เร่งยกเครื่อง พ.ร.บ.ช้าง

05 ธ.ค. 2563 | 13:17 น.

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก นำทีม ยกเครื่อง พ.ร.บ.ช้าง เร่งปรับเนื้อหาด้านสวัสดิภาพ เสนอ ควรมีร่าง พ.ร.บ.ช้าง ภาคประชนประกบ เพื่อครอบคลุมประเด็นสำคัญมากขึ้น ย้ำ ช้างกำลังอยู่ในช่วงอดอยาก ถ้ายิ่งขยายพันธุ์ ปัญหาจะยิ่งมากขึ้น

นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อธุรกิจท่องเที่ยวซบเซาผู้ประกอบธุรกิจปางช้างรายได้ลดฮวบ ช้างจึงเสี่ยงอดอยาก เพราะไม่ได้รับอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการอาศัยช่วงจังหวะที่ไม่ได้ใช้ช้างเพื่อกิจกรรมท่องเที่ยวในการผสมพันธุ์ช้างเพิ่มขึ้น 

เร่งยกเครื่อง พ.ร.บ.ช้าง

ช้างกำลังอยู่ในช่วงอดอยาก ถ้ายิ่งขยายพันธุ์ ปัญหาก็จะยิ่งมากขึ้น” นางสาวโรจนา กล่าว ในการประชุมปรึกษาหารือเรื่องพ.ร.บ. ช้างฯ ที่จัดขึ้นโดย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนร่วมหาหนทางพัฒนาสวัสดิภาพช้างเลี้ยงให้ดีขึ้น 

 

ในทางทฤษฎี พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ทารุณกรรมสัตว์ พ.ศ.2557                                ซึ่งดูแลโดยกรมปศุสัตว์ สามารถคุ้มครองช้างที่อาจถูกปฏิบัติด้วยความโหดร้ายทารุณได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว                       

นายธีระวุฒิ สุวัธนะเชาว์ ที่ปรึกษากองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ ยอมรับว่าการบังคับใช้ยังคงมีช่องโหว่ หากมีการฝึกซ้อมสัตว์ด้วยอุปกรณ์ที่สร้างความบาดเจ็บต่อสัตว์ย่อมมีความผิด หากสัตวแพทย์ไปตรวจพบก็นับเป็นการทารุณอยู่แล้ว หรือหากทำให้ช้างอดอาหารจนเป็นโรคขาดอาหาร ก็นับเป็นเรื่องทารุณกรรมได้เช่นกัน แต่หลังจากรับ พ.ร.บ.นี้มาแล้ว ไม่ได้วางแผนตั้งแต่แรกให้ดี เช่น ไม่มีแอนิมอลค็อปเพื่อเฝ้าระวังเรื่องนี้โดยเฉพาะ

 

ทางกรมฯ ได้ผลักดันกฎหมายลูก เรื่องการจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง ซึ่งกำลังรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการดูแลช้างเลี้ยง เช่น ปริมาณอาหารต่อวัน สภาพที่อยู่อาศัย การตรวจสุขภาพ การรักษาพยาบาล การทำพฤติกรรมที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไปจนถึงข้อกำหนดในการใช้งาน เช่น การลากซุงต้องไม่เกิน 50% ของน้ำหนักตัว กำหนดระยะเวลาหยุดพัก การบรรทุกแหย่งต้องหนักไม่เกิน 10% ของน้ำหนักตัวและไม่เกิน 300 กิโลกรัม การพรากลูกช้างออกจากแม่จะทำได้เมื่อลูกช้างมีอายุ 30 เดือนขึ้นไป เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดดังกล่าวยังไม่เป็นที่เห็นพ้องในบรรดาผู้ที่ทำงานด้านสวัสดิภาพสัตว์ ดังเช่น ความคิดเห็นของ นางสาวแสงเดือน ชัยเลิศ ที่ปรึกษากรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เห็นด้วยกับการพรากลูกช้างจากแม่ตั้งแต่อายุ 30 เดือน ซึ่งถือว่าเร็วเกินไป เนื่องจากลูกช้างยังไม่มีภูมิต้านทานเพียงพอ เมื่อแยกออกมาลูกช้างจึงไม่แข็งแรง เสี่ยงต่อการล้มป่วยและเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังทำให้ลูกช้างไม่มีโอกาสได้เรียนรู้พฤติกรรรมตามธรรมชาติจากแม่อย่างเพียงพอด้วย

 

พ.ร.บ.ช้างไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่มีที่ มาย้อนกลับไปในปี 2559 ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เนื้อหาสำคัญเน้นไปที่ช้างเลี้ยง โดยมีเป้าหมายว่าช้างเลี้ยงจะต้องได้รับการจัดสวัสดิภาพที่เหมาะสม รวมไปถึงแก้ปัญหาการสวมทะเบียนช้าง 

พ.ร.บ.ช้าง ถูกกรมปศุสัตว์หยิบชึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง และกำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ. ถือเป็นเครื่องมือสำคัญและเพิ่มความเป็นไปได้ในการยกระดับให้สวัสดิภาพช้างได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง 

 

นายธีระวุฒิ อธิบายว่า 1 ใน 8 หมวดของร่าง พ.ร.บ.ช้าง เกี่ยวข้องกับการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพช้าง ทว่าเนื้อหาส่วนนี้ ซ้อนกับ พ.ร.บ.ทารุณกรรม ที่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ เมื่อหลายฝ่ายยังคงมีคำถามว่าเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ช้าง ตอบโจทย์สวัสดิภาพช้างเพียงพอหรือไม่ อีกทั้งยังมีเนื้อหาและการบังคับใช้ที่ทับซ้อนกับกฎหมายอื่นๆที่ออกมาก่อนหน้า 

 

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ประธานอนุกรรมาธิการศึกษาความเป็นไปได้ การถ่ายโอนภารกิจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอว่า ควรมีร่าง พ.ร.บ.ช้าง ของภาคประชนประกบไปด้วยเพื่อให้ครอบคลุมประเด็นสำคัญมากขึ้น ถ้ามีร่างกฎหมายของภาคประชาชนประกบไปด้วย มันอาจไม่ใช่ร่างที่สมบูรณ์ อาจเป็นร่างคอนเซ็ปต์ไอเดีย ก็จะเป็นประโยชน์ต่องานประชาพิจารณ์อย่างมาก

 

การเสนอกฎหมายเกี่ยวกับช้างจากภาคประชาชนนั้นทำได้หลายทาง ตั้งแต่การเสนอผ่านหน่วยงานรัฐ เช่น กรมปศุสัตว์ หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเสนอสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อจำนวน 25 คน โดยเสนอผ่านกรรมาธิการ หรือการที่ภาคประชาชน สามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายเองได้ รวมทั้ง ภาคประชาชน สามารถเข้าไปร่วมทำงานกับหน่วยงานรัฐดังกล่าวได้ 

 

อย่างไรก็ตาม ช่องทางการเสนอร่างพ.ร.บ.โดยกระบวนการเข้าชื่อโดยประชาชน ยังเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงกระแสสังคมที่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว 

 

อีกหนึ่งช่องทางที่ธนพรเสนอ คือการยื่นเรื่องกับพรรคการเมือง ถ้าจะผลักดันมันต้องทำกับทุกพรรคการเมือง จะได้ช่วยกันในสภา มันจะสะท้อนได้เลยว่า พรรคไหนเอากับเราบ้าง แล้วเราก็เปิดเผยข้อมูลให้สังคมทราบ

 

นอกจากจะส่งเสริมสวัสดิภาพช้าง ผ่านการขับเคลื่อน พ.ร.บ. แล้ว รศ.ดร.ธนพรชี้ว่า กลไกกระจายอำนาจที่กรมปศุสัตว์ได้ถ่ายโอนสู่ท้องถิ่นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เช่นกัน เพราะลำพังเจ้าหน้าที่กรม ปศุสัตว์ส่วนกลางที่มีภารกิจมากมายคงไม่ใช่การง่ายที่จะทำงานด้านสวัสดิภาพได้ทั่วถึงในทุกพื้นที่

 

ท้องถิ่นทุกแห่งตั้งแต่ อบต. ยัน กทม. มีสถานภาพในการทำงานเหมือนกรมปศุสัตว์ทุกประการในเรื่องนี้ เราเดินไปที่กทม. หรือสำนักงานเขตได้เลย หากข้างบ้านมีการทรมานสัตว์ มันก็จะตอบโจทย์ว่าการเข้าถึงบริการมันง่าย 

 

การทำงานกับท้องถิ่นในระยะยแรก อาจมีติดขัดบ้าง กรมปศุสัตว์อาจต้องช่วยสนับสนุนทางวิชาการและการอบรมตลอดจนร่วมออกแบบการทำงาน

 

แนวคิดนี้สอดคล้องกับ นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.พรรคก้าวไกลและโฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เห็นว่าภาพใหญ่ของการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์อยู่ที่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องมันจะไม่จบสักเรื่อง จะทำอย่างไรที่จะแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างได้บ้าง การให้อำนาจกับท้องถิ่นให้ท้องถิ่นจัดการตัวเองได้ น่าจะตอบโจทย์การอนุรักษ์สัตว์ เช่น แต่ละที่มีสัตว์ไม่เหมือนกัน ถ้าท้องถิ่นจัดการเองได้ มันคือแก้ปัญหาทางโครงสร้าง มันยาก แต่ทีเดียวจบ

 

ด้านองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก แม้จะต้องการให้ช้างที่ใช้เพื่อการท่องเที่ยวหมดไปในระยะยาว แต่ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ก็มองภาพแบบตามความเป็นจริงที่ว่า เมื่อยังมีช้างที่ยังอยู่ในตลาด การทำให้ช้างหมดไปทันทีเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องอาศัยเวลา การทำงานขององค์กรจึงมีเป้าหมายว่าให้ช้างรุ่นนี้เป็นรุ่นสุดท้ายที่ถูกใช้งานอย่างโหดร้ายทารุณในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และจะต้องได้รับการดูแลอย่างดี ตลอดช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ของพวกมัน 

เร่งยกเครื่อง พ.ร.บ.ช้าง

ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ทางองค์กรฯ ได้ออกแคมเปญรณรงค์ชื่อ ‘Wildlife. Not Entertainers.’ หรือ ‘สัตว์ป่าไม่ใช่นักแสดง’ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับทั้งภาครัฐ ประชาชน เอกชนเจ้าของปางช้าง ควาญช้าง และบริษัทท่องเที่ยว เพื่อสร้างความตระหนักรู้และลดความต้องการของนักท่องเที่ยวต่อการนำสัตว์ป่ามาใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตลอดจนพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายด้านสวัสดิภาพสัตว์ทั่วโลกให้ได้มาตรฐานมากขึ้น

 

นอกจากการทำให้ช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหมดไป ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันดูแลช้างที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ดีขึ้น ผ่านรูปแบบปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้างด้วย ซึ่งทางองค์กรฯ ได้กำหนดมาตรฐานปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้างไว้ในหลายมิติตั้งแต่รูปแบบธุรกิจ การใช้ช้างเพื่อความบันเทิง การควบคุมช้าง การผสมพันธุ์ช้าง เป็นต้น 

 

การสนับสนุนปางช้างที่ต้องการเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิมมาสู้การเป็นมิตรต่อช้าง ปัจจุบัน เกิดขึ้นจริงแล้วสองแห่งในประเทศไทย คือ ChangChill จ.เชียงใหม่ และ Following Giants จ.กระบี่ คุณลักษณะสำคัญที่ชี้วัดว่าปางช้างนั้นๆเป็นมิตรต่อสวัสดิภาพช้าง เช่น ไม่มีการผสมพันธุ์ช้างเพื่อการค้า ไม่มีการใช้เครื่องมือที่สร้างความเจ็บปวดยกเว้นกรณีฉุกเฉิน ไม่มีกิจกรรมที่ขัดต่อพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้าง นักท่องเที่ยวต้องไม่มีปฏิสัมพันธ์กับช้างโดยตรงควาญช้างได้รับการอบรมเรื่องสวัสดิภาพ ปางช้างต้องจัดสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติให้ช้างสามารถหาอาหารและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ เป็นต้น

เร่งยกเครื่อง พ.ร.บ.ช้าง

นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า การที่สวัสดิภาพช้างไทย จะได้รับการคุ้มครองอย่างยั่งยืน ประกอบไปด้วย 1) กระแสของการท่องเที่ยวแบบเดิมได้เปลี่ยนไป ประเทศควรปรับให้สอดรับกับหลักมาตราฐานสากล ที่เป็นการท่องเที่ยวแบบไม่ทรมานช้าง 2) การขับเคลื่อนสร้างความตระหนักแก่สาธารณะต่อประเด็นเรื่องสวัสดิภาพช้างให้มากขึ้น และสร้าง ฉันทามติร่วมของประชาชน ต่อประเด็นเรื่องของสิทธิสัตว์ 3) แนวทางในด้านการที่จะคุ้มครองช้างไทยอย่างยั่งยืน คือการออกกฏหมายที่ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมทั้งในด้านของการ่วมร่าง พ.ร.บ ทั้งภาคประชาสังคม ผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดถึงการผลักดันที่ทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อน