อีสานเหนือเฮ กรมชลฯลุยเฟส2ทำแผนหลักพัฒนาห้วยหลวงบน-กลาง

26 มี.ค. 2564 | 12:30 น.
946

    กรมชลประทานจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ศึกษาทำแผนหลักพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง ต่อเนื่องจากตอนล่างที่เริ่มลงมือก่อสร้างแล้ว เพื่อสร้าง ความยั่งยืน มั่นคง แก้ครบวงจรทั้งน้ำท่วม-ภัยแล้ง

กรมชลประทานจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ศึกษาทำแผนหลักพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-กลาง ต่อเนื่องจากตอนล่างที่เริ่มลงมือก่อสร้างแล้ว เพื่อความยั่งยืน มั่นคง แก้ครบวงจรทั้งน้ำท่วม-ภัยแล้งทั้งลุ่มน้ำอีสานเหนือ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองอุดรธานี  ว่าที่ ร.ต.พงษ์สิทธิ์ เปรยะโพธิเดชะ  ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองอุดรธานี  เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 อุดรธานี โครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง  ซึ่งเป็นการประชุม 1 ใน 3 อำเภอ/พื้นที่ ประกอบด้วย อ.เมืองอุดรธานี อ.หนองวัวซอ และ อ.กุดจับ มีมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในโครงการ ประชาชนที่ให้ความนใจ  อาทิ นายวิเชียร  ขาวขำ  นายก  อบจ.อุดรานี  เข้าร่วมรับฟังการประชุมและแสดงความคิดเห็น เสนอข้อแนะนำปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ สอบถามการดำเนินการของโครงการดังกล่าวอย่างคึกคัก
  นายวุฒินนท์ คำเดช ผู้จัดการโครงการ            

นายวุฒินนท์ คำเดช ผู้จัดการโครงการ  เปิดเผยว่า สำหรับลุ่มห้วยหลวง มีการแบ่งออกเป็นลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ตอนกลางและตอนบน เป็นลุ่มน้ำที่มีความสำคัญมากสำหรับ 5 จังหวัดของภาคอีสานตอนบน คือ  อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย และบึงกาฬ  ที่ผ่านมารัฐบาลโดยกรมชลประทานได้เล็งเห็นถึงปัญหา  มีการวางแผนแก้ไขบรรเทาปัญหาของลุ่มน้ำห้วยหลวงอย่างเป็นระบบ  เนื่องจากสภาพพื้นที้และระบบลำน้ำ มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน และระบบลุ่มน้ำหลัก  จำเป็นที่ต้องใช้ระบบบริหารจัดการ ที่สามารถบูณาการทั้งปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่ดำเนินการ 
                 

ที่ผ่านมากรมชลประทานได้มีการดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และวางแผนการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในจังหวัดอุดรธานีบางส่วน หนองคายและบึงกาฬ แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยในปี พ.ศ. 2558  มีการตั้งงบประมาณกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท สำหรับการพัฒนาโครงการต่าง ๆ  และมีการพัฒนาปรับปรุงก่อสร้างโครงการต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว   อาทิเช่น  การก่อสร้างสถานีสูบน้ำแดนเมือง  ที่ปากลำห้วยหลวง-แม่น้ำโขง จ.บึงกาฬ ประตูระบายน้ำ(ปตร.)ตามลำห้วยห้วยหลวง 12 แห่ง ที่เสร็จแล้ว เช่นที่ ปตร.บ้านสามพร้าว อ.เมืองอุดรธานี หรือปตร.บ้านดอนกลอย อ.หนองหาน ฯลฯ 
ว่าที่ ร.ต.พงษ์สิทธิ์ เปรยะโพธิเดชะ  ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองอุดรธานี  ซักถามรายละเอียดโครงการฯจากทีมที่ปรึกษา               

พื้นที่ศึกษาโครงการ

ในการประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561  และการประชุม กรอ. เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในครั้งนั้น   พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา  นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการเร่งด่วน ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ทำการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง  เพื่อให้การพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสอดคล้องทั้งลุ่มน้ำ โดยมีพื้นที่ศึกษาในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองบัวลำภูบางส่วน เฉพาะอำเภอเมืองหนองบัวภู รวม 6 อำเภอ 45 ตำบล เป็นระยะเวลา  540 วัน  ตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.2563 ถึงวันที่  2 ธ.ค.2564 
    

ขอบเขตพื้นที่ที่จะทำการศึกษา ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำห้วยหลวง ในพื้นที่อำเภอหนองวัวซอ  ไปจนถึงบริเวณประตูระบายน้ำบ้านสามพร้าว  รวมถึงพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง และพื้นที่สำหรับการพัฒนาโครงการเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการพัฒนา และพื้นที่อื่น ๆ เป็นพื้นที่กว้างประมาณ 1,970 ตาราง ก.ม. ความยาวตามแนวของลำน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง ประมาณ 148 ก.ม. 
           

นายวุฒินนท์กล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์โครงการเพื่อศึกษาแผนหลักการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย  เพื่อกำหนดแนวทางแผนการพัฒนาแหล่งน้ำที่ให้ประสิทธิผลที่ดี ในการบรรเทาปัญฆาขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรกรรม รวมถึงระบบการกระจายน้ำในพื้นที่โครงการ มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศท้ายน้ำ โดยต้องนำผลการศึกษาห้วยหลวงตอนล่างมาประกอบการพิจารณาด้วย 
               

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ต้องศึกษาความเหมาะสมของโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ที่มีความสำคัญเร่งด่วน  ซึ่งมุ่งเน้นบรรเทาปัญหาอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำ     การพัฒนาลุ่มน้ำและพื้นที่ชลประทานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติกการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม  และแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดำเนินการสำรวจเพื่อการออกแบบเบื้องต้น พร้อมทำการประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์  บูรณาการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และประชาชนโดยทั่วไป  เพื่อแสดงให้เห็นว่าการดำเนินโครงการต่าง ๆ มีความมุ่งมั่น ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้แก่ราษฎรอย่างโปร่งใส และสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมของสาธารณชนอย่างจริงจัง 
  ที่ตั้งโครงการ          

พื้นที่โครงการ

ส่วนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการดังกล่าวคือ มีแผนหลักสำหรับการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง ให้เชื่อมโยงสอดคล้องกับการพัฒนาห้วยหลวงตอนล่าง ที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน  เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ  บรรเทาอุทกภัย ภัยแล้งอย่างเป็นระบบแบบบูรณาการ ขับเคลื่อนให้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 20 ปี มีรายงานการศึกษาความเหมาะสม และรายงานการประเมินแผนกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนอย่างน้อย 2 โครงการ เพื่อดำเนินอกแบบรายละเอียดและพัฒนาต่อไป  และเพื่อให้มีการพัฒนาปรับปรุงโครงการตามแผนหลัก การพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง  เพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำที่ยั่งยืนและบูรณาการ   กระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมสู่ชุมชนและประชาคมในพื้นที่ บนความยั่งยืนของทรัพยากรด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ  
             

“สภาพปัญหาหลัก ๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลางเวลานี้ มีเกือบทุกด้าน เช่น ปัญหาด้านกายภาพของลุ่มน้ำ  ปัญหาทรัพยากรดิน  ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่เป็นสาเหตุส่งผลกระทบต่ออาชีพ และรายได้ของประชาชน  ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างรายได้ของในเขตเมือง ที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ  และในเขตชนบทที่เป็นพื้นที่การเกษตร โยเฉพาะในพื้นที่เกษตรน้ำฝน ที่มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าเกณฑ์  หรือด้านสังคม ในฤดูฝนก็ไม่สามารถเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ได้พอเพียง มีอุทกภัยน้ำท่วม  ในฤดูแล้งก็มีภัยแล้ง จึงมีความจำเป็นต้องเร่งศึกษา วางแผนการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงและอื่น ๆ แบบบูรณาการ” นายวุฒินนท์ฯกล่าว
    

โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการนี้ มีบริษัท พี แอนด์ ซี แมนเจเมนท์ จำกัด และ บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และจะจัดประชุมในกลุ่มพื้นที่ต่อไป คือ  อ.บ้านผือ อ.ประจักษ์ศิลปาคมบางส่วน และพื้นที่ของ อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู บางส่วน 
นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี และผู้เข้าร่วมประชุม ซักถามข้อสงสัย พร้อมให้ข้อเสนอแนะการออกแบบโครงการ