เสนอสร้างระบบเตือนภัยผู้บริโภค-ผักผลไม้ยังปนเปื้อนสารพิษ

26 พ.ย. 2563 | 18:50 น.

สถานการณ์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนอาหาร แม้จะดีขึ้นหลังแบน 3 สาร แต่พาราควอต-คลอไพริฟอส-ไกลโฟเซต ยังอันตราย เป็นตัวก่อมะเร็ง ทำสมองผิดปกติ ขณะที่ผลสำรวจพบผักผลไม้หลายชนิดมีสารพิษเกินค่ามาตรฐาน ทั้งมะเขือเทศลูกเล็ก คะน้า ขึ้นฉ่าย พริกแดง พริกขี้หนู พุทราจีน องุ่นแดงนอก เสนอสร้างระบบเตือนภัยผู้บริโภค  

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) และภาคีเครือข่าย ได้จัดประชุมวิชาการเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2563 ในวาระ “ก้าวไปข้างหน้า สร้างระบบเกษตรและอาหารที่ปลอดภัย” ที่โรงแรมริชมอนด์ ถ.แจ้งวัฒนะ โดยมีนักวิชาการ เจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน ผู้ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมจำนวนมาก

 

 นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ได้กล่าวถึงสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกับสุขภาพคนไทยว่า จากข้อมูลในปี 2560 พบว่ามีการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้นจากปี 2559 ถึง 3.74 หมื่นตัน ขณะเดียวกันเมื่อย้อนกลับไปดูข้อมูลผู้มีงานทำในปี 2561 พบว่ามีทั้งหมด 38.3 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานนอกระบบ 21.2 ล้านคน และมากกว่าครึ่ง หรือประมาณ 11.7 ล้านคนทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม

 

 “คนเหล่านี้ ถ้าไม่มีความรู้เรื่องการจัดการสารเคมี ก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้พวกเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับสารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อย่างสถานการณ์การใช้สารเคมีทางการเกษตรในปี 2563 พบครัวเรือนที่ยังคงใช้สารเคมีทางการเกษตรจำนวน 677,522 ครัวเรือนหรือร้อยละ 25.60” นพ.ดนัย กล่าว

 

 รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวด้วยว่า การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชได้สร้างผลกระทบต่อร่างกายของผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวาง ได้แก่ พาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยพาราควอตนั้น เกิดพิษเฉียบพลันสูงมากและยังไม่มียาถอนพิษ ก่อให้เกิดโรคพาร์กินสัน และยังมีสารตกค้างในซีรั่มของทารกแรกเกิดและมารดาด้วย ขณะที่คลอไพริฟอส ก็ทำให้เกิดความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสมองของเด็กที่แม่ได้รับสารระหว่างตั้งครรภ์ ส่วนไกลโฟเซต ก็เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็ง รบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้

                                เสนอสร้างระบบเตือนภัยผู้บริโภค-ผักผลไม้ยังปนเปื้อนสารพิษ

 

 ด้าน น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) กล่าวว่า ในปีนี้ไทย-แพนมีการเก็บตัวอย่างผักและผลไม้รวมทั้งหมด 33 ชนิด จาก 16 แหล่งจำหน่าย คือ ในห้างสรรพสินค้า 6 แห่ง ตลาดอีก 10 ตลาดใน 10 จังหวัด โดยเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 29 กันยายนถึง 9 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากมีการแบน 3 สารเคมีไปแล้ว

 

 หลังจากรวบรวมตัวอย่างแล้ว ทางไทย-แพน ได้ส่งไปวิเคราะห์ที่แล็บในประเทศอังกฤษ ครอบคลุมสารพิษ 500 ชนิด โดยเฉพาะสารกำจัดแมลง กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ออร์กาโนคลอรีน คาร์บาเมต ไพรีทรอยด์ แต่การส่งตรวจครั้งนี้ไม่ได้รวมถึงการหาสารกลุ่มพาราควอตและไกลโฟเซต แต่จะเป็นการหาสารกลุ่มอื่น โดยเฉพาะสารกำจัดโรคพืช ซึ่งค่าที่ได้ จะนำมาเปรียบเทียบกับค่าเอ็มอาร์แอล (Maximun Residue Limits / MRLs) หรือค่าปริมาณการตกค้างสูงสุดในกลุ่มอาหารที่ประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุข

 

 ตัวอย่างผักและผลไม้ทั้ง 33 ชนิด ได้แก่ ผลไม้ 9 ชนิด ของแห้ง 2 ชนิด (พริกแห้งและหอมแดงแห้ง) ผักไฮโดรโปนิกส์ 4 ชนิด ผักทั่วไป 18 ชนิด ซึ่งผลการตรวจที่สำคัญๆ พบว่า ผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานเอ็มอาร์แอล คือพุทราจีน และ องุ่นแดงนอก พบสารตกค้างเกินมาตรฐาน 100% ส่วนส้มสายน้ำผึ้ง ซึ่งเคยเป็นแชมป์เก่ามีสารพิษลดลงเหลือ 81% ขณะเดียวกันส้มโอคือผลไม้ปลอดภัย ไม่มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานเอ็มอาร์แอลเลย

                          เสนอสร้างระบบเตือนภัยผู้บริโภค-ผักผลไม้ยังปนเปื้อนสารพิษ

 ส่วนกลุ่มผัก อาทิ พริกแดง พบสารพิษตกค้าง 69 ชนิด พริกขี้หนู 26 ชนิด ผักชี 43 ชนิด บล็อกโคลี 18 ชนิด กระเพรา 24 ชนิด คะน้า 48 ชนิด ผักบุ้ง 16 ชนิด กวางตุ้ง 20 ทุกชนิด ขึ้นฉ่าย 86 ชนิด กระเจี๊ยบเขียว 6 ชนิด มะระ 17 ชนิด และเมื่อเรียงลำดับผักที่พบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน พบว่า ข้าวโพดหวานและมันฝรั่ง มีสารพิษไม่เกินค่ามาตรฐาน  ขณะที่ผัก 4 ชนิดประกอบด้วย มะเขือเทศลูกเล็ก คะน้า ขึ้นฉ่าย พริกแดง และพริกขี้หนู มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 100% 

 

 “ในภาพรวมพบการตกค้างของสารพิษที่เกินค่ามาตรฐาน 58% ถ้าแบ่งเป็นประเภทจะเห็นว่าผลไม้เกินค่ามาตรฐานอยู่ที่ 51.8% ผักไฮโดรโปนิก 51.1% ผักที่ปลูกบนดิน 58.7 และของแห้งที่ประกอบด้วยพริกแห้งและหอมแดงแห้งมีสารพิษเกินค่ามาตรฐาน 90.6%” น.ส.ปรกชล กล่าว

 

พร้อมระบุว่า ในการทดสอบครั้งนี้พบสารพิษตกค้างรวมทั้งสิ้น 160 ชนิดและมี 6 ชนิดที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งหมายถึงวัตถุอันตรายที่ประกาศให้เลิกใช้ไปแล้ว ได้แก่ กลุ่มเอนโดซัลแฟน เมทามิโดฟอส เพนตะคลอโรฟีนอล เมโทมิล คาร์โบฟูราน และคลอร์ไพริฟอส ส่วนสารตกค้างที่พบถี่ที่สุด คือคาร์เบนดาซิมที่ใช้ฆ่าเชื้อรา

 

 ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ยังเสนอด้วยว่า อยากให้มีการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยให้ผู้บริโภครับทราบ เทียบเท่ากับระบบการแจ้งเตือนอย่างรวดเร็วสำหรับอาหารและอาหารสัตว์ หรือ Rapid Alert System for Food and Feed ซึ่งเป็นระบบรายงานด้านความปลอดภัยของอาหารในสหภาพยุโรป ซึ่งจะต้องมีการจับมือกันหลายภาคส่วนสร้างระบบเฝ้าระวังขึ้นมา ขณะเดียวกันประสิทธิภาพของห้องแล็บจะต้องเท่าทันสารเคมีที่อนุญาตให้ใช้ในประเทศ รวมถึงสารเคมีที่ประเทศส่งพืชผักผลไม้เข้ามาในบ้านเราด้วย

                         เสนอสร้างระบบเตือนภัยผู้บริโภค-ผักผลไม้ยังปนเปื้อนสารพิษ