4 เรื่องต้องจับตาจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 37 ผ่านระบบทางไกล

12 พ.ย. 2563 | 20:51 น.
566

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผย 4 เรื่องที่ต้องจับตาประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนผ่านระบบประชุมทางไกล

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ออกมาโพสต์ข้อความว่าการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเริ่มขึ้นแล้วในวันนี้ (12 พฤศจิกายน 2020) โดยมีเวียดนามเป็นประธาน แต่การประชุมเกิดขึ้นบนโลก On-line ผ่านระบบการประชุมทางไกล ประเด็นที่เราต้องจับตาจากการประชุมครั้งนี้คือ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“จีน”ชง4ข้อเสนอวงประชุมอาเซียน+3 ร่วมมือป้องกันโควิด-ฟื้นเศรษฐกิจ 

ถกผู้นำอาเซียนจ่อตั้งศูนย์สำรองสารพิษป้องกันแพร่ระบาด

บิ๊กตู่ ถกผู้นำอาเซียน ลดเสี่ยงโควิด 14 เม.ย.

ผู้นำอาเซียนเตรียมประชุมสู้โควิด-19 สัปดาห์หน้า

 

 

1. บทบาทของอาเซียนในการสร้างความร่วมมือกันเพื่อบริหาร จัดการ บรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งในมิติผลกระทบทางสาธารณสุข และผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการสร้างความร่วมมือเพื่อผลิต และกระจายวัคซีนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งการสร้างแผนรับมือหากมีการระบาดของโรคร้ายเกิดขึ้นในอนาคต โดยบทบาทของกองทุน COVID-19 ASEAN Response Fund จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดย ณ ปัจจุบันกองทุนนี้มีขนาด 300,000 ดอลลาร์จากสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมกับเงินสมทบพิเศษจากประเทศไทย และสิงคโปร์ อีกประเทศละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ และจากจีนอีก 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กองทุนนี้ได้ถูกใช้ไปบ้างแล้วเพื่อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีการระบาด และในอนาคตเชื่อว่าจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการผลิตและกระจายวัคซีนระหว่างประเทศสมาชิก

.

อีกเรื่องที่ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการภายใต้ภาวะวิกฤต COVID-19 คือการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อทำให้สินค้าเวชภัณฑ์ ยา เครื่องมือแพทย์ และอาหาร สามารถเคลื่อนย้ายข้ามชายแดนระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างสะดวก โดยไม่มีอุปสรรค ซึ่งจากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ของรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ เชื่อว่าน่าจะต้องมีการทำ MOU ระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าในสินค้าประมาณ 150 รายการสินค้า

 

2. การรายงานผลการดำเนินการตามพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint 2025) เพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในวิสัยทัศน์อาเซียน 2025 ซึ่งปีปัจจุบันคือปี 2020 ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคณะทำงานของทั้ง 10 ประเทศสมาชิกภายใต้เสาหลัก ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ต้องรายงานผลการดำเนินการกลางเทอม (Midterm Review) ว่าจากแผนงานทั้งหมด โครงการทั้งหมด เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย AEC 2025 ซึ่งประกอบไปด้วย 5 วัตถุประสงค์ อันได้แก่ 1) อาเซียนต้องเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการรวมตัวและเชื่อมโยงกันในระดับสูง (A Highly Integrated and Cohesive Economy) 2) อาเซียนที่มีความสามารถในการแข่งขัน มีนวัตกรรม และมีพลวัต (A Competitive, Innovative and Dynamic ASEAN) 3) อาเซียนที่เชื่อมโยงและความร่วมมือรายสาขาท่ีเพิ่มมากขึ้น (Enhanced Connectivity and Sectoral Cooperation) 4) การเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการปรับตัวครอบคลุมทุกภาคส่วนให้ความสําคัญ กับประชาชน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (A Resilient, Inclusive, People-Oriented and People-Centred ASEAN) และ 5) อาเซียนที่เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลก (A Global ASEAN)

 

ซึ่งในประเด็นนี้มีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย ข่าวดีก็คือ จนถึงกลางปี 2020 สมาชิกอาเซียนได้ร่วมมือกันจนสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้วของ AEC Blueprint 2025 ได้แล้วถึงร้อยละ 84 ของเป้าหมายแผนงานทั้งหมดที่ต้องทำ แต่ข่าวร้ายก็คือ เรื่องง่ายๆ ประเด็นง่ายๆ (Low Hanging Fruits) ได้ถูกเก็บเกี่ยวไปหมดแล้ว และนั่นหมายความว่า เป้าหมายยากๆ โครงการหินๆ อีกร้อยละ 16 ที่เหลือ จะเป็นประเด็นความท้าทายสำคัญสำหรับ 10 ประเทศอาเซียนที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกันผลักดันต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าคนที่จะต้องเข้ารับบทหนักในเรื่องนี้ก็คือ ว่าที่รองเลขาธิการอาเซียน ด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ท่านต่อไปที่จะเข้ามารับตำแหน่งในช่วงต้นปี 2021

3. ท่ามกลางพายุสงครามการค้าที่ยังคงดำเนินต่อไป รวมทั้งหลากหลายประเทศทั่วโลกต่างก็ใช้นโยบายการค้าแบบปกป้องคุ้มกันมากยิ่งขึ้น อย่างน้อยอาเซียนก็ยังมีข่าวดี นั่นคือ การลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีของเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งในมิติประชากร และมิติขนาดเศรษฐกิจ ที่ไทยเป็นผู้ผลักดันอย่างหนักตลอดทั้งปีที่แล้ว จนสามารถหาข้อสรุปได้ ในนาม Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) หรือ อาเซียน +6 ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ กับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (ในขณะนี้ยังคงไม่มีอินเดียที่เข้ามาร่วมลงนาม) RCEP จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ห่วงโซ่มูลค่าในเอเชียเกิดขึ้น โดยผู้ประกอบการได้แต้มต่อ ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้า และจากงานวิจัยจำนวนมาก การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าเหล่านี้จะทำให้เกิดการจ้างงาน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็น 2 สิ่งที่ไทยต้องการมากที่สุดในขณะนี้ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ

 

แต่เท่านั้นยังไม่พอ RCEP จะเป็นข้อตกลงแรกที่เป็นข้อตกลงการค้าสมัยใหม่ ที่มีความครอบคลุม และมีมาตรฐานสูง ที่ไทยและหลายๆ ประเทศในอาเซียนลงนามและมีผลบังคับใช้ ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นสนามทดลองให้ไทยและสมาชิกอาเซียนคุ้นเคย และมีโอกาสปรับตัวให้เท่าทันกับรูปแบบการเจรจาการค้ารูปแบบใหม่ๆ ที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมทั้งมาตรฐานในเรื่องใหม่ๆ อีกหลากหลายมิติ

 

4. การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ที่มีเวียดนามเป็นประธาน และในขณะเดียวกัน จีนและเวียดนามก็มีกรณีพิพาทระหว่างกันในประเด็นอำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณทะเลจีนใต้ (ตามที่จีนเรียก) หรือทะเลตะวันออก (ตามที่เวียดนามเรียก) แน่นอนว่าอาเซียนมีจุดยืนคือ การไม่เข้าไปยุ่ง หรือแทรกแซงเรื่องภายในของประเทศสมาชิก ดังนั้นอาเซียนไม่ต้องการยกระดับให้ความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างอาเซียนกับจีน (แม้ว่าจะมีมหาอำนาจภายนอกพยายามเสี้ยมก็ตาม) แต่ในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำ เวียดนามก็แสดงออกในประเด็นนี้อย่างเป็นนัยๆ อาทิ การแสดงบนเวที ที่มีฉากหลังเป็นพื้นมหาสมุทรและปักธงชาติเวียดนามลงบนผืนน้ำ (ดูรูป)

4 เรื่องต้องจับตาจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 37 ผ่านระบบทางไกล