กต.ชี้แจง ต่างชาติในไทยก็มีสิทธิได้รับวัคซีนเช่นกัน

07 พ.ค. 2564 | 16:06 น.

กต.ชี้แจงการจัดสรรวัคซีนให้ชาวต่างชาติในไทย เพราะรัฐมีนโยบายฉีดวัคซีนให้คนทุกกลุ่มโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ แต่เนื่องจากปริมาณวัคซีนมีจำกัด ช่วงต้นจะเน้นผู้มีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน หลังจากได้วัคซีนเพิ่มก็จะขยายขอบเขตให้ชาวต่างชาติในไทย รวมถึงทูตานุทูตและจนท. องค์การระหว่างประเทศ

7 พ.ค. 2564 ที่ กระทรวงการต่างประเทศ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวประจำสัปดาห์ ชี้แจงแนวทาง การฉีดวัคซีนให้กับคนต่างชาติในประเทศไทย ว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะฉีดวัคซีนให้ทุกกลุ่ม โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสัญชาติ แต่เนื่องจากปริมาณวัคซีนในช่วงต้นมีจำนวนจำกัด จึงมีความจำเป็นต้องจัดสรรวัคซีนให้กับผู้ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก่อนเพื่อป้องกันการเสียชีวิตและปกป้องระบบสาธารณสุข ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง 7 โรค ผู้อยู่ในพื้นที่ระบาด ผู้ที่อยู่บริเวณชายแดน และชาวต่างชาติที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.)

ธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ

 อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย.นี้แล้ว ก็จะขยายการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนทั่วไป รวมถึงคณะทูตและองค์การระหว่างประเทศ โดยจะพิจารณาข้อบ่งชี้เรื่องสุขภาพและความสมัครใจเป็นหลัก

สำหรับ แอปพลิเคชั่น "หมอพร้อม" ขณะนี้ยังไม่รองรับการลงทะเบียนของชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องการลงทะเบียนของชาวต่างชาติในรูปแบบต่างๆ

รู้ไว้ก่อนไปทัวร์ฉีดวัคซีนในสหรัฐ

ส่วนกรณีมีการเชิญชวนคนไทยให้เดินทางไปท่องเที่ยวและฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น นายธานี กล่าวว่า ในภาพรวมทุกมลรัฐของสหรัฐ จะจัดสรรวัคซีนให้กับผู้ที่มีถิ่นพำนักในสหรัฐที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน และส่วนใหญ่จะจัดสรรวัคซีนให้แก่ผู้ที่ไม่มีถิ่นพำนักที่ไปทำงานหรือศึกษาอยู่ในมลรัฐนั้น และบางมลรัฐก็จัดสรรวัคซีนให้แก่ผู้ที่ไม่มีถิ่นพำนักที่ไปทำงานหรือศึกษาอยู่ในมลรัฐนั้น แต่ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าอนุญาตให้ครอบคลุมนักท่องเที่ยวด้วย ยกเว้นรัฐอลาสก้า

"การจัดสรรวัคซีนขึ้นอยู่กับอำนาจของแต่ละมลรัฐ ซึ่งในทางปฏิบัติต้องมีการแสดงหลักฐานว่าทำงานหรือศึกษาอยู่ในมลรัฐนั้น ๆ" นายธานีกล่าว พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

ขณะนี้ ผู้บริหารบางมลรัฐ เช่น ฟลอริดา และอลาบามา ได้ออกมาตรการป้องกัน โดยจะจัดสรรวัคซีนให้เฉพาะผู้ที่มีถิ่นพำนักในมลรัฐเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารแต่ละมลรัฐจะสามารถปรับเปลี่ยนมาตรการได้ตามความเหมาะสมอย่างรวดเร็วตามสถานการณ์

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทั้ง 3 แห่งในสหรัฐ คือ ชิคาโก ลอสแอนเจลิส และนิวยอร์ค ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการฉีดวัคซีนให้กับชาวต่างชาติแล้ว ซึ่งได้รับรายงานว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะขอดูหลักฐานการพำนัก การทำงาน หรือการศึกษา เพื่อพิจารณาว่าเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่ และอาจปฏิเสธหากไม่สามารถแสดงหลักฐานตามที่ร้องขอได้

 “กระทรวงการต่างประเทศขอให้ประชาชนใช้ดุลพินิจศึกษาข้อมูลในเรื่องดังกล่าวก่อน ซึ่งในความเป็นจริงวัคซีนที่ใช้ในสหรัฐก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่นำมาใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนมีโอกาสเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ได้เช่นกัน ซึ่งอาจทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าว

ศึกษาให้ดีก่อนเดินทางไปยุโรป

สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปยังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขอให้ตระหนักว่า แต่ละประเทศจะมีมาตรการด้านสาธารณสุขของตนเอง ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศ จึงแนะนำให้ผู้ที่จะเดินทางไป ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนออกเดินทางเสมอ และปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เช่น การกักตัวโดยสมัครใจ ณ ที่พัก การตรวจหาเชื้อตามระยะเวลาที่กำหนด การรักษาระยะห่าง และการสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น

"ยังไม่มีการกำหนดให้เรื่องการฉีดวัคซีนเป็นเงื่อนไขในการเดินทางเข้าอียู โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ดังนั้น ผู้เดินทางจึงควรติดตามข้อมูลของประเทศที่จะเดินทางไปอย่างใกล้ชิด" นายธานีกล่าว

ปัจจุบัน มี 11 ประเทศในยุโรปที่นักเดินทางต่างชาติสามารถเดินทางไปได้โดยไม่มีข้อจำกัด ได้แก่ อิตาลี เยอรมนี โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ก ลักเซมเบิร์ก เอสโตเนีย สวีเดน ฟินแลนด์ กรีซ เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์

ส่วนอีก 16 ประเทศ มีข้อกำหนดและจำกัดวัตถุประสงค์ในการเดินทางเข้าประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ เดนมาร์ก ลัตเวีย สโลวีเนีย สโลวาเกีย โปแลนด์ บัลแกเรีย ฮังการี ลิทัวเนีย โรมาเนีย ออสเตรีย ไซปรัส มอลตา โปรตุเกส และสเปน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง