เปิดควบรวมใบอนุญาตประมง แลกกองเรือลดลง-ทำประมงได้ทั้งปี

08 ม.ค. 2564 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2564 | 11:30 น.
2.8 k

ประมงเฮ “กรมประมง” ไฟเขียวควบรวมใบอนุญาตเรือประมง  หวังลดกองเรือ แลกทำประมงได้ทั้งปี บรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องชาวประมงจากสถานการณ์ “โควิด-19” ตามนโยบายรัฐ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของประเทศไทยในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคประมง  ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  มีความห่วงใยในพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และชาวประมง ตลอดจนผู้ประกอบการประมง ทั้งห่วงโซ่การผลิต ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  ประกอบกับที่ผ่านมากรมประมงมีการบริหารจัดการประมงภายใต้ปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่อย่างยั่งยืน โดยการกำหนดวันทำการประมง ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถนำสัตว์น้ำจากเรือที่ไม่ประสงใช้วันทำการประมงต่อไปมาเพิ่มวันทำการประมงให้กับเรือประมงที่วันทำการประมงไม่ครบปีได้ ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้กรมประมงเร่งหาแนวทางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเร็วที่สุด

 

  มีศักดิ์ ภักดีคง

 

นายมีศักดิ์ ภักดีคง  อธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า  เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ  ซึ่งมี พล.อ ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้สั่งการให้กรมประมงเร่งดำเนินการในการควบรวมใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงจากสถานการณ์โควิด-19 ตามนโยบายรัฐบาลโดยด่วน กรมประมงจึงได้ออกประกาศ กำหนดหลักเกณฑ์การควบรวมใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ภายใต้กฎกระทรวงการขออนุญาตและการพิจารณาอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๖๒ ลงวันที่ 6 มกราคม 2564 เรียบร้อยแล้ว

 

การควบรวมใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ข้างต้น เป็นการนำปริมาณสัตว์น้ำของเรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์อยู่แล้วในปัจจุบันมารวมกันเพื่อนำสัตว์น้ำจากเรือประมงลำที่ไม่ประสงค์จะทำการประมงต่อไปมาให้กับเรือประมงของลำที่จะใช้ทำการประมง แล้วนำเรือที่ไม่ใช้ทำการประมงออกจากระบบ โดยการทำลาย เปลี่ยนประเภทเรือ ขายไปต่างประเทศ หรือทำให้เรือนั้นไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้ทำการปมงต่อไปได้ เช่น การนำไปทำร้านอาหาร ร้านกาแฟ ห้องสมุดลอยน้ำ เป็นต้น ซึ่งการออกประกาศดังกล่าว ได้ผ่านกระบวนการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และคณะทำงานด้านวิชาการแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้


 

 

 

1. ให้สามารถควบรวมใบอนุญาตของเครื่องมือทำการประมงในกลุ่มเดียวกันได้ ประกอบด้วย 1. อวนลากคู่ กับอวนลากแผ่นตะเฆ่ และอวนลากคานถ่าง ด้วยกันได้  2. อวนล้อมจับ กับ อวนล้อมจับด้วยกันได้ 3. อวนล้อมจับปลากะตัก กับอวนครอบปลากะตัก และอวนช้อน/ยก ปลากะตัก ด้วยกันได้ ทั้งนี้การควบรวมใบอนุญาตต้องเป็นพื้นที่ทำการประมงเดียวกันกรณีผู้รับอนุญาตขอควบรวมใบอนุญาตแล้วมีการขอเปลี่ยนเรือประมงที่นำมาควบรวมใบอนุญาตด้วย ต้องอยู่ในกลุ่มขนาดเรือเดียวกัน ดังนี้  กลุ่มเรือที่มีขนาดต่ำกว่า 30 ตันกรอส  2. กลุ่มเรือที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอส แต่ไม่ถึง 60 ตันกรอส 3. กลุ่มเรือที่มีขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอส แต่ไม่ถึง 150  ตันกรอส และ กลุ่มเรือที่มีขนาดตั้งแต่ 150 ตันกรอสขึ้นไป

 

 

ทั้งนี้ ผู้ประสงค์ควบรวมใบอนุญาตทำการประมงตามประกาศกรมประมงฉบับนี้ สามารถยื่นขอควบรวมใบอนุญาตได้ ณ สำนักงานประมงอำเภอท้องที่ติดทะเลทุกแห่ง ในพื้นที่ 23 จังหวัดชายทะเล กรมประมงหวังว่าการเปิดให้ชาวประมงสามารถควบรวมใบอนุญาตได้ในครั้งนี้ จะทำให้กองเรือประมงลดลง  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศให้เกิดความยั่งยืน และยังสามารถบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการประมง ตลอดจนเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงต่อไป