พบ"มดยักษ์ปักษ์ใต้"ที่เขาคอหงส์หาดใหญ่

01 พ.ค. 2564 | 15:26 น.
3.7 k

    นักวิจัย ม.สงขลานครินทร์ สำรวจพบ “มดยักษ์ปักษ์ใต้" หรือมดไม้ยักษ์” บริเวณเขาคอหงส์ เมืองหาดใหญ่ ชี้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์เป็นบ้านของมดประจำถิ่น

นักวิจัย ม.สงขลานครินทร์ สำรวจพบ “มดยักษ์ปักษ์ใต้" หรือมดไม้ยักษ์” บริเวณเขาคอหงส์ เมืองหาดใหญ่ ชี้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์เป็นบ้านของมดประจำถิ่น
  ดร.อับดุลเลาะ ซาเมาะ นักวิจัยม.สงขลานครินทร์    

ดร.อับดุลเลาะ ซาเมาะ นักวิจัย ประจำพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารีฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มดตะลานยักษ์ปักษ์ใต้ หรือมดไม้ยักษ์ มีชื่อสามัญ : The Giant Forest Ant, และมีชื่อวิทยาศาสตร์ : Dinomyrmex gigas Latreille, 1802 เป็นมดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (ประมาณ 20.9 มิลลิเมตร สำหรับวรรณะงาน และ 28.1 มิลลิเมตร สำหรับวรรณะทหาร) และจัดเป็นมดประจำถิ่น (native) ของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ มีเขตกระจายพันธุ์ในหลายประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ ในประเทศไทยพบแพร่กระจายเฉพาะในภาคใต้เท่านั้น ตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไปจนถึงสุดคาบสมุทรมลายู 
    

มดยักษ์ปักษ์ใต้ ลำตัวมีเอกลักษณ์เฉพาะ ส่วนหัวและส่วนอกมีสีดำ ในขณะที่บริเวณส่วนท้องมีสีน้ำตาลอมแดง มีเอว 1 ปล้องสังเกตเห็นได้ชัด มดงานมีขนาดและรูปร่างหลายรูปแบบ (polymorphism) มดชนิดนี้มีความว่องไวเป็นพิเศษในเวลากลางคืน (nocturnal insect) จะบริโภคอาหารหลากหลายรูปแบบ เช่น น้ำหวาน แมลงขนาดเล็ก มูลเหลวของนก เป็นต้น พบมากตามบริเวณพื้นป่าจนถึงระดับไม้เรือนยอดในพื้นที่มีความชื้นค่อนข้างสูงและมีการรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ต่ำ 
    

จากการศึกษาของ Pfeiffer และ Linsenmair ในปี ค.ศ. 2001 ได้รายงานเพิ่มเติมว่า มดไม้ยักษ์จะมีพฤติกรรมครอบครองอาณาเขต และแก่งแย่งแข่งขันระหว่างชนิดและภายในชนิด และที่น่าทึ่งกว่านี้มดไม้ยักษ์สามารถยกวัตถุหรืออาหารที่หนักกว่าน้ำหนักตัวมันเองถึง 50 เท่า
    

ดร.อับดุลเลาะ กล่าวต่ออีกว่า บริเวณพื้นที่เขาคอหงส์ เป็นเขาลูกโดดและป่ารุ่นสองที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจ นักวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้สำรวจพบมดยักษ์ปักษ์ใต้ขนาดใหญ่ในพื้นที่ป่าบริเวณเข้าคอหงส์บ่อยครั้ง แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้เขาคอหงส์จะเป็นผืนป่าขนาดเล็ก ๆ ในเมือง แต่กลับเป็นบ้านหลังใหญ่โตที่อุดมสมบูรณ์ให้กับมดเฉพาะถิ่นชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี

มดยักษ์ปักษ์ใต้ หรือมดไม้ยักษ์ เป็นสัตว์ประจำถิ่นของภาคใต้

พบ\"มดยักษ์ปักษ์ใต้\"ที่เขาคอหงส์หาดใหญ่

“สำหรับพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารีฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา โดยเฉพาะชั้นสองของส่วนจัดแสดง มีการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก และสิ่งชีวิตอีกนานาชนิดที่พบเจอบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย ทั้งนี้ ประมาณกลางเดือนสิงหาคมนี้ ทางพิพิธภัณฑ์จะมีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนเรื่องใหม่ เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตเรืองแสง (Bioluminescent) หากท่านใดสนใจเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าวสามารถเข้ามาชมได้” ดร.อับดุลเลาะ กล่าว
    

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารีฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดให้บริการตั้งแต่วันอังคาร – วันเสาร์ เวลา 9.00-16.00 น. เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ โทร. 0-7428-8067-8 เว็บไซต์ https://nhm.psu.ac.th/ แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทางพิพิธพัณฑ์ฯ ปิดให้บริการในส่วนของนิทรรศการชั่วคราว และจะประกาศวันเปิดให้บริการอีกครั้งภายหลัง

พบ\"มดยักษ์ปักษ์ใต้\"ที่เขาคอหงส์หาดใหญ่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง