ใกล้เป็นจริง บุคลากร สธ. 38,105 คนเฮ ชงก.พ.บรรจุเป็นขรก.

16 พ.ค. 2563 | 09:35 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2563 | 16:39 น.
2.6 k

อกพ.สาธารณสุขเคาะแล้วตำแหน่งบุคลากรส่งชื่อให้ก.พ.บรรจุเป็นข้าราชการ 38,105 อัตรา ขณะที่ ก.พ.นัดประชุม 19 พ.ค.นี้

 

นพ.เจตน์  ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กถึงผลการประชุมอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อกพ.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2563 ที่ผ่านมา ซึ่งได้พิจารณาถึงการกำหนดตำแหน่งบุคลากรสาธารณสุข เพื่อแต่งตั้งบรรจุเป็นข้าราชการ เบื้องต้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม จำนวนรวม 38,105 อัตรา ดังนี้

กลุ่มที่ 1 จำนวน 31,296 อัตรา

1.นายแพทย์ 277 อัตรา
2.พยาบาลวิชาชีพ 13,552 อัตรา
3.พยาบาลเทคนิค 55 อัตรา
4.นักรังสีการแพทย์ 152 อัตรา
5.เจ้าพนักงานรังสีการแพทย์ 12 อัตรา
6.นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก 47 อัตรา
7.นักเทคนิคการแพทย์ 1,437 อัตรา
8.เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ 26 อัตรา
9.นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 749 อัตรา
10.นักวิชาการสาธารณสุข 10,651 อัตรา
11.เจ้าพนักงานสาธารณสุข 2,372 อัตรา
12.เภสัชกร 563 อัตรา
13.เจ้าพนักงานเภสัชกรรม 1,403 อัตรา

วิชาชีพที่ต้องสอบแข่งกับตัวเองคือ 9, 10, 11 นักวิทยาศาสตร์การแพทย์, นักวิชาการสาธารณสุขและเจ้าพนักงานสาธารณสุข

บุคลากรสาธารณสุข

กลุ่มที่ 2 สายสนับสนุน จำนวน 6,809 อัตรา

1.นักจิตวิทยาคลีนิก 77 อัตรา
2.นักจิตวิทยา 325 อัตรา
3.นักเทคโนโลยีสารสนเทศ 51 อัตรา
4.นักวิชาการคอมพิวเตอร์ 2,123 อัตรา
5.นักกายภาพบำบัด 1,560 อัตรา
6.เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข 1,657 อัตรา
7.วิศวกร(ชีวการแพทย์) 19 อัตรา
8.นักวิชาการอาหารและยา 14 อัตรา
9.นักกิจกรรมบำบัด 92 อัตรา
10.นักโภชนาการ 688 อัตรา
11.โภชนากร 203 อัตรา

บุคลากรสาธารณสุข

นพ.เจตน์ ระบุว่า ต้องสอบทั้งหมดทุกประเภท ยกเว้นนักกายภาพบำบัดและเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข
ซึ่งก็เป็นเพียงการสอบแข่งกับตัวเอง หรือใช้มาตรา 55 ของพรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 คือคัดเลือกโดยไม่ต้องสอบแข่งขันกรณีมีเหตุพิเศษ(แต่สอบแข่งกับตัวเอง) ฟังดูจะเป็นข้อสอบง่ายๆ ที่เชื่อว่าจะสอบผ่านหมดทุกคน

ทั้ง 2 กลุ่ม ผลการประชุม อกพ.กระทรวงให้ส่งชื่อและเลขที่ตำแหน่ง ต้นสังกัดในสำนักงาน หน่วยงาน หรือสถานพยาบาลต่างๆ ในสธ.
ให้ก.พ.พิจารณา (ก.พ.กำหนดประชุม 19 พ.ค.)
พบว่ารายชื่อที่ส่งไปก.พ.มีบุคคลและจำนวนตำแหน่งตรงกัน ไม่มีบุคคลเกินหรือตำแหน่งเกิน

“ถ้าตกชื่อใครไปแสดงว่าชื่อตกมาจากเขต
ก.พ.จะตรวจพิจารณาว่าตำแหน่งตรงหรือไม่ บุคคลมีคุณสมบัติตรงตามสายงานหรือเปล่า แล้วจะกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการการสอบให้สธ.ปฏิบัติ”

นพ.เจตน์ กล่าวว่า ทุกครั้งของการสอบก.พ.จะมีผู้ผ่านการสอบเพียงร้อยละ 10 แต่ครั้งนี้น่าจะผ่านหมด หรือถ้าไม่ผ่านร้อยละ 5-10 อาจมาจากคุณสมบัติไม่ตรง

“ขอแสดงความดีใจล่วงหน้ากับน้องๆ ที่จะได้เข้ามาเป็นข้าราชการ จากผลงานที่เสียสละต่อสู้กับ Covid-19 มาอย่างหนักและเหน็ดเหนื่อย ทั้งการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยตรงและฝ่ายสนับสนุน รวมทั้งทำหน้าที่สอบสวนโรค ติดตามผู้ป่วยในสถานที่แยกกัก กักกัน หรือเฝ้าระวังโรค
ดีใจที่น้องๆ จะได้เป็นข้าราชการในยุคที่มีความมั่นคงกว่าภาคเอกชน ยุคที่บัณฑิตใหม่จะมี
ความลำบากในการหางานทำจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวางที่เกิด
จากการระบาดของไวรัส”

นพ.เจตน์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับน้องๆ ในกลุ่มที่สาม คงต้องรอไปเดือนพฤศจิกายน ตามมติครม. ซึ่งต้องถือว่าโชคดีมากกว่าบัณฑิตสายอื่นๆ แล้วครับ