กรมชลฯ ยืนยัน "เขื่อนลำพระเพลิง"-"เขื่อนขุนด่านปราการชล" แข็งแรง

11 ต.ค. 2563 | 09:44 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2563 | 16:55 น.

กรมชนประทาน ย้ำชัด "เขื่อนลำพระเพลิง" - "เขื่อนขุนด่านปราการชล" มั่นคงแข็งแรง รับมวลน้ำได้

จากกรณีที่หลายฝ่ายกังวลใจในเรื่องของเขื่อนขุนด่านปราการชลที่มีปริมาณน้ำเกือบเต็มความจุอ่างฯ รววมไปถึงเขื่อนลำพระเพลิงว่าจะมีความแข็งแรง เก็บน้ำได้หรือไม่ และไม่ส่งผลกระทบต่อท้ายเขื่อน ต่อกรณีนี้ทางกรมชลประทานได้ออกมายืนยันว่าทั้ง 2 เขื่อนนั้นมีความแข็งแรงเป็นอย่างดี 


ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2563 ว่ากรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน และมีการตรวจสอบสภาพความมั่นคงของเขื่อนอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี จึงยืนยันได้ว่าเขื่อนลำพระเพลิง มีความมั่นคงแข็งแรงดี สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยไม่ส่งผลต่อพื้นที่ด้านท้าย


ปัจจุบันเขื่อนลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมามีปริมาณน้ำในอ่างฯ 145 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 93 ของความจุอ่างฯ ได้บริหารจัดการน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ด้วยการระบายน้ำลงคลองส่งน้ำสายใหญ่ วันละ 1.55 ล้าน ลบ.ม. และระบายลงสู่ลำน้ำธรรมชาติ วันละ 3.71 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำที่ระบายทั้งสิ้นวันละ 5 ล้าน ลบ.ม.

 

เขื่อนลำพระเพลิง

โดยมีการควบคุมการระบายน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของคลองส่งน้ำ ซึ่งจนถึงขณะนี้การระบายน้ำจากเขื่อนลำพระเพลิง ยังไม่ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณด้านท้ายอ่างฯ ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ บริเวณท้ายประตูระบายน้ำเหมืองตาเบ้า บริเวณตัวอำเภอปักธงชัย และบริเวณท้ายประตูระบายน้ำท่าเขื่อน – ประตูระบายน้ำอาจารย์พุฒ 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยัน “เขื่อนขุนด่านปราการชล” แข็งแรง ไม่กระทบท้ายเขื่อน

เตือนระดับแม่น้ำเพชรบุรีสูงขึ้น

พยากรณ์อากาศวันนี้ ภาคใต้-กลางตอนล่าง-ตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพ ระวังฝนตกหนัก

อุตุฯประกาศ ฉ.1 รับมือพายุลูกใหม่ 12-14 ต.ค. กระทบไทย

อย่างไรก็ตาม  ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนลำพระเพลิง มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้านโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง ได้นำเครื่องจักรและรถแบ็คโฮเข้าไปดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำบริเวณหน้าประตูระบายน้ำบ้านสุขัง ต.ตะคุ อ.ปักธงชัย เพื่อเร่งระบายน้ำแล้ว

 

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน

 

ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนในพื้นที่ติดตามสถาณการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชน ได้ตลอดเวลา


ขณะที่เขื่อนขุนด่านประการชล นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าสถานการณ์ ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2563  เขื่อนขุนด่านฯ มีปริมาณน้ำในอ่างฯประมาณ 216 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 96 ของความจุอ่างฯ มีการระบายน้ำวันละประมาณ 1.70 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำนี้จะไหลลงสู่แม่น้ำนครนายก

 
โดยที่สถานีวัดน้ำ Ny.1B ต.เขานางบวช อ เมืองนครนายก (10 ต.ค. 63)มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 24 ลบ.ม./วินาที (ความจุลำน้ำ 247 ลบ.ม./วินาที) หรือประมาณ 2 ล้าน ลบ.ม./วัน ต่ำกว่าตลิ่ง 4 เมตร ยังสามารถรับการระบายน้ำจากอ่างฯได้อีกประมาณ 223 ลบ.ม./วินาที หรือประมาณ 19 ล้าน ลบ.ม./วัน ซึ่งกรมชลประทาน จะควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน 
 

สำหรับปริมาณน้ำที่เก็บกักจนเกือบเต็มความจุอ่างฯนี้ จะส่งผลดีต่อเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำนครนายก ลุ่มน้ำปราจีนบุรี และลุ่มน้ำบางปะกง ทำให้ในช่วงฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึงนี้มีน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์อย่างเพียงพอ อีกทั้งยังช่วยชะลอการรุกตัวของความเค็มในแม่น้ำบางปะกงได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

 

เขื่อนขุนด่านประการชล

นายสัญญา กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน พร้อมกับมีการตรวจสอบสภาพความมั่นคงของเขื่อนอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่จากส่วนความปลอดภัยเขื่อนของกรมชลประทาน ลงพื้นที่ไปตรวจสอบสภาพความมั่นคงของเขื่อนขุนด่านฯอย่างละเอียด 


"ขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นได้ว่าเขื่อนขุนด่านปราการชล ยังมีความมั่นคงแข็งแรง ปลอดภัย และสามารถเก็บกักน้ำเพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้านี้อย่างเต็มศักยภาพ และไม่กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอย่างแน่นอน”