กลุ่มชาติพันธุ์ลั่น"ปลูกกัญชา"ม้งมีดีไม่แพ้ใคร  

24 มี.ค. 2564 | 17:01 น.
1.1 k

    นักวิชาการตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ย้ำ ชาวม้งใช้ประโยชน์จากกัญชามานับพันปีมีดีไม่แพ้ใคร พร้อมรื้อฟื้นมรดกองค์ความรู้กลับมา เชื่อมั่นจะส่งผลดีให้คนไทยทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม

ดร.บัณฑิต แสงเสรีธรรม นักวิชาการตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ย้ำ ชาวม้งใช้ประโยชน์จากกัญชามานับพันปีมีดีไม่แพ้ใคร พร้อมรื้อฟื้นมรดกองค์ความรู้กลับมาอีกครั้ง เชื่อมั่นจะส่งผลดีให้คนไทยทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม 

ดร.บัณฑิต แสงเสรีธรรม นักวิชาการตัวแทนวิสาหกิจชุมชนสุขภาพชาติพันธุ์ จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์ม้งผูกพันและมีองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชง-กัญชามานับพันปี จนถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต แม้กระทั่้งเมื่อตายไปก็มีความเชื่อว่าต้องมีผ้าจากใยกัญชงกัญชาห่อร่างก่อนนำไปฝัง จึงจะไปสู่สุคติ เมื่อกัญชากลายเป็นยาเสพติดเจ้าหน้าที่รัฐห้ามชนเผ่าปลูกโดยเด็ดขาด แต่เมื่อเป็นวิถีชีวิตของกลุ่มชนเผ่าจึงต้องลักลอบปลูกเพื่อใช้ในพิธีกรรมในวิถีชีวิตของชนเผ่า และรักษาองค์ความรู้เรื่องกัญชาทั้งเรื่องการปลูก ดูแลรักษา จนถึงการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ 

ดร.บัณฑิต แสงเสรีธรรม นักวิชาการตัวแทนวิสาหกิจชุมชนสุขภาพชาติพันธุ์ จังหวัดเชียงราย

"เรามั่นใจว่าองค์ความรู้เรื่องกัญชาของเราไม่เป็นรองใคร แม้กระทั่งของฝรั่งหรืออเมริกาที่ศึกษาวิจัยกันมากก็มีประวัติต่อยอดจากชาวม้ง ตั้งแต่เริ่มรู้จักกัญชาตอนเข้ามาทำสงครามเวียดนาม เมื่อแพ้สงครามเวียดนามต้องถอนฐานทัพออกไป กลุ่มม้งชาวพลวังเปาอพยพเข้ามาอยู่ที่ถ้ำกระบอก หลายคนอพยพไปอยู่อเมริกาและได้นำกัญชาเข้าไปปลูกไปขยายในสหรัฐฯ มีชาวม้งไปเป็นลูกไร่ปลูกกัญชาให้ จนทำให้สหรัฐอเมริกาได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาสารจากกัญชาอย่างเช่นทุกวันนี้"

ดร.บัณฑิตกล่าวอีกว่า ขอบคุณรัฐบาลที่วันนี้เปิดให้กลับมาปลูกกัญชากันได้อีกครั้งหนึ่ง ภายใต้ข้อกำหนดตามกฎหมาย ซึ่งวิสาหกิจชุมชนสุขภาพชาติพันธุ์ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)พระนคร ปลูกกัญชาเพื่อป้อนให้สถาบันการศึกษาไปวิจัยสร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ดั้งเดิม จะช่วยฟื้นฟูทั้งในด้านสุขภาพ เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ เมื่อสุขภาพกายดีสุขภาพเศรษฐกิจดี ส่งผลให้คุณภาพชีวิตและมิติด้านสังคมดีขึ้นไปด้วย

"กลุ่มชาติพันธุ์ม้งเราปลูกมานับพันปี รู้จักกัญชงกัญชาดี รู้วิธีปลูกวิธีดูแลต้องเข้าใจธรรมชาติของกัญชา ที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง กัญชาต้องการน้ำที่เพียงพอ คุณภาพดีและต้องมีออกซิเจนสูง ถ้าให้น้ำดีแต่มีออกซิเจนต่ำก็ไม่เติบโต เอาน้ำบาดาลมารดก็ต้องดูว่ามีออกซิเจนมากพอหรือไม่ การปลูกจึงต้องรู้จักธรรมชาติของกัญชาเหมือนกับดูแลเด็ก"

ในการปลูกให้มทร.พระนครนั้น ดร.บัณฑิตกล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนสุขภาพชาติพันธุ์เชียงรายเตรียมพื้นที่ 300 ไร่ มีรั้วรอบขอบชิดสูงไม่น้อยกว่า 3 เมตรพร้อมลวดหนาม มีกล้องวงจรปิดทุกระยะ 20 เมตร เข้า-ออกผ่านประตูเดียว ก่อนเข้าและออกจากแปลงปลูกต้องผ่านการตรวจสอบ  ปลูกแบบเปิด(เอาท์ดอร์)  โดยแบ่งให้แต่ละครัวเรือนรับแบ่งกันดูแลครอบครัวละ 1 ไร่  ทั้งนี้ จะปลูกสายพันธุ์ไหมทอง-01 ควบคู่กับสายพันธุ์พื้นเมืองของชนเผ่าม้งที่มีอยู่ประมาณ 20 สายพันธุ์ เพื่อใช้ศึกษาเปรียบเทียบกัน 

"กัญชาสามารถปลูกได้ปีละ 2 รอบ ถ้าปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวช่อดอกเพื่อนำไปสกัดสารทางการแพทย์ ก็ปลูกให้ตรงรอบหน้าหนาว ซึ่งเป็นช่วงกัญชาออกดอกดี ถ้าต้องการปลูกเป็นอาหารก็สามารถปลูกได้ทั่วไป   ถ้าปลูกในธรรมชาติ กัญชา 1 ต้นให้ผลผลิต  3 กิโลกรัม แต่ถ้าดูแลดีจะให้ผลผลิตเพิ่มได้ถึง 40 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 15,000 บาท หรือไร่ละ 6 ล้านบาท  จึงเป็นโอกาสอีกครั้งของกลุ่มชาติพันธุ์และเกษตรกรทั่วไป"   

ข่าวที่เกี่ยวข้อง