เปลี่ยนขยะ จาก “ภาระ” ให้เป็น “ขุมทรัพย์ด้านพลังงาน”

29 ต.ค. 2562 | 15:08 น.
2.2 k

ระยอง ร่วมมือ GPSC เปลี่ยน "ขยะ" เป็น "แหล่งขุมทรัพย์พลังงาน" เปิด "ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร" จัดการปัญหาขยะดังกล่าว ในรูปแบบของโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ตอบโจทย์แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นำขยะในระยอง และพื้นที่ใกล้เคียงในภาคตะวันออก ผันเป็นพลังงานไฟสำรองได้ 10 MW

จากภาพรวมสถานการณ์ขยะในประเทศไทยปี 2561 (ข้อมูลของกรมครบคุมมลพิษ) พบว่าประเทศไทยมีขยะรวมกันทั่วทั้งประเทศมากถึง 27.93 ล้านตันต่อปีหรือคิดเป็นปริมาณ 76,520 ตันต่อวัน เฉลี่ยคนไทยทิ้งขยะมากถึง 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน โดยจังหวัดระยองมีปริมาณขยะมากถึง 967.8 ตันต่อวัน หรือเทียบได้กับรถบรรทุกสิบล้อจำนวน 200 คัน ดังนั้นขยะจึงเป็นปัญหาที่สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนในพื้นที่ ทางองค์การบริหารจังหวัดระยอง และ EEC จึงได้ร่วมมือกับทางบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในเครือ ปตท. เพื่อจัดการปัญหาขยะดังกล่าว ในรูปแบบของโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ที่จะแก้ปัญหาขยะที่เพิ่มมากขึ้น และพัฒนาเป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

เปลี่ยนขยะ จาก “ภาระ” ให้เป็น “ขุมทรัพย์ด้านพลังงาน”

บนพื้นที่ 429 ไร่ ของศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร ใน ต.น้ำคอก อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งทาง อบจ.ระยอง เป็นผู้ดูแลได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 นับเป็นจังหวัดต้นแบบของการบริหารจัดการขยะ โดยศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร สามารถบริหารจัดการขยะในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีกระบวนการบริหารจัดการ ความเข้าใจ และการปรับตัวร่วมกับคนในพื้นที่ ตอบโจทย์ด้านการพัฒนา สู่การพัฒนาชุมชนตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular City) ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สอดรับการพัฒนาของ EEC โดย การเปลี่ยนขยะที่เคยเป็น “ภาระ” ให้เป็น “แหล่งขุมทรัพย์ด้านพลังงาน”

 

นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารจังหวัดระยอง กล่าวว่า การมี EEC เกิดขึ้น ทำให้มีสนามบินเกิดใหม่ มีรถไฟฟ้าความเร็วสูงพาผู้คนมา พานักท่องเที่ยวมามากขึ้น ก็จะมีปัญหาขยะที่ต้องบริหารจัดการตามไปด้วย โดยจะต้องมีการจัดการให้ถูกต้อง สะดวก ต้นทุนต่ำที่สุด และที่สำคัญคือต้องเป็นการปรับปรุงพัฒนาที่ยั่งยืน เราทราบว่าการฝังกลบก็ไม่ใช่วิธีที่ตอบโจทย์อีกต่อไป เนื่องจากพื้นที่ไม่เพียงพอแล้ว เราจึงได้ทำงานร่วมกับ GPSC เปิดศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจรจังหวัดระยองขึ้น เพื่อรองรับการบริหารจัดการปัญหาขยะอย่างยั่งยืน พอมีขยะมากขึ้นก็สามารถรองรับได้ โดยสามารถนำมาเผาไฟเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ไม่ได้เอามาฝังกลบ ไม่ได้เสียพื้นที่ตรงไหนเพิ่ม มีแต่โรงไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ก็สามารถผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ก็ลดคาร์บอนไดออกไซด์ ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็ลดลงหมดเลย การสร้างศูนย์ขยะก็ใช่ว่าจะทำที่ไหนก็ได้ เพราะทำได้ไม่มาก ต้องดูที่ความพร้อม สถานที่ที่เหมาะสม ปลอดภัย และที่สำคัญประชาชนต้องให้โอกาส ให้ความร่วมมือด้วย

เปลี่ยนขยะ จาก “ภาระ” ให้เป็น “ขุมทรัพย์ด้านพลังงาน”

ศูนย์กำจัดขยะแห่งนี้ จะมีหน้าที่ในการบริหารจัดการขยะจากใน จ.ระยอง และพื้นที่ใกล้เคียง โดยคัดแยกและจัดการกำจัดขยะอย่างเหมาะสม โดยขยะที่มีมูลค่า และนำไปใช้ประโยชน์หมุนเวียนต่อได้ จากขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลใหม่ได้ ในส่วนเศษอาหาร จะถูกนำไปทำเป็นสารปรับปรุงดินเป็นประโยชน์ต่อภาคการเกษตร และสามารถนำไปหมักเป็นแก๊สหุงต้ม ส่วนขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้อย่างถุงพลาสติก สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel, RDF) มาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ ทั้งนี้โรงไฟฟ้าขยะ อยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดดำเนินการได้ปลายปี 2563 ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการขยะในจังหวัดระยองและพื้นที่ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงในภาคตะวันออกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ประเทศได้มีไฟสำรอง จากของที่เราไม่ใช้แล้ว โดยปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าได้ขนาด 10 MW

“ต้องยอมรับว่ามีทุกคน ทุกบ้าน มีขยะ เราจำเป็นต้องช่วยกันรณรงค์การคัดแยกขยะ จะเป็นประโยชน์ต่อบ้าน ต่อคน และใช้ต้นทุนต่ำในการจัดการขยะ อย่างที่มีกระแสช่วงนี้ที่เรารณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติก อนาคตเราก็ต้องรณรงค์มากขึ้น เพราะจะเกิดผลกระทบขึ้นจริงๆ และต้องทิ้งขยะเป็นที่เป็นทาง ไม่อย่างนั้นเงินที่จัดการเรื่องขยะทั้งประเทศปีหนึ่งหลายหมื่นล้าน ก็เป็นเงินของพี่น้องประชาชน เงินภาษีทั้งนั้น ถ้าเราช่วยกัน เงินส่วนนี้ ก็อาจจะเอาไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นแทนได้” นายปิยะ กล่าว

 

เปลี่ยนขยะ จาก “ภาระ” ให้เป็น “ขุมทรัพย์ด้านพลังงาน”

ส่วนสำคัญที่มีส่วนทำให้ศูนย์ขยะแห่งนี้สามารถดำเนินการไปได้ด้วยดีคือความเข้าใจของคนในพื้นที่ และความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้การบริหารจัดการปัญหาขยะนั้นเป็นไปด้วยดี ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน และคนในพื้นที่ นายกิมหวย แพทย์รักษา ชาวบ้าน ต.น้ำคอก อ.เมือง จ.ระยอง ที่ซึ่งมีบ้านห่างจากศูนย์กำจัดขยะไป 1 กิโลเมตร เผยว่าครั้งแรกที่รู้ว่าศูนย์กำจัดขยะจะมาอยู่ใกล้บ้านนั้นรู้สึกกังวลว่าจะมีขยะกองใหญ่มหึมามาอยู่ใกล้บ้าน จะส่งกลิ่นเหม็นและกระทบต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อได้ทำความเข้าใจว่าการบริหารจัดการขยะนั้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิต และลูกหลานเราในอนาคต ก็ได้มีส่วนเข้ามามีส่วนร่วมกับทาง อบจ. ระยอง ในการตรวจสอบ และเป็นหูเป็นตา เช่นว่า จุดไหนที่ล่อแหลมเราก็บอกให้เจ้าหน้าที่เข้าไปแก้ไข น้ำเสียจะทำอย่างไร จะมีวิธีบำบัดอย่างไร ทำอย่างไรให้น้ำเสียนั้นใสและไร้กลิ่น ซึ่งทุกวันนี้ศูนย์กำจัดขยะของเราก็ทำได้แล้ว เราก็อุ่นใจขึ้น แต่ก็ต้องช่วยกันพัฒนาต่อไป

เชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF สามารถกลับมาสร้างคุณค่าในรูปแบบของการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 480,000 หน่วยต่อวันหรือกว่า 14,400,000 หน่วยต่อเดือน สามารถจ่ายเข้าระบบไฟฟ้าเพื่อใช้งานได้กว่า 38,000 ครัวเรือน ซึ่งการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เริ่มต้นง่ายๆที่ตัวเอง เพื่อให้เมืองเติบโตไปได้ไกลปราศจากขยะซึ่งจะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุข

เปลี่ยนขยะ จาก “ภาระ” ให้เป็น “ขุมทรัพย์ด้านพลังงาน”

ทั้งนี้ EEC ยังได้ร่วมมือกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) จัดงานประชุมสัมมนา ASEAN summit’s side event on Circular Economy, Waste Management and Sustainability ในวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพื่อเผยแพร่ต้นแบบการดำเนินงาน Circular Economy และการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมยั่งยืนในพื้นที่ EEC และเน้นย้ำการพัฒนาบนพื้นฐานความยั่งยืน รวมถึงเป็นขยายความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างเมืองอุตสาหรรมเชิงนิเวศน์ที่ยั่งยืนในภูมิภาค ASEAN โดยให้พื้นที่ EEC เป็นต้นแบบ อีกทั้งประชาสัมพันธ์การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของ EEC รวมถึงการมีส่วนร่วมและร่วมกันเปลี่ยนขยะ หรือของเสียเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทน ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ลดการเกิดขยะและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอีกด้วย

การบริหารจัดการขยะที่เป็นระบบและการแก้ปัญหาขยะที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันกับการทำงานของภาครัฐและเอกชน ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันจัดการ และ “กล้า” คิดหาทางออกเรื่องขยะ “ก้าว” ไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อให้เมืองเติบโตไปได้ “ไกล” โดยปราศจากปัญหาขยะในแบบเดิมๆ