เทคโนโลยีคนไทยนวัตกรรม UFกรองเชื้อโรคในน้ำดื่ม

16 มี.ค. 2564 | 21:35 น.
671

นาโนเทค จับมือ พันธมิตร ส่งต่อนวัตกรรมกรอง UF ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อบริหารจัดการน้ำ ให้แก่โรงเรียน ตชด. และชุมชนชายขอบ อุดรธานี ช่วยให้คนในพื้นที่เข้าถึงน้ำอุปโภคบริโภคที่สะอาด เพิ่มคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

ดร.จามร เชวงกิจวณิช นักวิจัยจากทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ทีมนาโนเทค ได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เพื่อบริหารจัดการน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค สร้างเป็น “บ้านน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ระบบ UF” ภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เมื่อ พ.ศ. 2561 ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเทพภูเงิน ตำบลน้ำโสม อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้า ขาดการเข้าถึงน้ำอุปโภคบริโภคที่สะอาด และเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำให้ชาวบ้านกังวลกับการปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำผิวดินของชุมชน

จากปัญหา และข้อจำกัด จึงเลือกที่จะนำพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาใช้ ร่วมกับระบบกรองน้ำดื่มที่ใช้พลังงานตํ่า โดยพัฒนาเป็นต้นแบบบ้านน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำหรับน้ำบาดาลที่มีสารละลายในน้ำอยู่น้อย (total dissolved solid < 500 mg/L) โดยการใช้เทคโนโลยีการกรองด้วยอัลตร้าฟิวเตรชั่น (ultrafiltration, UF) ซึ่งเทคโนโลยี UF เป็นเทคโนโลยีการกรองด้วยเมมเบรนละเอียด มีความเหมาะสมในการนำมาผลิตน้ำดื่ม สามารถกรองเชื้อโรคในน้ำได้ดี และสามารถคงแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกายมนุษย์ได้มากกว่าระบบรีเวิร์สออสโมซิส (RO) ขณะที่ใช้พลังงานตํ่าเพียง 1 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) ต่อการผลิตน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่เทคโนโลยี RO เป็นเทคโนโลยีที่ต้องการพลังงานสูงถึง 5-6 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อการผลิตน้ำดื่ม 1 ลูกบาศก์เมตร

บ้านน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ระบบ UF” สำเร็จเรียบร้อยตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2562 ตั้งอยู่ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเทพภูเงิน ตำบลน้ำโสม อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี มีกำลังการผลิต 250 ลิตรต่อชั่วโมง โดยมีการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาลก่อนและหลังกรองด้วยระบบ UF ซึ่ง อ้างอิงตามเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ กรมอนามัย ปี พ.ศ. 2563

นวัตกรรมนี้ นอกจากจะช่วยผลิตน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัย ยังช่วยยกระดับห่วงโซ่อุปทานด้านน้ำในพื้นที่ และลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก ทำให้สามารถเป็นกลไกหนึ่ง ในการขยายการเติบโตของเมืองและชุมชนอย่างยั่งยืนบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,661 วันที่ 14 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2564