“ดร.กนก”แนะ“ตรีนุช”ถอดบทเรียน 4 ข้อ เลื่อนเปิดเทอม

02 พ.ค. 2564 | 16:05 น.
7.8 k

“ดร.กนก”แนะ“ตรีนุช”ถอดบทเรียน 4 ข้อ เลื่อนเปิดเทอม “ทำการเรียนสะดุด-นร.ไม่มีกิน-พ่อแม่ไม่พร้อม-เด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา” ชง 3 ทางแก้ เร่งการเรียนการสอนดิจิทัลในทุกสถานที่ -สร้างศก.สมดุล อิ่มท้อง พร้อมเรียน - ปรับทัศนคติ ขรก.ศธ.ให้ปลายทางผลประโยชน์อยู่ที่ นร.

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเลื่อนเปิดภาคเรียนจากพิษโควิด-19 ไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน ส่งผลต่อนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมทั่วประเทศหลายล้านคน ว่า  มีสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้องถอดบทเรียนจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเลื่อนเปิดภาคเรียนในปีที่แล้ว 4 เรื่องคือ  

1. การเรียนของนักเรียนสะดุด โดยเฉพาะกับนักเรียนด้อยโอกาส นักเรียนชายขอบ ที่จะส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีมากอยู่แล้ว ให้มีมากขึ้นไปอีก 

2. การขาดอาหาร นักเรียนจำนวนมากโดยเฉพาะในชนบทและชุมชนแออัดในเมืองที่อาศัยอาหาร จากโรงเรียนเพื่อการยังชีพ โดยเฉพาะอาหารกลางวัน การไม่ได้ไปโรงเรียนหมายถึงการไม่มีข้าวกิน 

3. ความไม่พร้อมของพ่อแม่ที่จะช่วยจัดการเรียนการสอนและดูแลลูกที่อยู่บ้าน ไม่ได้ไปโรงเรียน   พ่อแม่ต้องทำงานหารายได้ และยังไม่มีความรู้ที่จะสนับสนุนการเรียนรู้ของลูกที่บ้านได้ แม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่ ไม่สามารถอยู่บ้านดูแลลูกที่บ้านได้ 

และ 4. การไม่อยากกลับไปเรียนอีกแล้ว การหยุดเรียนนานและต่อเนื่องทำลายความสนใจของนักเรียน ที่จะเรียนรู้จนถึงเวลาว่างที่บ้านที่ไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครองดูแล ผลักให้นักเรียนไปเกี่ยวข้องกับความรุนแรง ยาเสพติด การมั่วสุมเกมส์ เป็นต้น ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ขวางทางไม่ให้นักเรียนกลับเข้าห้องเรียนเมื่อเปิดเรียนอีกครั้ง

 

รองหัวหน้าพรรประชาธิปัตย์ ยังเสนอแนวทางแก้ไข 3 ข้อคือ 

1. การเรียนรู้บนฐานดิจิทัล (Digital Learning) ทั้งครู นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง ด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้ ที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ ทุกสถานที่ ทุกเวลา และทุกสภาพแวดล้อม 

2. ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบตรงต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีความสมดุลและเป็นธรรมมากขึ้น จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอีกด้วยนักเรียนที่อยากไปโรงเรียนเพราะที่โรงเรียนมีข้าวกินจะต้องหมดไป ความรุนแรงและล่วงละเมิดทางเพศ ต่อนักเรียนจะลดลง 

3. ความคิด ทัศนคติ และระบบการบริหารของกระทรวงศึกษาธิการโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องปฏิรูปโดยเร็ว จากนักเรียนคือคนสุดท้ายที่จะต้องได้รับประโยชน์จากการทำงาน ให้นักเรียนคือคนแรกที่ได้รับประโยชน์จากการทำงานของสพฐ.

“เมื่อปีที่แล้วที่เลื่อนเปิดภาคเรียน กระทรวงศึกษาธิการมีรัฐมนตรีชื่อ ณัฐพล ทีปสุวรรณ และปีนี้ที่เลื่อนเปิดภาคเรียนมีรัฐมนตรีชื่อ ตรีนุช เทียนทอง ผมหวังว่ารัฐมนตรีเปลี่ยน น่าจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาที่เปลี่ยนบ้างนะครับ” ศ.ดร.กนก ระบุ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :