14 เม.ย.บอร์ดประกันสังคมจ่อเยียวยาลูกจ้างตกงาน

13 เม.ย. 2563 | 13:30 น.
3.5 k

จับตาบอร์ดประกันสังคมเคาะเยียวยาลูกจ้างกรณีปิดกิจการชั่วคราว 14 เม.ย. นี้ ลุ้นแรงงานที่เข้าข่ายมีประมาณ 5 แสนราย

 

 

สืบเนื่องจากผลกระทบของการแร่ระบาดไวรัศโควิด-19 ทำให้โรงงานหลายแห่งได้รับผลกระทบและต้องหยุดการผลิตลงชั่วคราว จึงมีแรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบตกงาน 

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เปิดเผยว่าวันพรุ่งนี้(14 เม.ย.)  จะมีการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) เพื่อพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาให้กับแรงงานที่ตกงาน หรือต้องหยุดงานชั่วคราวจากการระบาดของโควิด-19 กลุ่มนี้ โดยมีประเด็นที่จะหยิบยกขึ้นพิจารณาดังนี้

คือ 1.โควิด-19 นั้น ถือว่าเป็น “เหตุสุดวิสัย” หรือไม่ เนื่องจากใน พ.ร.บ.ประกันสังคมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน บทบัญญัติกฎหมายไม่ได้ชี้ชัดว่า เหตุสุดวิสัยครอบคลุมถึงโรคระบาด ก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงานจึงทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า จะสามารถจ่ายเงินเพื่อเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้หรือไม่

ซึ่งกฤษฎีกาให้คำตอบกลับมาว่า บอร์ดประกันสังคมสามารถเป็นผู้พิจารณาชี้ขาดได้เลยว่า การเกิดโรคระบาดอย่างโควิด เป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ เพราะเป็นการระบาดวิกฤตรุนแรงไปทั่วโลกโดยไม่มีการคาดหมายมาก่อน

2.ประเด็นเรื่องศักยภาพของกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ขณะนี้ หากจะเยียวยาในส่วนนี้อาจจ่ายเงินเยียวยาให้ได้เพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น แต่หากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และอาจจะลากยาวไปถึง 6 เดือนหรือมากกว่านั้น จะสามารถนำเงินกองทุนประกันสังคม ซึ่งถูกแบ่งแยกตามภารกิจหน้าที่เป็น 4 ฟังก์ชั่น จากกองอื่นมาเฉลี่ยเพื่อจ่ายให้ผู้อยู่ในระบบประกันสังคมในภาวะที่มีความจำเป็นในสถานการณ์โควิดระบาดในขณะนี้ได้หรือไม่ เช่น การกู้ยืมเงินระหว่างกันได้หรือไม่ เป็นต้น

3.การบริหารกองทุนประกันสังคมในอนาคตภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว จะต้องบริหารอย่างไร รวมถึงการจัดกลุ่มของแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามฐานเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 บาท ฐานเงินเดือนที่ 20,000-25,000 บาท และฐานเงินเดือนที่ 30,000 บาท มีจำนวนในแต่ละประเภทอยู่เท่าไหร่ เพื่อใช้วางแผนสำหรับอนาคตของประกันสังคมใหม่ เนื่องจากรายละเอียดที่บังคับใช้ภายใต้ พ.ร.บ.ประกันสังคมในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะระดับฐานเงินเดือนที่สูงขึ้นกว่าเมื่อ 15 ปีก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ เมื่อประเมินเบื้องต้นพบว่ามีแรงงานที่ตกงาน หรือต้องหยุดงานชั่วคราว โดยรัฐไม่ได้สั่งให้หยุด แต่สถานประกอบการหรือนายจ้างหยุดกิจการเองจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 500,000 ราย

สำหรับเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาตามกฎหมายระบุว่า ต้องมีการจัดส่งเงินเข้าประกันสังคมอย่างน้อย 15 ปี ได้รับอยู่ที่ 62% จากฐานเงินที่ส่งเข้าประกันสังคมที่ 15,000 บาท ฉะนั้นเท่ากับว่า หากคำนวณแล้วจะต้องจ่ายอยู่ที่ราว 9,300 บาท ซึ่งหากบอร์ดประกันสังคมอนุมัติในสัปดาห์หน้า สามารถจ่ายเงินเยียวยาได้ทันที

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงแรงงานอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการเยียวยา อย่างเช่น กลุ่มที่ปิดกิจการไปก่อนหน้านี้ รวมถึงกลุ่มที่นายจ้างสั่งหยุดทำงาน แต่ยังจ่ายเงินเดือนอยู่ที่ 75% ของฐานเงินเดือนว่าจะมีมาตรการมาบรรเทาความเดือดร้อนในส่วนต่างรายได้ที่หายไปได้หรือไม่ และวิธีการจะเป็นอย่างไรด้วย