เมื่อฉันเป็นมนุษย์เงินทอน

30 มี.ค. 2564 | 13:48 น.

มนุษย์เงินเดือน ในแต่ละเดือนสามารถคาดหวังรายได้ในอนาคตได้ชัดเจนและแน่นอน เพราะได้รับเงินเดือนเป็นประจำ แต่ในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้รู้ว่าสิ่งที่แน่นอนนั้นกลับกลายเป็นไม่แน่นอน

มนุษย์เงินเดือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพนักงานออฟฟิศ มีพฤติกรรมการใช้เงินคล้ายๆ กัน คือ สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ เงินเดือนที่ได้รับไม่พอใช้ต้องกดเงินสดจากบัตรประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบัตรกดเงินสด บัตรเครดิต เนื่องจากการรับรู้รายได้เป็นรายเดือน ในแต่ละเดือนสามารถคาดหวังรายได้ในอนาคตได้ชัดเจนและแน่นอน เพราะได้รับเงินเดือนเป็นประจำ ทำให้คิดว่าอย่างไรก็ตามสิ้นเดือนเงินเดือนก็ออกนำมาจ่ายคืนบัตรต่างๆ ได้อย่างแน่นอน

แต่ในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าสิ่งที่แน่นอนนั้นกลับกลายเป็นไม่แน่นอน มนุษย์เงินเดือนเป็นผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตามแต่ละอุตสาหกรรม สิ่งที่เป็นผลกระทบจากโรคระบาดส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและเฉียบพลันเมื่อเกิดการ Lockdown ทำให้เกิดการหยุดชะงักของธุรกิจ บางธุรกิจปิดกิจการ สิ่งที่เป็นผลกระทบที่ตามมาต่อจากสถานะทางการเงินของครอบครัว คือ เรื่องของรายได้และภาระหนี้สิน

จากข้อมูลของ Economic Intelligence Center (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ หนี้สินต่อครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 363,150 บาท/ปี หรือเฉลี่ยหนี้สินเดือนละ 30,262.50 บาท หากแยกประเภทหนี้สินลงไปจากการข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) จะพบว่า 34% เป็นหนี้สินที่เกิดจากการอุปโภคบริโภคจากสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

หากมองจากมุมของ Life Cycle Theory พบว่า คนเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น มักก่อหนี้เพิ่มขึ้นไปด้วย เมื่อเราเริ่มทำงานเราก็เริ่มเป็นหนี้เร็วขึ้นโดยวัยที่อายุน้อยกว่า 25 ปี จะเริ่มจากสินเชื่อส่วนบุคคลก่อนและตามมาด้วยสินเชื่อบัตรเครดิต และหนี้จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงวัยกลางคนจากสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบ้านและจะลดลงเมื่อเข้าใกล้เกษียณ นั่นหมายถึงเราจะเป็นหนี้ครอบคลุมทั้งชีวิตในช่วงการทำงานของเรา เพียงแต่เปลี่ยนการก่อหนี้ไปในรูปแบบต่างๆ นั่นส่งผลทำให้เรารู้ว่าหากเราไม่ได้ตระหนักและรู้เท่าทัน จะกลายเป็นว่าเมื่อเกษียณเราจะมีเงินเก็บไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณนั้น กลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตที่เรายังไปไม่ถึงจุดนั้น

จากผลกระทบของ COVID-19 ส่งผลต่อความเสี่ยงที่บุคคลจะผิดนัดชำระและส่งผลให้ท้ายที่สุดกลายเป็นหนี้เสีย หากลองถามว่า COVID-19 ได้ให้บทเรียนอะไรทางการเงินกับเราบ้าง สิ่งหนึ่งที่ลองกลับมาพิจารณา คือ วินัยทางการเงินเพื่อการอยู่รอดทางการเงินในอนาคตอันใกล้ รวมถึงแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุในระยะยาว ดังนั้น เราควรจัดการเงินเดือนที่ได้เราได้รับมาเป็น 3 ส่วนดังนี้

 

เมื่อฉันเป็นมนุษย์เงินทอน

1. เงินใช้จ่าย 70%

เงินส่วนนี้ใช้กับการอุปโภคบริโภคต่างๆ ในชีวิตประจำวัน หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ของมันต้องมีนั่นเป็นการบ่งบอกว่าเรากำลังกลายเป็นนักบริโภคนิยม บางครั้งซื้อมาทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าได้ใช้ตอนไหนเพียงแค่ลดราคาหรือคนอื่นเขามีเราก็ต้องมี เงินส่วนนี้ยังรวมถึงสิ่งที่จำเป็น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมันรถ ค่าอาหาร เป็นต้น

2. เงินออม 20%

เงินส่วนที่ต้องใช้เพื่อออม สำหรับแผนการเงินในระยะสั้น เช่น การฝึกอาชีพที่เราชอบหรือเพื่อแผนการเกษียณในระยะยาว การออมและลงทุนในส่วนนี้สำคัญไม่น้อยเนื่องจากมันจะส่งผลกระทบในระยาวหากเราต้องการเปลี่ยนอาชีพหรือออกจากงาน ซึ่งเราสามารถใช้เครื่องมือประเภทต่างๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ กองทุนตราสารประเภทต่างๆ กองทุน กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน RMF กองทุน SSF หรือประกันชีวิต เป็นต้น มาใช้ในการบริหารจัดการเพื่อรับผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ด้วย

 3. เงินฉุกเฉิน 10%

เป็นเงินที่กันไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน หากในชีวิตไม่มีเรื่องที่ฉุกเฉินให้ต้องเสียเงิน ชีวิตคงดีไม่น้อย แต่หากไม่ใช่อย่างนั้น การกันเงินไว้เพียงเล็กน้อยแค่ 10% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ไว้เพื่อป้องกันเงินส่วนใหญ่ก็เป็นทางเลือกที่ดี เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เครื่องมือที่ใช้ เช่น ประกันสุขภาพ เงินฝากบัญชีออมทรัพย์ กองทุนตลาดเงินหรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เป็นต้น

หากเราได้จัดการทางการเงินได้เป็นอย่างดีแล้ว ไม่ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร เราก็จะสามารถผ่านมันไปได้ จะได้ไม่ต้องเป็นมนุษย์เงินทอนที่มีเงินเหลือเพื่อตัวเองเพียงน้อยนิดแล้วก็ต้องใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต จนไม่สามารถหลุดจากวงจรนั้นได้เลย

โดย :  ศุภชัย จันไพบูลย์ นักวางแผนการเงิน CFP®   สมาคมนักวางแผนการเงินไทย www.tfpa.or.th