เฮ กระทรวงแรงงาน เคาะมาตรการเยียวยา " ลดเงินสมทบประกันสังคม" 3 เดือน

04 ม.ค. 2564 | 17:11 น.
552

รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ออกมาตรการเยียวยาลูกจ้าง - นายจ้าง สั่งลดเรียกเก็บเงินสมทบผู้ประกันตน เหลือ 278 บาท ระยะ 3 เดือน หวังช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ พร้อมผลักดันแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนผ่านระบบออนไลน์

4 มกราคม 2564 - นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ และมีแนวโน้มว่าจะมีการแพร่ระบาดมากขึ้น จนรัฐบาลได้มีคำสั่งปิดสถานประกอบกิจการหลายประเภทส่งผลกระทบโดยตรงต่อการประกอบกิจการที่ถูกสั่งปิดกิจการชั่วคราว

กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ออก “กฎกระทรวงกําหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2563” ส่งผลให้มีการปรับลดเงินสมทบฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เหลือร้อยละ 3 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ลดลงเหลือ 278 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2564) เพื่อช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตนที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้าง และผู้ประกันตน โดยนายจ้างและผู้ประกันตนยังสามารถชำระเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกพื้นที่

 

ทั้งนี้ นายจ้างและลูกจ้างซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ สามารถดำเนินการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด – 19 ผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์ ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

เฮ กระทรวงแรงงาน เคาะมาตรการเยียวยา \" ลดเงินสมทบประกันสังคม\" 3 เดือน

นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงานอย่างถูกต้อง และมีการหลบหนี เนื่องจากเกรงกลัวความผิด จึงควรมีการกำหนดมาตรการตรวจสอบ คัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ระลอกใหม่ สามารถดำเนินการขอใบอนุญาตทำงาน และจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยผ่านระบบออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม – 13 กุมภาพันธ์ 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สรุป 5 ขั้นตอนง่ายๆ ประกันสังคมพร้อมจ่ายกรณีว่างงาน ติดเชื้อโควิด-19