26 เมษายน 2563 ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยว่า จากกรณีที่มีเคสคนไข้เข้ามา 2 เคสแรกซึ่งเป็นหญิงวัย 61 ปี และหญิงวัย 74 ปี พบว่า มีไข้ตรวจวัดที่ด่านกรมควบคุมโรคที่สนามบิน จากการถอดรหัสพันธุกรรม พบว่า มีความใกล้เคียงกับ Bat sars coronavirus ใกล้เคียงกัน 80% ซึ่งผลงานนี้ตีพิมพ์ในวารสารโดยตัวเชื้อไวรัสที่พบในผู้ป่วยทั้งสองรายแรกนั้น ใกล้เคียงกับโคโรนาไวรัสที่มาจากค้างคาว 88%
ส่วนความใกล้เคียงซาร์โคโรนาไวรัสยุคแรกที่เคยระบาดแล้วมีอยู่ประมาณ 80 % และมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนตัวที่จะไปจับในมนุษย์ ดังนั้น จึงเห็นว่า ซาร์ไวรัสโคโรนาที่ผ่านมากับไวรัสซาร์ที่ระบาดในขณะนี้มีความแตกต่างกันโดยมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันในการจับตัวในมนุษย์และการก่อให้เกิดโรคที่แตกต่างกัน ซึ่งยังต้องศึกษาเพิ่มเติมในการก่อโรคโควิด-19
ทั้งนี้ สายพันธุ์ที่มีในปัจจุบันเมื่อนำเอาผลบวกของผู้ป่วยหลายรายที่นำมาถอดรหัสพันธุกรรมแล้ว พบว่า ในกลุ่มของเชื้อไวรัสจัดเป็นกลุ่ม เอ บี และซี ซึ่งกลุ่มเอ เป็นกลุ่มที่มีต้นตอ มาจากค้างคาว กลุ่มบี เป็นกลุ่มที่มีการกลายพันธุ์บางส่วนซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในอู่ฮั่นจะเห็นได้ว่าสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย เป็นกลุ่มบีเป็นส่วนใหญ่ ส่วนกลุ่มซีจะมีการกลายพันธุ์เล็กน้อยจากกลุ่มบี โดยเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในยุโรป และสิงคโปร์
ดร.พิไลลักษณ์ ยังระบุด้วยว่า เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปแล้วการวิเคราะห์ทั่วโลกได้แยกออกเป็นสายพันธุ์ เอส จี และวี โดยการวิเคราะห์ในประเทศไทยนั้น สายพันธุ์ที่พบ คือ สายพันธุ์ เอส แต่สายพันธุ์ทั้งหมดความแตกต่างมีเพียงแค่ 1 ตำแหน่งเท่านั้น ซึ่งยังไม่แสดงผลว่า มีการก่อโรคที่แตกต่างกันโดยในการศึกษาต่อไปจากที่ได้ทำไปแล้ว 40 รายจะถอดรหัสเพิ่มเติมจนครบ 100 ราย เพื่อดูการกระจายตัวและดูสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับการถอดรหัสพันธุกรรมในอนาคตนั้นจะร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และสภากาชาดไทย ดำเนินการต่อไป