'ไอวีแอล' สอนเด็กชุมชนคลองเตยคัดแยกขยะรีไซเคิล

03 ม.ค. 2563 | 14:10 น.
4.1 k

ไอวีแอลจับมือเมอร์ซี่ เซ็นเตอร์ ให้ความรู้เด็กๆ จากโรงเรียนยานุส คอร์ซัค ชุมชนคลองเตย คัดแยกขยะรีไซเคิล เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการอย่างถูกวิธี ขยะพลาสติกมีมูลค่า และสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และชุมชนได้ หากรู้วิธีจัดเก็บที่ถูกต้อง และมีส่วนช่วยในการลดขยะในสิ่งแวดล้อม และชุมชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเด็ก และชุมชนคลองเตยอย่างยั่งยืน

\'ไอวีแอล\' สอนเด็กชุมชนคลองเตยคัดแยกขยะรีไซเคิล

เด็กๆ และวัยรุ่น จากโรงเรียนยานุส คอร์ซัค แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนคลองเตย อายุระหว่าง 8-20 ปี รวมกว่า 30 คน เข้าร่วมการอบรม จากครูเหมียว หรือ สยุมพร เหล่าวชิระสุวรรณ พร้อมด้วยทีมซีเอสอาร์ จากบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล โดยเริ่มให้ความรู้ตั้งแต่ ประเภทของขยะ ที่สามารถแยกได้ 4 ประเภท  หนึ่ง เป็นขยะอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหาร เศษใบไม้ เศษหญ้า สองคือขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก แก้ว กระดาษ โลหะ อะลูมิเนียม สามคือ ขยะอันตรายหรือของเสียอันตรายจากชุมชน เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ แบตเตอรี่ กระป๋องสเปรย์ และสุดท้ายคือ ขยะทั่วไป เช่น กล่องโฟม หรือ กล่องอาหารที่ปนเปื้อนคราบอาหาร ซองขนม ซองลูกอม รวมไปถึงช้อนส้อมแก้วกาแฟพลาสติกที่เปื้อนแล้ว ซึ่งเวลาที่เราจะเลือกทิ้งในถังขยะแบบไหนให้ถูกต้อง สามารถดูได้จากสีของถัง หรือสัญลักษณ์ที่ติดไว้ที่ถัง

วิธีที่ดีที่สุดที่สามารถช่วยโลกได้ คือการทิ้งให้ถูกที่ และคัดแยกขยะ จาก บ้านหลังหนึ่งมีสมาชิก 4 คน สร้างขยะพลาสติกประมาณ 4 ขีดต่อวัน ดังนั้น บ้านแต่ละหลังจะสร้างขยะพลาสติกประมาณ 12 กิโลต่อเดือน ถ้าคัดแยกขยะพลาสติกออกมา ยังสามารถเอาไปขายและนำเงินไปกินขนมได้อีก ส่วนขยะพลาสติกที่แยกออกมายังสามารถนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิล เพื่อให้เป็นผลิตเส้นใยพอลีเอสเตอร์ และเม็ด rPET สำหรับผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อีกด้วย

ครูเหมียว ยังได้มอบสื่อการเรียนการสอน และถังขยะรีไซเคิลให้กับโรงเรียนเพื่อการคัดแยกขยะ

\'ไอวีแอล\' สอนเด็กชุมชนคลองเตยคัดแยกขยะรีไซเคิล

มาดาม เอวา ดูบันยอฟสก้า ภริยาเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ ประจำประเทศไทย ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนโรงเรียนยานุส คอร์ซัค แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นโรงเรียนภายใต้การดูแลของมูลนิธิเมอร์ซี่ หรือมูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล กล่าวว่า ชื่อของโรงเรียนถูกตั้งตามชื่อ ดร.ยานุส คอร์ซัค แพทย์ชาวโปแลนด์ เชื้อสายยิว ท่านเป็นครูที่อุทิศตนสอนเด็กกำพร้าชาวยิว ในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ซึ่งได้เสียชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และท่านได้กลายเป็นผู้นำต้นแบบสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าสมัยใหม่เข้ามาใช้ เน้นการสอนจริยธรรม และเน้นเรื่องสิทธิของเด็กมาตั้งแต่ตอนนั้น” มาดาม เอวา เล่า “และเมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิฯ ได้ริเริ่มโครงการ 3Rs คือ รีไซเคิล (recycle) ลดการใช้ (reduce) และการนำมาใช้ซ้ำ (reuse) เราจึงอยากให้เด็กๆ ได้มีกิจกรรมการเรียนรู้ การเวิร์คช้อป หรือการริเริ่มกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการรีไซเคิลขยะพลาสติก ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเด็กๆ ต่อไปในอนาคต” มาดามกล่าว ก่อนเฝ้ามองครูเหมียวสอนเด็กๆ ถึงประเภทของขยะในชั้นเรียน

\'ไอวีแอล\' สอนเด็กชุมชนคลองเตยคัดแยกขยะรีไซเคิล

ไอวีแอล เชื่อว่าการรีไซเคิลคือแนวทางที่ยั่งยืนในการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว สิ่งที่กำลังทำในวันนี้ คือ การให้ความสำคัญกับการศึกษาและการให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการรีไซเคิล เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนเข้าใจเรื่องการรีไซเคิล PET และร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันนี้ต่อเนื่องไปในระยะยาว และสามารถส่งต่อจิตสำนึกที่ดีไปยังรุ่นต่อๆ ไปในอีก 30 ปีข้างหน้า ดังนั้น เราจึงมุ่งหวังให้น้องๆ เห็นความสำคัญของการแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน รวมทั้งยังสามารถบอกต่อกับคนในครอบครัว และคนใกล้ตัว เพื่อช่วยขยายผลให้เกิดวามตระหนัก เข้าใจ และร่วมใจกันปฏิบัติต่อไปในวงกว้าง

\'ไอวีแอล\' สอนเด็กชุมชนคลองเตยคัดแยกขยะรีไซเคิล

มูลนิธิเมอร์ซี่ ได้ก่อตั้งโรงเรียนยานุส คอร์ซัค ในปี พ.ศ. 2547 เพื่อเปิดการเรียนการสอนสำหรับเด็กซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ด้อยโอกาสในชุมชนคลองเตย หลายคนไม่เคยได้เข้าโรงเรียนมาก่อน หลายคนไม่สามารถเข้าเรียนในระบบปกติได้ เนื่องจากเป็นเด็กพิเศษที่ระบบการเรียนการสอนปกติไม่สามารถดูแลช่วยเหลือเขาได้ เช่น เด็กสมาธิสั้น เด็กที่อายุเกินระดับชั้นเรียน และไม่เคยเข้าโรงเรียนมาก่อน รวมถึงเด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพ  มูลนิธิฯ จึงเปิดโอกาสให้เด็กในชุมชนได้เรียนและสามารถปรับระดับการเรียน และเพิ่มทักษะพื้นฐาน เพื่อให้พวกเขาสามารถไปต่อได้  โดยใช้พื้นที่ชั้น 3 ของอาคารมูลนิธิฯ ที่คลองเตย เพื่อทำการเรียนการสอน ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนในความดูแลจำนวนประมาณ 40 คน