9 ธ.ค.ลุ้นบอร์ด สปสช.เคาะค่าฟอกไตผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี

06 ธ.ค. 2563 | 06:09 น.

เครือข่ายผู้ป่วยโรคไตลุ้นบอร์ด สปสช.เคาะตัวเลขค่าใช้จ่ายฟอกไตสำหรับผู้ป่วยไตวายที่ติดเชื้อเอชไอวีวันที่ 9 ธ.ค.นี้ เชื่อหากได้ค่าบริการเพิ่มขึ้น โรงพยาบาลสามารถจัดบริการให้ได้แน่นอน ย้ำหน่วยบริการรับฟอกไตผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรมีอย่างน้อยจังหวัดละ 1-2 แห่ง

ธนพลธ์ ดอกแก้ว

 

นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการผลักดันเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ป่วยไตวายที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ต้องบำบัดทดแทนไตด้วยเครื่องไตเทียมว่า หลังจากที่สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยและเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมานั้น

 

ทางสมาคมฯ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลค่าใช้จ่ายในการฟอกไตสำหรับผู้ป่วยไตวายที่ติดเชื้อเอชไอวีจากทั้งสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย โรงพยาบาลบำราศนราดูร และหน่วยบริการอีกหลายแห่ง เพื่อหาราคากลางค่าใช้จ่ายในการจัดบริการ โดยได้ตัวเลขที่ประมาณ 4,000 บาท ซึ่งประกอบค่าตัวกรอง อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำหัตถการ ค่าแรงของพยาบาล และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในกระบวนการจัดการฟอกไตแต่ละครั้ง และได้จัดส่งข้อมูลให้ สปสช.ดำเนินการ

 

นายธนพลธ์ กล่าวว่า เมื่อ สปสช.ได้รับข้อมูลแล้วก็ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามขั้นตอน โดยต้องขอขอบคุณนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการ สปสช. ที่ช่วยผลักดันด้วย ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ ได้ผ่านการพิจารณาจากทั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ คณะกรรมการเพื่อสนับสนุนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบเงินการคลัง และเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ สปสช. เพื่อเคาะตัวเลขสุดท้ายว่าจะเป็นเท่าใดในวันที่ 9 ธ.ค. 2563 นี้ และเมื่อคณะกรรมการ สปสช. พิจารณาเห็นชอบแล้วก็จะออกเป็นประกาศและนำไปใช้ได้เลย

 

"ตอนนี้ก็ต้องรอดูว่าตัวเลขที่เราเสนอไปประมาณ 4,000 บาทนั้น ทางคณะกรรมการ สปสช.จะเคาะตัวเลขสุดท้ายที่เท่าไหร่ แต่หลักการคือผู้ป่วยต้องไม่มีการร่วมจ่ายอีกต่อไป และต้องไม่ส่งผลกระทบกับหน่วยบริการ" นายธนพลธ์ กล่าว

 

ธนพลธ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตัวเลขผู้ป่วยไตวายที่ติดเชื้อเอชไอวีน่าจะมากกว่า 300 รายซึ่งเป็นผู้ป่วยรวมทุกสิทธิการรักษาคือทั้งสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ โดยเกือบทั้งหมดประสบปัญหาขาดแคลนหน่วยบริการที่จะฟอกไตให้ ประเด็นคือ หน่วยบริการที่จะให้บริการมีเพียงพอ แต่การกระจายไม่ครอบคลุม ทำให้บางคนอยู่เชียงใหม่แต่ต้องเดินทางมารักษาตัวถึงใน กทม.

 

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเมื่อสิทธิประโยชน์เกิดขึ้นแล้ว ถ้าค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นและทำให้หน่วยบริการสามารถอยู่ได้ เชื่อว่าโรงพยาบาลจะจัดบริการให้อยู่แล้ว ขณะเดียวกัน สปสช.ก็ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาทางออกให้คนไข้สามารถเข้าถึงบริการได้ทั่วประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุขต้องจัดบริการให้ได้ทั่วประเทศอย่างน้อยจังหวัดละ 1-2 แห่ง