นายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า จากแนวทางการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารเพื่อให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มเข้าถึงอาหารอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนเป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ในการร่วมบรรเทาปัญหาทุพโภชนาการในเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารและพื้นที่ห่างไกล ปัจจุบัน ซีพีเอฟได้พัฒนาระบบการติดตามผลการเลี้ยงไก่ไข่ของโรงเรียน โดยนำระบบ CHATBOT มาใช้ เป็นการรายงานข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่น ไลน์ (Line) เพื่อให้สามารถติดตามข้อมูลการเลี้ยงได้ทุกวัน อาทิ จำนวนไก่และอาหาร จำนวนไก่ตายคัดทิ้ง ผลผลิตไข่ไก่ ไก่ปลด รายงานการเลี้ยง ต้นทุนและรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตไข่ไก่ เป็นต้น โดยคุณครูและนักเรียนที่รับผิดชอบมีหน้าที่บันทึกข้อมูลดังกล่าวและรายงานผ่านระบบไลน์
หรือกรณีที่โรงเรียนพบปัญหาในการเลี้ยง ก็สามารถรายงานผ่านระบบดังกล่าวได้ เพื่อซีพีเอฟจะได้ส่งผู้เชี่ยวชาญหรือสัตวบาลให้คำแนะนำได้ทันท่วงทีเป็นการสื่อสาร 2 ทาง
ปัจจุบันได้นำระบบ CHATBOT ใช้กับทั้ง 855 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งได้รับความร่วมมือในการบันทึกข้อมูลและการรายงานข้อมูลเป็นอย่างดี ช่วยให้สามารถติดตามการเลี้ยงได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ในแต่ละสัปดาห์ซีพีเอฟมีการส่งสัตวบาล ติดตาม ดูแลและให้คำแนะนำการเลี้ยงไก่ไข่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนให้ดำเนินการได้อย่างยั่งยืน และบรรลุเป้าหมายแก้ปัญหาทุพโภชนาการของเด็กและเยาวชนได้อย่างแท้จริง
“กว่า 30 ปีของการดำเนินโครงการ มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 855 แห่ง เด็กและเยาวชนเข้าถึงอาหารโปรตีนคุณภาพมากกว่า 150,000 คน สนับสนุนโรงเรียนเป็นแหล่งอาหารที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาทางร่างกายและสติปัญญาอย่างสมวัย และเป็นแหล่งเรียนรู้อาชีพของคนในชุมชนต่อไป"นายสมคิดกล่าว
ในส่วนของ ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ใช้ความเชี่ยวชาญเรื่องการเลี้ยงไก่ไข่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่คุณครู เด็กนักเรียน และยังขยายผลไปถึงชุมชน เพื่อให้นำไปประยุกต์ใช้เป็นอาชีพสร้างรายได้ และเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
โครงการดังกล่าว ยังเป็นการส่งเสริมเด็กนักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้ด้านโภชนาการ การเกษตรแผนใหม่ ที่สามารถนำไปใช้เป็นอาชีพต่อไปได้ และเป็นการเสริมกระบวนการเรียนรู้การบริหารจัดการเชิงธุรกิจ เนื่องจากผลผลิตไข่ไก่ที่ได้จะถูกนำส่งเข้าสหกรณ์ของโรงเรียน เพื่อขายให้โครงการอาหารกลางวันนักเรียน ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
ด้าน นายชาญณรงค์ โยธาพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกไพล กล่าวว่า โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ทำให้นักเรียนมีแหล่งอาหารโปรตีนไว้รับประทานในโครงการอาหารกลางวันนักเรียน เด็กๆได้ฝึกความรับผิดชอบ รู้จักทำงานร่วมกัน มองประโยชน์ของส่วนรวม รวมทั้งมีแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรียนที่เป็นระบบและถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยมีผู้ชำนาญการด้านการเลี้ยงไก่ไข่ของซีพีเอฟให้คำแนะนำ เป็นการยกระดับความรู้ใหม่ๆจากประสบการณ์ที่เจ้าหน้าที่ซีพีเอฟถ่ายทอดให้แก่คุณครูและนักเรียน ซึ่งโรงเรียนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และยังถ่ายทอดให้แก่โรงเรียนใกล้เคียงได้อีกด้วย
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าว ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะการจัดการด้านธุรกิจ อาทิ รู้จักคำนวณต้นทุนไก่ อาหารไก่หรือผลผลิตไข่ไก่ที่ส่งเข้าสหกรณ์เพื่อขายต่อไปยังโครงการอาหารกลางวันนักเรียน ทำให้เด็กนักเรียนรู้จักคำนวณเรื่องต้นทุน กำไร เป็นการวางแผนธุรกิจที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อไปได้