กรมควบคุมโรค เตือนระวังภัยเงียบจากการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ 

13 มิ.ย. 2563 | 17:04 น.

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระวังภัยเงียบจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบ บีและซี ที่เป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย ซึ่งสามารถถ่ายทอดเชื้อสู่ผู้อื่นได้ และเป็นสาเหตุนำไปสู่ภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับได้ 

วันนี้ (13 มิ.ย.63) นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธาณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีดารานักแสดงเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับ ซึ่งมีผลมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบนั้น  กรมควบคุมโรค ขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของผู้เสียชีวิต และขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบว่า ไวรัสตับอักเสบ สามารถถ่ายทอดเชื้อสู่ผู้อื่นได้ และเป็นสาเหตุนำไปสู่ภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับได้ โดยมี 5 ชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ เอ บี ซี ดี และอี โดยไวรัสตับอักเสบที่เป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ บีและซี 
โดยสามารถแบ่งอาการออกเป็น 2 ระยะ คือ โรคตับอักเสบเฉียบพลัน และโรคตับอักเสบเรื้อรัง โดยอาการของโรคตับอักเสบเฉียบพลัน คือ ตัวเหลือง ตาเหลือง มีไข้ ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา เซลล์ตับถูกทำลาย ซึ่งผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบ บี มีเพียงร้อยละ 5-10 ที่มีโอกาสเป็นตับอักเสบเรื้อรัง  ส่วนโรคตับอักเสบบีเรื้อรัง จะมีอาการนานเกินกว่า 6 เดือน โดยแบ่งได้อีกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

กรมควบคุมโรค เตือนระวังภัยเงียบจากการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ 

1.ชนิดตับอักเสบเรื้อรังไม่รุนแรง (Chronic Persistent)  แบบค่อยเป็นค่อยไป  และ 2.ชนิดตับอักเสบเรื้อรังแบบรุนแรง (Chronic Active Hepatitis) เป็นอาการอักเสบที่เกิดจากตับถูกทำลายไปมากและเกิดอาการตับแข็ง ในผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยมักไม่มีอาการเกิดขึ้น แต่เชื้อไวรัสจะทำลายตับไปเรื่อยๆ จนเกิดอาการตับแข็ง และท้ายสุดก็จะกลายเป็นมะเร็งตับ

นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์โรคไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย พบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีเรื้อรัง ประมาณ 2.2–3 ล้านคน มีอัตราความชุกประมาณร้อยละ 4–5 ของประชาชนที่เกิดก่อนปี พ.ศ.2535 ทำให้ปัจจุบันพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีเรื้อรัง ในประชากรที่อายุ 30 ปีขึ้นไปเป็นส่วนมาก ส่วนประชาชนที่เกิดหลังปี พ.ศ.2535 ได้มีการบรรจุวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนของประเทศ ทำให้พบอัตราความชุกที่ลดลง ร้อยละ 0.6  ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี คือกลุ่มประชากรที่เกิดก่อนปีพ.ศ. 2535 ซึ่งต้องมาตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป  ส่วนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ประมาณ 7.5 แสนคน พบมากในผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด

กรมควบคุมโรค เตือนระวังภัยเงียบจากการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ 

สำหรับไวรัสตับอักเสบ ซี ไม่สามารถพยากรณ์โรคได้ว่าจะเป็นแบบไวรัสตับอักเสบ บี เนื่องจาก หลังการติดเชื้ออาจเกิดมะเร็งตับ โดยไม่ต้องมีภาวะตับแข็งก่อนได้ และการรักษาโดยใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซี ที่ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ สามารถรักษาให้หายได้ เพียงรับประทานยาต่อเนื่อง 4 เดือน 

 

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสมาคมตับแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญของการป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ และมีการผลักดันในเชิงนโยบาย เพื่อให้ทุกกลุ่มประชากรได้รับสิทธิประโยชน์มาอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนสิงหาคม 2563 นี้ จะมีการรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบ บีและซี ได้ฟรี ณ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมโครงการ  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ตั้ว-ศรัณยู' กรณีศึกษาจากการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับ

"ตั้ว ศรัณยู" กับ โรคร้าย มะเร็งตับ ที่ทุกคนควรรู้