ทางรอดหลังโควิด-19  เร่งแบรนดิ้งตัวเอง รับการทำงานแบบไฮบริด

16 พ.ค. 2563 | 11:45 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2563 | 18:50 น.
679

ใครหัวหมอ ใครไม่แอกติ้ง องค์กรไม่ต้องการ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างแบรนด์ของตัวเอง ต้องพร้อมที่จะยกมือ การมีทัศนคติที่ดีและสามารถ “ทำงานให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่เสร็จ” นั่นคือ การทำให้ตัวเราเองมีคุณค่ามากขึ้น

 

 

COVID-19 ได้เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดพฤติกรรมและแนวทางการทำงานใหม่ๆ มากมาย การตั้งรับเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอแล้ว ณ ปัจจุบัน วันนี้ หนึ่งในนักการตลาดและนัดคิด “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ผู้ร่วมก่อตั้งหลักสูตร ABC และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการตลาด และรักษาการ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาให้ข้อคิดกับผู้นำและคนทำงาน ผ่านหัวข้อ “รวมพลัง ผู้นำเข้มแข็ง” โควิด-19 จะรอดหรือร่วง ที่จัดโดย “สลิงชอท กรุ๊ป”

“ธนา” แสดงความคิดเห็นว่า การค่อยๆ แก้ปัญหา การเป็นผู้นำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการดำเนินธุรกิจที่มีกระแสเงิน เป็นหัวใจสำคัญมากๆ กับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ New Normal หลังภาวะแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย “สิ่งที่ต้องคิด คือ เรื่องอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เราไม่สามารถวางแผนได้ว่า ทุกอย่างจะราบรื่นเสมอ ผู้นำต้องเตรียมใจ และต้องค่อยๆ แก้ปัญหา เท่าที่แก้ได้ ”

ธนา เธียรอัจฉริยะ

 

จากเดิมที่ไม่ประมาทแล้ว ผู้นำองค์กรทั้งหลายต้องเตรียมความพร้อมในความไม่ประมาทตลอดเวลา และสามารถแก้ไขปัญหาได้ตลอดเวลา

การที่มีมาตรการกักตัวอยู่บ้าน ทำงานมีการทำงานแบบ Work from Home และในรูปแบบการทำงานนี้ ทำให้เกิดการประชุมออนไลน์ ซึ่งเป็นจังหวะที่ดี เพราะการประชุมออนไลน์จะทำให้ทุกคนหยุดฟังกัน และคิดไปด้วยกัน ต่างจากการประชุมเห็นหน้า ที่บางครั้งอาจจะแย่งกันพูด หรือบางคนอาจไม่สนใจฟัง การฟังและคิดไปพร้อมๆ กัน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการรับรู้ถึงความคิดเห็นของแต่ละคน แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม

ผู้บริหารนักคิดคนนี้ ยังบอกต่ออีกว่า ต่อไปการทำงานจะไม่เหมือนเดิม แต่จะเป็นไฮบริด หรือเป็นการทำงานแบบ Remote Working ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ Work from Home จะกลายมาเป็นแฟกเตอร์หลักของการทำงาน การทำงานต่อไปจะมีการผสมผสานทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ การรับ-ส่งงาน สามารถทำได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องมาเจอหน้ากันเหมือนการทำงานแบบเดิม ข้อดีของการทำงานคือสามารถเลือกทำงานตามบรรยากาศที่ตัวเองชอบ ช่วงเวลาที่ชอบทำงาน ซึ่งจะทำให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน และความคิดที่สร้างสรรค์ได้มากขึ้นด้วย

กลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ ไม่ได้เลือกการทำงานแบบ Remote เพียงเพราะเป็นการทำงานแบบอิสระทำอะไรก็ได้แค่มีงานส่ง แต่เป็นปัจจัยเรื่องการเดินทางที่งานหรือบริษัทที่ตัวเองชอบจริงๆ อยู่ไกล เลยจำเป็นต้องตัดใจแล้วเลือกงานที่รองลงมาแทน เพราะฉะนั้น ต่อไปปัจจัยด้านทำเลที่ตั้งออฟฟิศ รวมถึงร้านค้า หรือแม้แต่โครงการที่อยู่อาศัย ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป บริษัทจะได้พนักงานที่ต้องการทำงานกับองค์กรจริงๆ โดยตัดปัจจัยเรื่องสถานที่ทำงานอยู่ไกลออกไป ในขณะที่ผลลัพธ์ของงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ที่เต็มที่

นอกจากนี้ บรรดาซูเปอร์แอพพลิเคชัน หรือแอพพลิเคชันที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อ ระหว่างคนกับอาหาร คนกับโรงแรม หรือคนกับที่ทำงาน จะกลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต ซึ่งแอพเหล่านี้ กว่า 90% เป็นของต่างชาติ โดยเจ้าของแอพสามารถนำดาต้าที่ได้ไปต่อยอดธุรกิจได้อีกมหาศาล นั่นคือ สิ่งที่นักคิดนักพัฒนาคนไทยต้องเร่งมือ เพื่อแข่งขันกันบรรดาซูเปอร์แอพที่มีอยู่ในปัจจุบัน

“ธนา” ยังฝากถึงบรรดาคนทำงานเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะทำให้องค์กรต่างๆ ปรับตัว มีการลดจำนวนคนเพื่อลดค่าใช้จ่าย พยายามรักษากระแสเงินสด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจยุคโควิค-19 นี้ เพราะฉะนั้นพนักงานต้องพยายามทำตัวเองให้มีคุณค่า มีทัศนคติที่ดี ตรงกับความต้องการขององค์กร ขณะเดียวกันแม้จะทำงานดี แต่หลบอยู่หลังเสา ก็อาจจะเป็นชื่อแรกๆ ที่บริษัทคัดออก

ทางรอดหลังโควิด-19  เร่งแบรนดิ้งตัวเอง รับการทำงานแบบไฮบริด

 

“เขาเห็นเราเป็นอย่างไร เจ้าของจะมองพนักงานไม่เหมือนเดิม ใครหัวหมอ ใครไม่แอกติ้ง องค์กรไม่ต้องการ ขณะเดียวกัน ต้องพร้อมที่จะยกมือ การมีทัศนคติที่ดี และสามารถ” ทำงานให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่เสร็จ “นั่นคือ การทำให้ตัวเราเองมีคุณค่ามากขึ้น”

“ธนา” ย้ำทิ้งท้ายว่า การทำธุรกิจในยุคนี้ “กระแสเงินสด คือหัวใจของทุกอย่าง” ทุกๆ ผู้นำพูดถึงเรื่องตรงนี้ เพื่อให้หลังโควิด จะทำอะไรก็สามารถทำได้ เพราะมีเงินสดอยู่ในมือ นอกจากกระแสเงินสด...คู่แข่งจะเยอะมากขึ้น ขณะที่ดีมานด์ลดลง คนที่ทำอะไรได้แค่ปานกลาง คือ ไม่รอดแน่นอน การทำธุรกิจต่อไป ต้องมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน คนจำได้

นั่นคือ ทางรอดของคนทำงาน และคนทำธุรกิจในยุคหลังโควิด -19 ในมุมมองของ “ธนา เธียรอัจฉริยะ”

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 24 ฉบับที่ 3,574 วันที่ 14 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ทางรอดหลังโควิด-19  เร่งแบรนดิ้งตัวเอง รับการทำงานแบบไฮบริด