ผู้ว่าฯอัศวิน เรียกประชุม 50 สำนักงานเขตถกด่วนรับมือพายุดีเปรสชั่น

06 ต.ค. 2563 | 13:40 น.
1.5 k

ผู้ว่าฯอัศวิน เรียประชุม 50 สำนักงานเขตกทม.รับมือพายุดีเปรสชั่น ในวันที่ 7-9 ต.ค. พร้อมรับเสียงบ่นหลังฝนตกน้ำท่วมกรุงเทพฯ

พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ได้โพสต์ข้อความส่วนตัว่า ช่วงนี้ฝนตกต่อเนื่องและหนักมาก ก็ต้องยอมรับครับว่าพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากจริงๆ โดยเฉพาะบ้านเรือนในพื้นที่ลุ่มต่ำ เป็นแอ่ง และติดคลอง ซึ่งในวันที่ 7-9 ต.ค.นี้ กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศ ได้ออกมาแจ้งเตือนอีกว่า จะมี พายุดีเปรสชั่น, ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมากอีกครั้ง กทม.จึงได้เรียกประชุม 50 สำนักงานเขต เพื่อกำชับการปฏิบัติทั้งด้านการป้องกันและรับมือให้ดีที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับที่​ 2 เตือนพายุดีเปรสชันถล่ม 7-9 ต.ค.​

เฝ้าระวัง 2อ่างเก็บน้ำ "ขุนด่านปราการชล - หนองปลาไหล"

ประกาศเฝ้าระวังพายุ 7-12 ต.ค. พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม

ด่วน ปภ.นครราชสีมา สั่ง “เฝ้าระวัง” สถานการณ์น้ำท่วมเขตเทศบาล

 

ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ก็มีเสียงต่อว่าถึงการทำงานของ กทม. ซึ่งผมไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ น้อมรับฟังและจะเร่งแก้ไขปัญหาในทุกจุดแม้จะไม่ใช่พื้นที่ในความรับผิดชอบของกทม.ก็ตาม  แต่กทม.ก็ไม่เคยนิ่งนอนใจต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง เจ้าหน้าที่ของเราก็ทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ว่าฝนจะตกดึกดื่นแค่ไหนก็ต้องออกไปดูแลพื้นที่ และเรามีการพัฒนาระบบระบายน้ำในภาพรวมอย่างต่อเนื่อง เช่น แก้มลิงใต้ดิน หรือ water bank ที่เปิดใช้งานแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณวงเวียนบางเขน และปากซอยสุทธิพร 2 ซึ่งก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้น่าพอใจ ส่วนที่กำลังก่อสร้างอยู่อีก 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณใต้สะพานทางแยกต่างระดับถนนศรีนครินทร์ตัดกับถนนกรุงเทพกรีฑา และใต้สะพานข้ามแยกรัชดาภิเษกตัดกับถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งจะก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้งานได้ราวๆ กลางปี 64 ก่อนฤดูฝนหน้าครับ

นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างทางลัดน้ำใต้ดิน (pipe jacking) และ อุโมงค์ระบายน้ำ ทั้งที่เปิดใช้แล้วเต็มศักยภาพ และที่กำลังก่อสร้างเพิ่มเติม เช่น อุโมงค์บึงหนองบอน ที่จะแล้วเสร็จปลายปี 2564 เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังย่านบางนา พระโขนง สวนหลวง ประเวศ อีกด้วย

ส่วนการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงต่างๆ ได้มีการลอกท่อโดยจ้างเหมาเอกชนและเจ้าหน้าที่ของกทม.เอง ไม่ได้จ้างกรมราชทัณฑ์เหมือนทุกครั้งด้วยติดขัดด้านข้อกฎหมาย โดยปี 63 กทม.ได้ลอกท่อกว่า 3,300 กิโลเมตร ครบตามแผนงาน 100% ส่วนที่ไม่ได้อยู่ในแผนลอกท่อของปีนี้ ก็จะดำเนินการในปีหน้า สลับหมุนเวียนไปครับ เพราะท่อในพื้นที่กทม.มีความยาวถึง 6,200 กิโลเมตร แต่หากประชาชนร้องเข้ามา เจ้าหน้าที่จะไปตรวจสอบและดำเนินการให้ครับ  รวมไปถึงในช่วงที่ฝนตก เจ้าหน้าที่ก็ได้ลงพื้นที่เก็บขยะหน้าตะแกรง หน้าสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ และอุโมงค์ระบายน้ำมาตลอด เพื่อป้องกันขยะกีดขวางทางน้ำ รวมไปถึงเก็บขยะชิ้นใหญ่ทุกสัปดาห์ เพื่อลดและป้องกันการลักลอบทิ้งขยะชิ้นใหญ่ลงคลองกีดขวางทางน้ำเช่นกัน

แม้ปัญหาน้ำท่วมจะเกิดมาจากหลายปัจจัย  กทม.จะเดินหน้าทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อดูแลและบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนครับ