แนะ 5 เคล็ดลับเอสเอ็มอี ส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

31 พ.ค. 2563 | 21:36 น.

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 การส่งสินค้าไปต่างประเทศอาจมีความล่าช้า ซึ่งโดยมากเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับพิธีการทางศุลกากรซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในสถานการณ์เช่นนี้ รวมถึงปัญหาการเดินเอกสารเพื่อเคลียร์สินค้าในประเทศปลายทาง 

นายเฮอร์เบิต วงศ์ภูษณชัย กรรมการผู้จัดการ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย และหัวหน้าภาคพื้นอินโดจีน กล่าวว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์เหล่านั้นได้ด้วย 5 เคล็ดลับ ที่ช่วยให้พิธีการศุลกากรไม่มีปัญหา และส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้รวดเร็วโดยไม่มีอุปสรรค

แนะ 5 เคล็ดลับเอสเอ็มอี ส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

1. เตรียมตัวให้พร้อมก่อนรุก เข้าใจกฏระเบียบและข้อบังคับของตลาด โดยเฉพาะเมื่อเริ่มส่งสินค้าไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก

ทำความเข้าใจกฎระเบียบและข้อบังคับของประเทศปลายทาง โดยเฉพาะเมื่อเริ่มส่งสินค้าไปขาย หรือส่งให้ผู้รับที่ต่างประเทศเป็นครั้งแรก มิฉะนั้น คุณอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด เกิดความล่าช้าในการจัดส่งสินค้าไปให้ลูกค้าหรือแม้แต่ต้องส่งสินค้ากลับไปประเทศต้นทาง

2. มองหาตัวช่วยจากหน่วยงานศุลกากรท้องถิ่น ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่จะมีหน่วยงานรัฐบาลที่ให้คําแนะนําด้านศุลกากรฟรีสำหรับเอสเอ็มอี

เอสเอ็มอีเผชิญกับข้อกําหนดในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น แม้ว่าสินค้าจะถูกส่งถึงประเทศปลายทางแล้ว แต่ต้องเป็นไปตามข้อกําหนดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ผู้ประกอบการควรใช้โอกาสจากการได้รับคำปรึกษาฟรีจากหน่วยงานต่างๆเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งนอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามกฎระเบียบแล้ว ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันกับคู่แข่งทางธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่าด้วย

3. ใช้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่เหมาะสำหรับผู้ส่งออกประเภท B2C

เมื่อเอสเอ็มอีส่งออกโดยตรงไปยังผู้บริโภคในประเทศต่างๆ มักจะนําโมเดลที่เรียกว่า "Duty and Tax Paid on Import" มาใช้ ซึ่งหมายความว่าผู้ประกอบการมีหน้าที่รับผิดชอบจัดการเกี่ยวกับการเดินพิธีศุลกากรในประเทศปลายทางทั้งหมดแทนที่จะให้ผู้ซื้อเป็นคนจัดการ อย่างไรก็ตาม นั่นหมายความว่าเอสเอ็มอีต้องสื่อสารกับตัวแทนต่างๆมากมายเพื่อจัดการเกี่ยวกับภาษีอากร และขั้นตอนพิธีการทางศุลกากรอื่นๆ การทํางานกับผู้ให้บริการเดียวที่สามารถให้บริการแบบ door-to-door ตั้งแต่รับของจากผู้ส่ง ดําเนินการส่งของเข้าไปยังประเทศปลายทางและส่งของถึงมือผู้รับจะช่วยลดความยุ่งยากในกรณีที่มีข้อติดขัด หรือความท้าทายอื่นๆที่เกิดขึ้น

4. ลองประยุกต์ใช้โมเดลการขายแบบ B2B: ขายผ่านช่องทางผู้จัดจำหน่ายในพื้นที่เพื่อช่วยเพิ่มจำนวนสินค้าส่งออกและส่วนแบ่งการตลาด

การจัดการด้านศุลกากรอาจจะดูเป็นเรื่องยุ่งยากสําหรับธุรกิจแบบ B2C ซึ่งคุณสามารถหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นี้ได้ด้วยการส่งออกไปยังผู้จัดจําหน่ายในพื้นที่ โดยทั่วไปผู้จัดจําหน่ายมักจะมีประสบการณ์ตรง หรือมีคําแนะนําที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหรือตลาดนั้นๆ และอาจอํานวยความสะดวกให้คุณได้มากกว่าหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเอื้อให้เอสเอ็มอีได้ประโยชน์ตรงที่สามารถเร่งครื่องทําธุรกิจ และขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ได้เร็วขึ้น บางครั้งการมีพาร์ทเนอร์ด้านการจัดจําหน่ายเพิ่มเข้ามาแล้วจะทําให้สัดส่วนกําไรของคุณลดลง แต่ก็แลกมาซึ่งความมั่นใจในการทําธุรกิจ ทําให้เอสเอ็มอีทำการส่งออกสินค้าได้เป็นจํานวนมาก และสามารถขยายส่วนแบ่งการตลาดในประเทศใหม่ๆได้อย่างราบรื่น

5. อย่ากลัวที่จะเติบโตอย่างยิ่งใหญ่

เมื่อเอสเอ็มอีสั่งสมความรู้และประสบการณ์ด้านการส่งออกเรื่องการเดินพิธีศุลกากรในแต่ละประเทศปลายทาง และกฏระเบียบการนำเข้าในแต่ละประเทศที่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์หรือสินค้าของตนเองจนคล่องแล้ว มั่นใจได้ว่าเอสเอ็มอีจะสามารถขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ ในประเทศใหม่ๆ ได้เร็วกว่าที่เคยเป็น การพัฒนาความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งที่ศุลกากรต้องการก่อนทำการค้าขายกับลูกค้าปลายทาง และการทํางานกับลอจิสติกส์พาร์ทเนอร์อย่างใกล้ชิดเป็นโอกาสที่เอสเอ็มอีจะได้เติมเต็มประสบการณ์ด้านการส่งออก การนำความรู้และประสบการณ์มาปรับใช้เป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจให้เติบโตทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลกได้อย่างรวดเร็ว และไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเอสเอ็มอีอีกต่อไป