาเพิ่มเงินเยียวยาให้กับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีรายได้น้อย 

“ตีว่าภาครัฐต้องการเงิน 5-6 เดือน นั่นหมายความว่าใน 1 เดือนรัฐจะแจกเงินได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท ถ้าเทียบกับกลุ่มคนที่ได้รับความช่วยเหลือซึ่งจะเป็นแรงงานนอกระบบที่มีสวัสดิการน้อย หาบเล่ แผงลอย คนหาเช้ากินค่ำ รวมถึงพนักงานบริษัทที่มีรายได้น้อย ถ้ารวมสองกลุ่มนี้น่าจะ 40  ล้านคน ก็จะแปลว่า 1 คนต่อเดือนจะได้เงินประมาณ 2,500 – 3,000 ถามว่าพอไหมก็ต้องไปเทียบกับค่าครองชีพ คือถ้ามองว่าแรงงานที่เป็นฐานรากได้รับค่าจ้างประมาณ 300 บาทต่อวัน 26 วันต่อเดือนจะต้องมีรายได้ประมาณ 7,800 บาท ถึงจะอยู่รอดได้ การที่ภาครัฐกำหนดให้หรือสามารถจะให้ได้ประมาณซัก 3,000 บาท ผมมองว่ามันอาจจะน้อยไป อย่างน้อยควรจะต้องให้ได้เกินครึ่ง ถามว่าทำไมเพราะว่าท้ายที่สุดแล้วถ้าดูจากรายได้ที่กลุ่มเหล่านี้เคยได้รับ 7,800 บาท แต่ได้อุดหนุนจากภาครัฐ 3,000 บาท ก็แปลว่าเขาจะต้องวิ่งออกไปหาเงินข้างนอกอีกเกือบ 5,000 บาท และจริงๆภาครัฐกำหนดก่อนที่จะมีเงินกู้ 7 แสนล้านบาทให้แค่ 2,000 บาทด้วยซ้ำ ผมมองว่าเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้คนหาเช้ากินค่ำหลายคนที่ไม่มีใครอยากออกไปเสี่ยงแต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจบีบคั้น ทำให้ส่งผลการแพร่ระบาดยังมีอยู่” ดร.นณริฏ อธิบาย 

นอกจากนี้ยังต้องมีมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจ โดยพยายามหากลไกลที่จะทำให้ธนาคารพานิชย์พร้อมจะปล่อยกู้ให้กับธุรกิจรายย่อย

“เรื่องเยียวยาภาครัฐมีความพยายามที่ดี แต่การเข้าถึงก็ยากอยู่แล้ว ขอยกตัวอย่างคือเวลาที่พูดถึงซอฟท์โลนหรือว่าเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจหรือธุรกิจขนาดเล็กมันเป็นโดยธรรมชาติอยู่แล้วที่ธนาคารพาณิชย์อยากที่จะปล่อยให้ธุรกิจรายใหญ่มากกว่าเพราะมีความมั่นคง ฉะนั้นรัฐจึงต้องพยายามหากลไกที่จะทำให้ธนาคารพาณิชย์อยากจะปล่อยกู้ให้กับรายย่อย ซึ่งเข้าใจว่าในระลอกใหม่นี้ภาครัฐมีการปรับเงื่อนไขของโครงการซอฟท์โลนให้มี บสย. เข้ามาช่วยค้ำประกัน” ดร.นณริฏ กล่าวและเสริมต่อว่า

ส่วนที่ 3 เรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจในกรอบวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท ฝั่งธุรกิจเมื่อเห็นกรอบวงเงินนี้แล้วก็ต่างสะท้อนออกมาในทำนองเดียวกันว่าเม็ดเงินยังไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะการแพร่ระบาดของโควิดระลอก 3 สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากกว่าครั้งที่ผ่านมา รัฐบาลควรที่จะมีเม็ดเงินเพิ่มเติมควบคู่ไปกับเม็ดเงินที่ใช้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

TDRI​ แนะ“เยียวยาโควิด” กู้เพิ่ม 7 แสนล้าน ใช้เงินยังไงให้เข้าเป้า

 

“เรื่องที่กังวลใจมากที่สุด ถามว่าทำไมคือต้องเข้าใจว่าปีที่แล้วเรากู้มา 1 ล้านล้านบาท แปลว่ารัฐจะต้องใช้หนี้ ปีนี้กู้อีก 7 แสนล้านบาท แต่ในจำนวนนี้มีแค่ 2.7 แสนล้านบาทเท่านั้นที่จะเป็นหัวใจในการสร้างรายได้ หากลองจินตนาเราเป็นหนี้อยู่ 1.7 ล้านบาท แต่เราใช้เงินแค่ 2.7 แสนล้าน ทำอย่างไรให้มันสร้างรายได้ขึ้นมา คือยากมาก นอกจากจะทำธุรกิจเก่งมาก ผมเองจึงกังวลใจเหมือนกับภาคธุรกิจว่าถ้ารัฐไม่เพิ่มขนาดกรอบวงเงินมันอาจจะไม่สามารถที่จะสร้างรายได้ และนอกจากจะเพิ่มขนาดวงเงินยังต้องไปตามดูด้วยว่าโครงการที่รัฐจะสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่จะทำให้เกิดรายได้หรือไม่มันคือโครงการอะไร เพราะว่าเวลาเราพูดถึงเรื่องฟื้นฟูในปีที่ผ่านมาก็มีอยู่แล้วงบฟื้นฟูใน 1ล้านล้านบาท สิ่งที่พบก็คือภาครัฐเบิกจ่ายได้ช้ากว่าหรือมีโครงการก็ไม่ได้เป็นโครงการที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เป็นโครงการที่ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศชาติมีรายได้ในระยะยาว” ดร.นณริฏ กล่าว

มุมมองทางเศรษฐศาสตร์กับมาตรการ “เยียวยาโควิด” 

ที่ผ่านมาภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดจำนวนมาก ซึ่งโดยภาพรวมถือว่ามีประสิทธิภาพที่สูงและต่ำแตกต่างกัน แต่จุดเด่นอยู่ที่สามารถแทรกซึมลงไปในกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มที่มีปัญหาได้ 

1.มาตรการลดค่าครองชีพ เช่น ลดค่าน้ำค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ถือว่ามีประโยชน์ที่จะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ต้องทำงานที่บ้าน Work From Home 

2.เงินอุดหนุนแบบให้เปล่า ได้แก่ โครงการเรารักกัน โครงการเราชนะ ที่ภาครัฐโอนเงินเข้าไปในแอพเป๋าตังและให้นำเงินไปใช้เลยโดยที่ไม่ต้องเอาเงินตัวเองออก 

“มาตรการลดค่าครองชีพหรือเงินอุดหนุนให้เปล่า ในทางเศรษฐศาสตร์มีวิธีการคำนวณตัวคูณทางเศรษฐกิจว่าเงินที่ภาครัฐลงไปสามารถกระตุ้นให้เกิดเงินเพิ่มเติมได้ขนาดไหน ค่าตัวคูณจะออกมาประมาณ 0.85 เท่า นั่นหมายความว่า 1 บาทที่รัฐลงมาจะเกิดเงินใหม่ขึ้นมาประมาณ 0.85 เท่าก็ถือว่ามีประสิทธิภาพค่อนข้างดี ข้อดีสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ลองคิดว่าคนที่ตกงาน คนที่ไม่มีรายได้เลย ถ้าเราจะใช้มาตรการที่เอาเงินตัวเองบางส่วนมาร่วมก็อาจจะไม่มีเงินที่จะทำได้ ตรงนี้ผมคิดว่าแม้ว่าตัวคูณทางเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้สูงมากแต่มีจุดเด่นของมัน”

3.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง ในทางเศรษฐศาตร์ตัวคูณทางเศรษฐกิจจะสูงมากอยู่ที่ 1.08 ถึง 1.83 เท่า ถือว่าเป็นโครงการที่ดีที่สุด 

“ทำไมมีประสิทธิภาพเพราะมันมีระบบทั้งภาครัฐและประชาชนร่วมกันจ่าย และจุดเด่นยังอยู่ที่ร้านที่เข้าร่วมโครงการที่ถูกกำหนดว่าจะต้องเป็นร้านที่ไม่ใช่ร้านใหญ่ ไม่ใช่ห้าง ก็ได้มุมของเรื่องของฐานรากด้วย ทำให้เงินเข้าถึงพ่อค้า แม่ค้า คิดว่าเป็นโครงการที่ดีที่สุด แต่แน่นอนว่าก็ต้องคนต้องมีเงินด้วย ถ้าคนไม่มีเงินก็ควรจะกลับไปใช้เงินอุดหนุนให้เปล่าก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์” 

นอกจากนี้ทางเศรษฐกิจอีกก็คือ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งปลายปีนี้ภาครัฐน่าจะมีความคืบหน้า จากการประเมินบทเรียนช่วงการระบาดระลอก 1 และ ระลอก 2 ตัวคูณทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 0.64 เท่า ซึ่งต่ำกว่ามาตรการให้เงินเปล่าและต่ำกว่าโครงการคนละครึ่ง 

“ต้องเข้าใจว่าการแพร่ระบาดโควิดทำให้ภาคท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด ดังนั้นประโยชน์ก็คือการโยนเงินเข้าไปในกลุ่มของภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ ตรงนี้เลยคิดว่ามีประสิทธิภาพพอสมควร เพราะสามารถลงไปที่คนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ตรงนี้ก็มีเสน่ห์” 

4.มาตรการประกันสังคม ปรับลดจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมนายจ้าง-ลูกจ้างบรรเทาผลโควิด ที่ล่าสุดโดยให้ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละ 5% เหลือฝ่ายละ 2.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน และ ผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลืออัตราเดือนละ 216 บาท เป็นเวลา 3 เดือนในงวดเดือน มิ.ย.-ส.ค.64 ส่วนตั้งแต่งวดเดือน ก.ย. 64 เป็นต้น ไปให้ส่งเงินสมทบอัตราเดิมถือว่ามีประสิทธิผลที่จำกัด

TDRI​ แนะ“เยียวยาโควิด” กู้เพิ่ม 7 แสนล้าน ใช้เงินยังไงให้เข้าเป้า  

“การประเมินพบว่าตัวคูณอยู่ที่ 0.59 - 0.7 เท่า ซึ่งก็จะพอๆกับเราเที่ยวด้วยกัน ถูกจัดอยู่ในขั้นที่มีประสิทธิภาพที่จำกัดไม่สูงเทียบเท่ากับมาตรการอื่นๆ แต่ก็มีเสน่ห์ตรงที่ว่าช่วยให้ธุรกิจประคองการแจ้งงานได้ คือถ้าอะไรที่ช่วยลดต้นทุนกับภาค ธุรกิจได้ แน่นอนธุรกิจบางส่วนเลือกที่จะรักษาการจ้างงานเอาไว้” 

5.มาตรการซอฟต์โลน ประเมินว่าตัวคูณทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 0.34 ถึง 0.56 เท่า ต่ำแบบเดียวกันกับประกันสังคมหรือโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แต่ก็มีเสน่ห์เรื่องการทำให้ธุรกิจของขนาดเล็กมีสภาพคล่อง 

“ถามว่าโครงการลักษณะไหนที่ไม่ชอบก็คือโครงการที่คนได้รับประโยชน์ไม่ใช่คนยากจน เช่น ช็อปดีมีคืน คนที่มี ฐานะใช้จ่ายสามารถที่จะเคลมภาษีคืน ถามว่าทำไมถึงไม่ชอบ เพราะว่าโดยทั่วไปรายจ่ายของคนที่มีฐานะมักจะเยอะกว่า  ยอดเงินของโครงการ ช็อปดีมีคืนบอกว่าใช้จ่าย 30,000 บาท คำถามคือว่าถ้ามีรายได้สูงหลักล้าน โดยทั่วไปมีรายจ่ายมากกว่า 30,000 บาทอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นโครงการนี้แทบจะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ”   

กลุ่มไหนที่มาตรการ “เยียวยาโควิด” ต้องให้ความสำคัญ 

กลุ่มแรก SME รัฐบาลต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีสภาพคล่อง เนื่องจากขณะนี้เริ่มมีข่าวว่าร้านเล็กเริ่มปิดตัวลงสะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ได้ 

“เคยคุยกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีก็เสนอกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีที่ให้ภาครัฐใส่เงินลงไปแล้วให้ธนาคารร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอี จะคล้ายกองทุนฟื้นฟูตอนที่สถาบันการเงินล้มตอนต้มยำกุ้ง รัฐบาลก็สามารถเครื่องมือนี้มาใช้ได้”

กลุ่มเปาะบาง ถือว่าเป็นกลุ่มที่ปรับตัวเพื่อรับแรงกระแทกจากสถานการณ์โควิดได้น้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ เช่น เด็กอยากจน กลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการ กลุ่มแรงงานที่ต้องตกงาน เฉพาะกลุ่มแรงงานเหล่านี้มีจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบก้าวกระโดด คำถามที่ตามมาก็คือเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแรงงานเหล่านี้ยังจะเป็นแรงงานที่ได้รับความต้องการหรือไม่ 

“บางคนแรงงานที่ตกงานและเว้นจากการทำงานมานาน หรือเป็นแรงงานที่ถูกเตะออกมาแล้ว พอเศรษฐกิจกลับมา พวกเขาต้องต่อสู้กับแรงงานเจนเนอเรชั่นใหม่ เด็กที่จบใหม่ แน่นอนว่าต้องส่งผลต่อค่าแรง อีกทั้งเรื่องทักษะต่างๆก็ต้องหายไป ในต่างประเทศจะมีกองทุนที่พยายามจะนำแรงงานลักษณะนี้ เช่น จ้างไปเทรนนิ่ง จ้างไปฝึกอบรม เพื่อที่จะทำให้เขาสามารถตอบโจทย์โดยเฉพาะ หากเราอยากพัฒนาอีอีซี แรงงานตกงานอาจจะเป็นแรงงานใหม่และฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ดี” 
 

ข้อเสนอต่อรัฐบาล

1.มาตรการเยียวยา ส่วนแรกภาครัฐควรอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่ม โดยเฉพาะเงินแบบให้เปล่า อย่างน้อยเฉลี่ยเดือนละ 4,000 บาท สำหรับในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิดที่สูงขึ้น จากนั้นจึงค่อยๆลดลง เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนอยู่บ้านมากขึ้นและช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนต่อมาเรื่องกลุ่มเปราะบางภาครัฐจำเป็นต้องอัดฉีดเงินเพิ่มเติม เพราะวิกฤตรอบนี้จะกลายเป็นแผลระยะยาวที่จะต้องมาแก้ปัญหาอีกครั้ง 

2.มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภาครัฐควรจะต้องกู้เพิ่มอีกอย่างน้อยหากคิดรวมกับกรอบวงเงิน 2.7 เเสนล้าน ก็น่าจะอยู่ที่ราว 1-2 ล้านล้านบาท เพื่อนำไปปรับเปลี่ยนและพัฒนา ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 เป้าหมายดังนี้ 

โครงการคลองไทย ไม่ใช่เป็นคลองขุดให้เรือแล่นผ่านแต่เป็นการสร้างรายได้จากการเดินเรือข้ามฝั่งอ่าวไทยมาฝั่งอันดามัน 

“ตรงนี้เป็นเงินฟรีเงินกินเปล่าแทบจะให้ช่วลูกชั่วหลานเพียงแต่ว่าภาครัฐจะกล้าทำไหม จะทำอย่างไรให้ไม่เกิดปัญหาในเรื่องคนในพื้นที่ได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสม ซึ่งต้องออกแบบนโยบายให้ดี”

โครงการรถไฟความเร็วสูง ถือว่าเป็นโอกาสสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล หากสามารถเชื่อมโยงเศรษฐกิจได้
“รถไฟจีนวิ่งมาถึงเวียงจันทน์แล้ว แต่ของไทยไม่รู้ว่าจะสร้างไปถึงไหน คือ เวลารถไฟวิ่งลงมาไม่ได้วิ่งกลับไปเปล่าๆ จึงเป็นโอกาสว่าประเทศไทยยิ่งอยู่ติดเวียงจันทน์ด้วยเราจะสามารถเอาสินค้าของไทยขึ้นไปบนรถไฟแล้วกลับไปขายได้หรือไม่ เอาแค่มณฑลยูนนานอย่างเดียวขนาดของเศรษฐกิจก็ใกล้เคียงกับประเทศไทยทั้งประเทศแล้ว นั่นหมายถึงถ้าสามารถเชื่อมโยงเศรษฐกิจได้ก็เป็นโอกาสการสร้างเงินอย่างมหาศาล” 

โครงการดิจิตอล อีโคโนมี (Digital economy) จำเป็นต้องทำให้เกิดระบบดิจิทัลขึ้นให้ได้ ซึ่งทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเคยประเมินไว้ว่ามีความคุ้มค่าและมีผลตอบแทนสูงมากถึง 7 เท่า 

“เราพูดกันมานานที่จะอัพเกรดให้เกิดระบบดิจิตอลขึ้นและสำนักงานเศรษฐกิจการคลังก็ได้ประเมินว่ามีความคุ้มค่าอย่างสูงมาก ผลตอบแทนมากถึง 7 เท่า ต้องอัพเกรดทั้งภาครัฐและเอกชนให้ได้” 

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภาครัฐต้องปรับอุตสาหกรรมบางตัวที่เริ่มหายไปเรื่อยๆ และตั้งเป้าเรื่องอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ว่าอุตสาหกรรมไหนจะสร้างความยั่งยืน

“เรื่องของอีอีซีต้องกลับมาดูว่าอุตสาหกรรมไหนที่ต้องปรับ ตอนนี้มีอุตสาหกรรมบางตัวเริ่มหายไป ไม่ว่าจะเป็นโครงการศูนย์ซ่อม MRO เมดิคอลฮับ คำถามก็คืออีอีซีเรายังจะเอานิวเอสเคิฟอะไรที่จะสามารถเกิดความยั่งยืนได้ ถ้าไปผนวกกับที่ผมบอกว่าเอาคนตกงานจากสถานการณ์โควิดมาสนุบสนุนมันจะลงล็อกพอดี” 

หากสรุปว่าเงินกู้ 7แสนล้านบาท นั้นมาถูกทางหรือไม่ ดร.นณริฏ กล่าวว่า ต้องดูว่าเอาเงินไปทำอะไรบ้าง สิ่งสำคัญคือต้องเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ไม่ใช่การวิ่งไล่คนติดเชื้อ เพราะจำนวนผู้ป่วยแพร่เป็นวงกว้าง รวมทั้งเรื่องการเยียวยาต้องทำให้ถึงคนรากหญ้า คนหาเช้ากินค่ำ แรงงานนอกระบบ ธุรกิจขนาดเล็ก ไม่ใช่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจขนาดใหญ่ 

TDRI​ แนะ“เยียวยาโควิด” กู้เพิ่ม 7 แสนล้าน ใช้เงินยังไงให้เข้าเป้า

“ท้ายที่สุดอยากเห็นการฟื้นฟูที่ไม่ใช่แค่การสร้างรั้ว ขุดลอกคูคลองที่ไม่ได้สร้างเงินหรือแหล่งทำเงินใหม่ๆ ที่สร้างเงินได้อย่างมหาศาลของไทย”  ดร.นณริฏทิ้งท้าย
 

ที่มา :

ข่าวที่เกี่ยวข้อง