“ที่ปรึกษา ศบค.” แจงยิบ 10 ข้อเท็จจริงปมเอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด  

30 เม.ย. 2564 | 11:25 น.
อัปเดตล่าสุด :30 เม.ย. 2564 | 18:27 น.
9.4 k

“ที่ปรึกษา ศบค.” แจงยิบ 10 ข้อเท็จจริงปมเอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด ย้อนไทม์ไลน์ชัด "ที่มา-เหตุผล" พร้อมข้อสรุปจากวงประชุมร่วมภาครัฐ-เอกชน ยืนยัน รัฐบาลไม่เคยสั่งเบรกภาคเอกชนแต่อย่างใด

30 เมษายน 2564 ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กว่า

อธิบายกรณีความเข้าใจผิดเรื่องการนำเข้าวัคซีนของภาคเอกชน

สืบเนื่องจากประกาศของหอการค้าไทย ที่ทำให้เกิดกระแสที่หลายๆคนเข้าใจว่า "รัฐสั่งเบรก" ไม่ให้เอกชนดำเนินการหาวัคซีนมาช่วยเสริม ผมจะขอลองอธิบายที่มาที่ไป และเหตุผลตามที่ผมเข้าใจและมีข้อมูลดังนี้ (ถ้าอยากรู้ต้องอ่านให้จบครับ)

1.เมื่อสักช่วงต้นปี ภาครัฐมีการประกาศแผนการจัดหาวัคซีนของรัฐ โดยมีเป้าหมาย 100 ล้านโดส แต่ยังขาดอยู่ประมาณ 37 ล้านโดส เมื่อภาคเอกชนจึงประชุมปรึกษากันและอาสาที่จะช่วยอีกแรง เพราะคิดว่าอาจจะมีช่องทางในการเจรจาทางธุรกิจที่คล่องตัวกว่า และจะได้วัคซีนยี่ห้ออื่นมาเร็วกว่า

2.เมื่อเอกชนได้ลองติดต่อไปกับผู้ผลิตวัคซีนหลายๆบริษัท ก็พบว่า การซื้อวัคซีนไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนซื้อของทั่วไป เพราะทุกประเทศทั่วโลกต่างแย่งกัน และวัคซีนผลิตได้ไม่พอกับประชากรโลก หากจะได้ ก็คงไปถึงไตรมาสที่ 4 ปลายปีแล้ว ซึ่งคุณสนั่น ประธานหอการค้าเรียกว่า "Too Late" (ดูในคลิปสัมภาษณ์)

3.ถ้าคนที่ติดตามข่าวเรื่องวัคซีน จะรู้ว่าคอขวดมันอยู่ที่เดือน พ.ค. ที่เราพยายามจะหามาให้ได้ เพราะตั้งแต่เดือน มิ.ย. เราก็จะมีวัคซีนของแอสต้าเซเนก้า ที่จะผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เดือนแรก 6 ล้าน เดือนต่อ ๆ ไปเดือนละ 10 ล้าน จะไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนวัคซีน จะมีปัญหาเรื่องการฉีดมากกว่า เพราะฉะนั้น การจะได้มาในไตรมาสที่ 3 หรือ 4 ก็สายเกินไป และเป็นการซ้ำซ้อน มาก็ไม่ได้ฉีด ซึงอันนี้พูดถึงแค่เรื่องการซื้อนะครับ ยังไม่ถึงขั้นตอนการขออนุมัติ การขึ้นทะเบียนอะไรต่างๆนาๆ ที่มีคนชอบมโนไปด่ารัฐว่า รัฐถ่วงเวลาวัคซีนของเอกชน แกล้งขึ้นทะเบียนช้า อันนี้คืองงจริงอะไรจริง คือเค้ายังซื้อไม่ได้เลยครับ!

4.ดังนั้น เมื่อภาคเอกชนได้เข้าประชุมกับนายก ในวันที่ 28 เม.ย. และได้พูดคุยถึงสถานการณ์ดังกล่าว นายกในฐานะตัวแทนฝ่ายรัฐ จึงได้บอกว่าไม่เป็นไร ไม่ต้องกังวล ขอให้มั่นใจว่า ทางรัฐได้พยายามหาซื้อวัคซีนทางเลือกอื่นๆเพิ่มเติม และประสบผลสำเร็จกับหลายแห่ง เช่นได้ของ Sinovac, Sputnik, Johnson & Johnson, Pfizer และมีโอกาสจะได้จากที่อื่นอีก เช่น Moderna, Sinopharm, Bharat และอื่นๆ ที่เชื่อว่าน่าจะได้มากจนครบ 37 ล้านโดสที่เหลือ (และต่อๆไป ก็มีแนวโน้มว่าจะซื้อได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม) ซึ่งความได้เปรียบของรัฐในการเจรจาก็คือ การเป็นตัวแทนของประเทศ แต่สำหรับภาคเอกชน ผู้ขายต้องพิจารณารอบคอบ และไม่ค่อยอยากขายให้ เพราะกลัวถูกฟ้องร้องกรณีเกิดผลข้างเคียง ซึ่งรัฐต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะอย่าลืมว่า นี่เป็นการขายใน "กรณีฉุกเฉิน" นะครับ ไม่ใช่การซื้อขายทั่วไปตามปกติ

5.เมื่อฝ่ายเอกชน ทั้งหอการค้าไทย (ประชุมช่วงเช้า) และ กกร. (ประชุมช่วงบ่าย) ได้ฟังคำสัญญาและคำอธิบายจากฝ่ายรัฐ ก็เกิดความมั่นใจว่ารัฐจะหาวัคซีนมาได้เพียงพอตามแผน ประกอบกับที่ตัวเองก็หาซื้อไม่ได้ จึง "ยินดี" ให้รัฐเป็นหลักในการดำเนินการจัดหาวัคซีน และฝ่ายเอกชนจะช่วยเสริมในส่วนที่ทำได้ และเสนอตัวที่จะช่วยรัฐในด้านอื่นๆด้วย โดยเฉพาะด้านการจัดสถานที่ฉีดวัคซีน และการช่วยประชาสัมพันธ์

6.แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ภาคเอกชนจะหยุดการจัดหาวัคซีน หอการค้าไทยก็ไม่ได้หยุดการเจรจาที่ดำเนินการไปแล้ว และมีบางสมาคม เช่น สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ก็ยังดำเนินการต่อ และเชื่อว่าต่อไปหากสถานการณ์เริ่มมีวัคซีนเหลือ ภาคเอกชนก็สามารถเจรจาได้ง่ายขึ้น ก็อาจดำเนินการช่วยรัฐจัดหาวัคซีนเพิ่มก็ได้ (แต่ก็ต้องผ่านการอนุมัติ ลงทะเบียนกับรัฐ)

7.ในเย็นวันที่ 28 เม.ย. หอการค้าออกประกาศ โดยมีข้อความว่า “รัฐบาลแจ้งว่า ปริมาณวัคซีนที่ภาครัฐจัดหามานั้น มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทุกคน พร้อมเร่งดำเนินการในการนำเข้าวัคซีน ซึ่งกำลังทยอยมาเป็นลำดับ ดังนั้น ภาคเอกชนจึงไม่จำเป็นต้องมีการจัดหามาเพิ่มเติม และจะได้ไม่เป็นภาระในเรื่องค่าใช้จ่าย” (รูปที่ 1) ซึ่งคนที่ไม่เข้าใจ ไม่มีข้อมูลเรื่องการจัดหาวัคซีน คิดว่า มีเงินก็ซื้อได้ หรือเชื่ออยู่เดิมว่ารัฐกีดกัน เมื่อได้อ่านประกาศนี้ จึงเหมาเอาว่า “รัฐสั่งเบรกเอกชน” ไม่ให้สั่งซื้อวัคซีนเอง (โดยเหตุผลที่ยกมาคงจะเป็นข้ออ้าง) และพาลไปพูดว่า ไม่โปร่งใส มีเงินทอน ต่าง ๆ นา ๆ

8.คนที่ติดตามข่าวและฟังการแถลงผลการประชุมกับหอการค้าและกกร. ต่างรู้สึกประหลาดใจกับประกาศนี้ เพราะไม่ได้เป็นเนื้อหาในการประชุม ที่เน้นไปที่การสร้างความร่วมมือ และการสร้างความมั่นใจในการจัดหาวัคซีน และผลการเจรจาออกมาเป็นอย่างดี ต่างฝ่ายต่างเข้าใจ มีการจะตั้งทีมขึ้นมาร่วมทำงานด้านวัคซีนด้วยกัน และตัวแทนภาคเอกชนก็แสดงความมั่นใจในแผนของรัฐว่า จะได้ครบ 100 ล้านโดส และในข่าวทั้งที่แถลงและข่าวของเพจหอการค้าไทย ก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งต่อมา ประกาศนี้ถูกลบออกไปจากเพจของหอการค้าไทย (แต่ยังอยู่ในเว็บไซต์)

ส่วนตัวผมเข้าใจว่า การออกประกาศนี้ น่าจะเป็นการตอบคำถามต่อผู้ที่ทวงถามทางหอการค้าว่า ตกลงที่ประกาศว่า จะหาวัคซีนเพิ่ม และให้บริษัทต่างๆแจ้งความประสงค์เข้ามา ผลเป็นอย่างไรบ้าง มีความคืบหน้าอย่างไร เมื่อไหร่จะได้ เลยต้องประกาศแจ้งให้ทราบ โดยตัดเหตุผลที่ว่า ยังหาซื้อไม่ได้ออกไป ซึ่งหอการค้าก็มีสิทธิที่จะแจ้ง เพียงแต่ Timing ที่ออกมาหลังการเจรจากับนายก โดยพูดเรื่องนี้เรื่องเดียว แต่ไม่พูดเรื่องความร่วมมืออื่นๆ มันไม่น่าจะเหมาะสม และ wording ที่ใช้ก็ทำให้คนเกิดความสับสน

9.ในวันต่อมา คือวันที่ 29 เม.ย. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็ได้ออกสารเพื่อแจ้งว่า รัฐบาลจะจัดหาวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสได้ และจะมีวัคซีนเพิ่มในเดือน พ.ค. และย้ำว่า “รัฐบาลเปิดกว้างให้เอกชนนำเข้าวัคซีนมาได้ภายใต้กฎเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข”

10.ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ภาครัฐไม่มีการ "สั่งเบรก" และไม่เคย "สั่งเบรก" ไม่ได้ปฏิเสธ ไม่ได้ปิดกั้น (ไม่รู้จะย้ำอีกซักอีกครั้งดี) ภาคเอกชนใดๆทั้งสิ้น ใครดำเนินการก็ดำเนินการไป แต่รัฐบาลก็มีแผนที่แน่นอนและมั่นใจในการจัดหาวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดส คุณสนั่น ประธานหอการค้าไทย ยังให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้ “ต้องยุติธรรมกับรัฐบาล” ที่มีความ “ตั้งใจดี” และ “กระตือรือร้น” ในการจัดหาวัคซีน (ดูในคลิปสัมภาษณ์)

แม้แต่ YouTube ของ The Standard ที่คุณเคนที่เป็นผู้สัมภาษณ์เอง และสรุปเองจากคำสัมภาษณ์ว่า รัฐไม่ได้สั่งเบรก หอการค้าถอยออกมาเอง ก็ยังพาดหัวว่า "รัฐสั่งเบรก" แต่ในเว็บข่าวของ The Standard ในข่าวเดียวกัน กลับพาดหัวไปคนละทาง แบบนี้ประชาชนจะไม่สับสนได้ยังไงครับ

ขอบคุณที่อ่านจบ (และก็จบเหอะนะ เรื่องนี้) และหากให้ดีก็ช่วยกรุณาแชร์หรืออธิบายให้กับผู้ที่เข้าใจผิดด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง