ลอรีอัล ปรับแผนธุรกิจเข้มข้น เดินหน้าสู่เป้าความยั่งยืน

10 ก.ค. 2563 | 10:40 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2563 | 17:45 น.
692

ลอรีอัล กรุ๊ป เผยวิสัยทัศน์ใหม่เพื่อความยั่งยืน “L’ORÉAL FOR THE FUTURE” ตั้งเป้าหมายกับพันธสัญญาล่าสุดสำหรับปี 2030 มุ่งยกระดับเร่งการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานโดยคำนึงถึงขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก ร่วมแก้ไขปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ตอกย้ำพันธสัญญาของบริษัทด้านความยั่งยืน และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม พร้อมริเริ่มการแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการตรวจสอบ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน

นายฌอง-พอล แอกง ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของลอรีอัล กรุ๊ป กล่าวว่า การพลิกโฉมการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนของลอรีอัลกำลังก้าวเข้าศักราชใหม่ ปัญหาหลายอย่างที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบันนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การเร่งยกระดับการทำงานบริษัทฯ เพื่อร่วมช่วยรักษาโลกให้ปลอดภัย จึงเป็นภารกิจสำคัญ ทั้งนี้ ลอรีอัล จะดำเนินงานทั้งในส่วนธุรกิจของเราเอง และส่วนการช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในภาพรวม  บริษัทฯ มีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกเป็นที่ตั้งอย่างเคร่งครัด

การปฎิรูปธุรกิจของลอรีอัลเพื่อไม่ละเมิด “ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก” (planetary boundaries มีข้อจำกัด หากถูกละเมิดจะเป็นอันตรายต่อสภาวะความเหมาะสมของโลก สำหรับการอยู่อาศัยและพัฒนาการของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเห็นพ้องอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า ในช่วงทศวรรษต่อๆ จากนี้ เราจำต้องให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นลำดับต้นๆ เพื่อมนุษยชาติ ลอรีอัลจึงได้ตั้งเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจทั้งหมดให้อยู่ภายใต้ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกดังกล่าวให้สำเร็จ

ด้วยเหตุนี้ บริษัทฯ จึงได้กำหนดเป้าหมายใหม่สำหรับปี 2030 เพื่อรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย กำหนดเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets initiative) พร้อมยกระดับแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอีก 3 ประการ ได้แก่ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน โดยลอรีอัลจะไม่เพียงมุ่งลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงเท่านั้น แต่ยังต้องการลดผลกระทบของกิจกรรมทั้งหมด ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเออร์และผู้บริโภคของบริษัทฯ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจนั้นคำนึงถึงโลกที่มีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด และเป็นธรรมต่อชุมชนที่บริษัทฯ ทำงานด้วย

นางอเล็กซานดรา พัลต์ รองประธานบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความรับผิดชอบขององค์กร ลอรีอัล กรุ๊ป กล่าวว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ลอรีอัลได้เปลี่ยนแปลงอย่างมากและนำความยั่งยืนมาเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจ ด้วยพันธสัญญาใหม่นี้ บริษัทฯ ได้ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้ง ที่ไม่เพียงแต่มุ่งลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำงานให้มากยิ่งขึ้น แต่ยังสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการเลือกสรรผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมความงาม ลอรีอัลเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือหน้าที่ 

เป้าหมายสำคัญที่ลอรีอัลได้กำหนดบนพื้นฐานการทำงานภายใต้ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก ได้แก่ ภายในปี 2025 โรงงานและศูนย์กระจายสินค้าของลอรีอัลทุกแห่ง ต้องไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ (carbon neutral) ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้พลังงานทดแทน 100% ภายในปี 2030 พลาสติกใช้ในบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ลอรีอัลทั้งหมด 100% จะมาจากพลาสติกรีไซเคิล หรือ จากแหล่งวัสดุชีวภาพ และภายในปี 2030 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละผลิตภัณฑ์สำเร็จลง 50% เมื่อเทียบกับปี 2016

การสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนตลอดระบบนิเวศทางธุรกิจ ที่รวมถึงคู่ค้า ผู้ผลิต และผู้บริโภค เป็นส่วนหนึ่งในความรับผิดชอบของบริษัทในการดำเนินงาน ลอรีอัลได้พัฒนาการแสดงข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคกว่า 1.5 พันล้านคนทั่วโลก ตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยการแสดงข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม มีคะแนนระดับ A ถึง E โดย “A” หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ “มีความเป็นเลิศด้านความยั่งยืนมากที่สุด” ในแง่ของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถตรวจสอบได้บนหน้าเว็บไซต์ของแบรนด์ โดยระดับคะแนนดังกล่าวได้การตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และรับรองข้อมูล โดย บูโร เวอริทัส เซอร์ทิฟิเคชั่น (Bureau Veritas Certification) หน่วยงานด้านการตรวจสอบอิสระระดับโลก โดยแบรนด์แรกที่จะมีการแสดงข้อมูลนี้ คือผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมของแบรนด์การ์นิเย่ ซึ่งนับเป็นแบรนด์ความงามอันดับสามของโลก และเป็นผู้นำในตลาดที่ประเทศฝรั่งเศส โดยการแสดงข้อมูลนี้จะทยอยขยายการดำเนินงานไปยังประเทศอื่น รวมถึงแบรนด์อื่นๆ และทุกหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ของลอรีอัลต่อไป

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ลอรีอัลได้ประกาศแผนการช่วยเหลือปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเร่งด่วนด้วยการจัดสรรงบประมาณ 150 ล้านยูโร (ประมาณ 5.2 พันล้านบาท) โดยงบประมาณดังกล่าวจะถูกนำไปใช้แก้ไขปัญหาต่างๆ แบ่งเป็น 100 ล้านยูโร (ประมาณ 3.5 พันล้านบาท) สำหรับการให้ทุนเพื่อจัดการกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดย 50 ล้านยูโร (ประมาณ 1.7 พันล้านบาท) จะเป็นเงินทุนสำหรับโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและป่าไม้ที่เสียหาย ผ่านกองทุน L’Oréal Fund for Nature Regeneration ซึ่งดำเนินการโดย Mirova บริษัทในเครือของ Natixis Investment Managers 

ส่วนอีก 50 ล้านยูโร (ประมาณ 1.7 พันล้านบาท) จะใช้ในการให้ทุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยเหลือสตรีผู้ด้อยโอกาส โดย ลอรีอัล ได้ตั้งกองทุนบริจาคเพื่อการกุศลอีก 50 ล้านยูโร (ประมาณ1.7 พันล้านบาท) เพื่อช่วยสนับสนุนองค์กรภาคสนามและองค์กรการกุศลท้องถิ่นในการต่อสู้กับความยากจน ช่วยเหลือสตรีให้สามารถประสบความสำเร็จในสังคมและวิชาชีพ ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พิการสตรี และป้องกันความรุนแรงต่อสตรีและช่วยเหลือเหยื่อที่ได้รับผลกระทบ
 
ในด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2017 ลอรีอัล ประเทศไทย ได้เปิดศูนย์กระจายสินค้าสีเขียวของลอรีอัลแห่งแรกในเอเชีย ที่ได้การรับรองมาตรฐาน LEED ระดับ Silver โดยศูนย์กระจายสินค้าได้ลดการใช้พลังงานและน้ำ พัฒนาระบบขนส่ง ริเริ่มโครงการรีไซเคิล และดำเนินการพัฒนาศูนย์ฯ ให้เป็นมิตรและลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

ด้านการช่วยเหลือและพัฒนาสังคม ลอรีอัล ประเทศไทย ได้ดำเนินการโครงการที่แข็งแกร่งในการช่วยเหลือผู้คนในชุมชนที่ด้อยโอกาสให้มีโอกาสได้รับการจ้างงานผ่าน โครงการจัดหาจัดจ้างเพื่อผู้ขาดโอกาสทางสังคม (Solidarity Sourcing) และ โครงการสอนทักษะอาชีพเสริมสวยแก่ผู้ด้วยโอกาส (Beauty For a Better Life) นอกจากนั้น ลอรีอัล กรุ๊ป ยังได้จัดซื้อน้ำมันรำข้าวหอมมะลิที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมและผิวหนังจากเกษตรกรในประเทศไทย โดยทำงานร่วมกับ 4 สหกรณ์ในภาคอีสานที่เกษตรกรรายย่อยที่กำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการค้าอย่างเป็นธรรม สนับสนุนขีดความสามารถของคนในชุมชน และพัฒนาระบบวนเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบที่ช่วยสร้างสมดุลคาร์บอนอีกด้วย โดยจากทุกโครงการที่กล่าวมา มีผู้ได้รับผลการช่วยเหลือในประเทศไทยราว 1,200 คน

นอกจากนี้ ในส่วนผู้บริโภคในไทย จะได้มีโอกาสในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ความงามที่มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์ของลอรีอัลที่นำมาจัดจำหน่ายในประเทศไทย ล้วนได้รับการพัฒนาให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วยสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านส่วนผสมทางชีวภาพ บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิลหรือวัสดุชีวภาพ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ของผู้บริโภคได้

ลอรีอัลตระหนักถึงการตอบสนองต่อความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว ในฐานะบริษัทที่มีอุตสาหกรรมการผลิต ลอรีอัลได้เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมโดยการให้ความสำคัญและดำเนินการจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโรงงานและศูนย์กระจายสินค้าเป็นลำดับแรก โดยการเปลี่ยนแปลงช่วงแรกได้ใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยตั้งแต่ปี 2005 บริษัทฯ สามารถลดการปล่อยก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์ของโรงงานและศูนย์กระจายสินค้าลงถึง 78% เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2020 ที่ตั้งไว้ 60% ในขณะที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 37% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ลอรีอัล ปรับแผนธุรกิจเข้มข้น เดินหน้าสู่เป้าความยั่งยืน

ปลายปี 2019 ลอรีอัลมีโรงงานและศูนย์กระจายสินค้าที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิออกสู่ชั้นบรรยากาศ หรือใช้พลังงานทดแทน 100% ถึง 35 แห่ง โดยเป็นโรงงานถึง 14 แห่ง และในปี 2013 ลอรีอัลเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ความงาม เปิดตัววิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนระดับโลกปี 2020 “แบ่งปันความงามให้ทุกสรรพสิ่ง” หรือ “Sharing Beauty With All” โดยมีแกนหลักของวิสัยทัศน์คือนวัตกรรม SPOT (เครื่องมือประเมินเพื่อพัฒนาความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์) ในการประเมินและปรับปรุงประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของผลิตภัณฑ์ในทุกแบรนด์ โดยการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ถูกควบรวมเข้ากับกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทฯ ตั้งแต่เริ่มต้นคิดค้นผลิตภัณฑ์

85% ของผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นใหม่หรือปรับสูตรในปี 2019 ได้รับการพัฒนาคุณลักษณะให้เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคมมากขึ้น นอกจากนี้ ในปี 2019 ลอรีอัลได้ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสจำนวน 90,635 คน ให้มีโอกาสในการทำงานผ่านโครงการจัดหาอย่างมีจริยธรรม และลอรีอัลยังเป็นบริษัทฯ เดียวในโลก ที่ได้รับการประเมินเกรด “A” จากการจัดอันดับ CDP องค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์ด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวม 3 ด้าน คือ การปกป้องสภาพภูมิอากาศ การจัดการน้ำ และการอนุรักษ์ป่าไม้ ต่อเนื่องกัน 4 ปีซ้อน

 รศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ทูตแห่งมหาสมุทรเพื่อความยั่งยืนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก เป็นการประเมินถึงศักยภาพของโลกในการรับมือกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีกิจกรรมมากมายที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และกำลังจะก้าวข้ามขีดจำกัดความปลอดภัยมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สิ่งสำคัญคือขีดจำกัดความปลอดภัย มีขอบเขตและต้องได้รับการแก้ไขร่วมกัน ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้ผลิต รวมทั้งผู้บริโภคเอง ต้องร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนภายในปี 2030 เพื่อความเป็นอยู่อย่างยั่งยืนของทุกคนและโลกใบนี้