มูลนิธิเชฟแคร์ส ผนึกพันธมิตร “สานฝันปั้นเชฟ”

13 มี.ค. 2564 | 10:15 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2564 | 17:06 น.

การให้ “โอกาส” คือ การให้ที่มีคุณค่ามากๆ ซึ่ง “มูลนิธิเชฟแคร์ส” เล็งเห็นและพยายามมอบโอกาส โดยเฉพาะโอกาสในการสร้างอาชีพให้กับน้องๆ เยาวชนที่เคยหลงผิด รวมถึงเยาวชนผู้ด้อยโอกาส ได้กลับมามีโอกาสสร้างชีวิตที่ดีอีกครั้ง โดยการร่วมมือกับ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารเพื่อการพัฒนา (CCDKM) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ดำเนิน โครงการสานฝันปั้นเชฟ (Chef Cares Dream Academy) มอบ “โอกาส” ให้เยาวชนที่เคยหลงผิดและเยาวชนด้อยโอกาส รวม 12 คน

“มาริษา เจียรวนนท์” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเชฟแคร์ส เปิดเผยว่า มูลนิธิเชฟแคร์สซึ่งดำเนินกิจกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ต้องการให้โอกาสกับเยาววชนผู้ด้อยโอกาส โดยเริ่มจากน้องๆ 12 คนที่ได้รับคัดเลือก ได้มีอาชีพที่ดี ซึ่งในโครงการนี้ ได้สมาชิกเชฟแคร์ส อาทิ ชุมพล แจ้งไพร (เชฟชุมพล) และณัฏฐพล ภวไพบูลย์ (เชฟนิค) เชฟระดับแนวหน้าของประเทศ มาให้ความรู้และสอนเทคนิคการปรุงอาหารทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ และยังได้ฝึกงานจริงกับเชฟมืออาชีพ ควบคู่การพัฒนาศักยภาพภายใต้การดูแลของนักจิตวิทยา เพื่อประกอบอาชีพเชฟตามความฝัน

มาริษา เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเชฟแคร์ส

 

มูลนิธิเชฟแคร์ส ผนึกพันธมิตร “สานฝันปั้นเชฟ”

มูลนิธิเชฟแคร์ส ผนึกพันธมิตร “สานฝันปั้นเชฟ”

โครงการนี้จะให้ทั้งความรู้และการบ่มเพาะแนวคิดด้านบวก พร้อมได้รับแรงบันดาลใจจากเหล่าเชฟมืออาชีพ ที่จะหมุนเวียนกันเข้ามาเป็นอาจารย์พิเศษให้กับน้องๆ เพื่อที่จะทำให้น้องๆ ได้พัฒนาตัวเองไปตามเส้นทางที่ฝัน และยังได้มีอาชีพ กลายเป็นคนคุณภาพ เมื่อกลับสู่สังคมอีกครั้ง ซึ่งมูลนิธิฯ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.พงษ์รพี บูรณสมภพ Co-Founder Robb Report Thailand นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ เข้ามาเป็นจิตอาสาร่วมพัฒนาและสานฝันให้เยาวชนทุกคน ได้บ่มเพาะทัศนคติเชิงบวก และเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม และ ศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารเพื่อการพัฒนา (CCDKM) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้คัดเลือกเยาวชนหน่วยงานละ 6 คน โดยน้องๆ ที่ถูกคัดเลือก จะเป็นคนที่มีความรักในการปรุงอาหารเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีความประพฤติดี ใกล้พ้นโทษ สำหรับเยาวชนจากกรมพินิจฯ เข้าอบรมหลักสูตรโครงการสานฝันปั้นเชฟ ซึ่ง PIM FOOD ACADEMY สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้ออกแบบหลักสูตรเป็นพิเศษ ระยะเวลา 5 เดือน แบ่งเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ 2 เดือน ที่สถาบันสอนอาหารและการจัดการธุรกิจอาหาร และอีก 3 เดือน จะฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ณ ร้านอาหารของเชฟระดับแถวหน้าของเมืองไทย (Top Chef) โดยที่เยาวชนทุกคนมีโอกาสได้รับการจ้างงาน ทั้งจากร้านอาหารของ Top Chef และ/หรือ ธุรกิจอาหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือน้องๆ จะออกไปเปิดร้านอาหารเอง ก็สามารถทำได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

น้องๆ เยาวชนที่ได้ร่วมหลักสูตร ต่างมีความคิดเห็นตรงกันว่า โครงการนี้ มีประโยชน์ และสามารถพัฒนาพวกเขา ซึ่งมีความรักในการทำอาหารอยู่แล้ว สมหญิง (นามสมมุติ) กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการเรียนหลักสูตรต่างๆ ด้านการทำอาหารค่อนข้างสูง หากไม่ได้รับโอกาสครั้งนี้ ก็ยากที่จะได้เรียนและได้ใกล้ชิดกับ เชฟนิค ณัฏฐพล ภวไพบูลย์ และ เชฟชุมพล แจ้งไพร ซึ่งเป็นเชฟระดับแนวหน้า ความรู้ที่ได้จากโอกาสในครั้งนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปต่อยอด เพื่อเปิดร้านอาหารของตนเอง และจะนำความรู้ไปส่งต่อน้องๆ ในชุมชนที่สนใจ และมีความฝันเหมือนกับตน

 

มูลนิธิเชฟแคร์ส ผนึกพันธมิตร “สานฝันปั้นเชฟ”

เช่นเดียวกับ “สมพงษ์” (นามสมมุติ) ที่สนใจเรียนรู้การทำอาหารจริงจัง โดยมีความหวังว่าเมื่อเรียนจบหลักสูตร จะกลับไปทำอาหารที่มีรสชาติดีให้กับครอบครัวได้ทานพร้อมหน้ากัน ขณะที่สมชาย (นามสมมุติ) จากสถานพินิจฯ เล่าว่า ภายหลังได้รับการปล่อยตัว ก็อยากมีอาชีพที่ดี และมั่นใจว่าจะไม่หวนไปทำผิดซํ้าอีก การได้รับโอกาสครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนการได้โอกาสในการสร้างอาชีพ และได้กลับตัวเป็นคนดีของสังคม

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 23 ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,660 วันที่ 11 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2564