ลอรีอัล ผลักดันนักวิจัยสตรี ย้ำความสำคัญงานวิทยาศาสตร์

11 พ.ค. 2563 | 17:12 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2563 | 19:15 น.

ลอรีอัล เดินหน้าโครงการ “ทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ครั้งที่ 18 ประจำปี 2563 โดยการสนับสนุนของยูเนสโก กรุงเทพฯ ประกาศเปิดรับสมัครนักวิจัยสตรีเพื่อชิงทุนวิจัยประจำปี 2563

นางอินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วิทยาศาสตร์มีความสำคัญยิ่งกว่าที่เคย โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ งานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์มีบทบาทและเป็นความหวังในการช่วยให้โลกผ่านวิกฤตของการระบาดและกลับมามีสุขภาวะดีเช่นเดิม เพราะโลกต้องการวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต้องการสตรี ลอรีอัล จึงเดินหน้าสนับสนุนให้ทุนวิจัยเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์แม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

 

โครงการ “ทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ครั้งที่ 18 ประจำปี 2563 เป็นโครงการที่ลอรีอัลดำเนินการต่อเนื่อง ด้วยการส่งเสริมนักวิจัยหญิง พร้อมสนับสนุนทุนวิจัย ทุนละ 250,000 บาท และโล่เกียรติคุณ โดยผู้สมัครต้องเป็นสตรี อายุไม่เกิน 40 ปี เป็นเจ้าของงานวิจัยอิสระใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ที่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดยมอบทุนสูงสุดจำนวน 5 ทุน โดยเปิดรับสมัครผ่านทางออนไลน์ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 กรกฎาคม 2563  สามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการและการสมัครได้ที่: www.fwisthailand.com
 

ที่ผ่านมา มีโครงการวิจัยจำนวนมาก ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม อาทิ งานวิจัยเรื่อง “เอนอีช (ENZease): เอนไซม์อัจฉริยะทูอินวันสำหรับกระบวนการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ของดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีเอนไซม์ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ซึ่งรับรางวัลเมื่อปี 2562 เป็นการคิดค้นเทคโนโลยีเอนไซม์จากเชื้อจุลินทรีย์ผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเอนไซม์ที่มี ศักยภาพสูง และนำไปสู่การพัฒนาเอนไซม์สัญชาติไทยที่สามารถนำไปใช้ทดแทนการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตผ้าฝ้ายในอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ 

 

เอนอีซ (ENZease) เอนไซม์อัจฉริยะทูอินวัน สำหรับกระบวนการผลิตสิ่งทอ ที่สามารถลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกได้พร้อมกันในขั้นตอนเดียว โดยสูตรเอนไซม์ที่พัฒนาขึ้น สามารถทดแทนการใช้สารเคมีได้ และยังใช้ปริมาณน้ำ เวลา และอุณหภูมิ น้อยกว่ากระบวนการผลิตผ้าแบบเดิมถึง 2 เท่า ช่วยลดต้นทุนการผลิตผ้าฝ้ายให้น้อยลง ผ้าฝ้ายจะมีคุณภาพดีกว่าทั้งด้านความแข็งแรง การย้อมติดสี สามารถนำเข้าสู่กระบวนการย้อมสีและพิมพ์ลาย เพื่อนำไปตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเอนอีซที่คิดค้นได้โดยทีมวิจัยนี้ยังสามารถเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพของผ้าไทยทั้งในระดับอุตสาหกรรมและสิ่งทอพื้นเมือง และเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสังคม เศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน โดยเฉพาะคนไทย ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตเอนไซม์เอนอีชได้ถูกถ่ายทอดให้กับผู้ผลิตเอนไซม์ในประเทศไทย เพื่อทำการผลิตในเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว