หญิงแกร่ง ‘แกร็บไบค์’ จริงใจ - เข้าถึงปัญหา ผูกใจพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่

22 ก.ย. 2562 | 11:20 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ย. 2562 | 18:28 น.
3.2 k

ใครจะไปคิดว่า คนที่นั่งทำหน้าที่ประสานงานกับเหล่าบรรดาผู้ขับขี่แกร็บไบค์ จะเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่าง “คุณแซนดี้ - เมธิณี อนวัชกุล”ผู้อํานวยการ แกร็บไบค์ ประเทศไทย ที่เข้ามารับหน้าที่ดูแลการบริหารธุรกิจของแกร็บ ที่เกี่ยวข้องกับ
รถจักรยานยนต์ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลทั้งด้านกลยุทธ์ และการปฏิบัติการ

หน้าที่ของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 1 ปีเต็มที่ผ่านมา หลังจากขยับขยายมาจาก Uber Thailand ซึ่งเธอเคยนั่งทำหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ ดูแลรับผิดชอบด้าน Marketplace, Supply Growth and Product และ
เมื่อเข้ามาร่วมงานกับแกร็บไบค์ เธอได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบตั้งแต่ การเป็นหนึ่งในผู้บริหารที่ขับเคลื่อนนโยบายและการเติบโตของบริษัท การดูแลการบริหารธุรกิจแกร็บไบค์ ทั้งในด้านกลยุทธ์และการปฏิบัติการ รวมถึงการบริหารจัดการพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ สําหรับธุรกิจ GrabBike, GrabFood และ GrabExpress

หญิงแกร่ง ‘แกร็บไบค์’ จริงใจ - เข้าถึงปัญหา ผูกใจพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่

“คุณแซนดี้” จบปริญญาโทสาขา Enterperneship and Management จาก University of Reading ประเทศอังกฤษ และระดับปริญญาตรีสาขา Computer Sciencesซึ่งเป็นโปรแกรมร่วมระหว่างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะวิทยาศาสตร์ และการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เธอบอกว่า ตอนที่ร่วมงานกับอูเบอร์ คือ บริหารจัดการเกี่ยวกับบริการรถยนต์ แต่เมื่อเข้ามาทำกับแกร็บ คือ ต้องดูแลงานบริการที่เกี่ยวกับ 2 ล้อทั้งหมด โจทย์ในการทำงานจึงแตกต่างกัน ซึ่งปัจจุบันแกร็บเป็นผู้นําในตลาด 2 ล้อ ทั้งในด้านอัตราการเติบโต และจํานวนพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ที่มากที่สุด คือ ประมาณกว่าแสนคน ในขณะที่ผู้ให้บริการอื่นมีเพียงหลักหมื่นต้นๆ ด้วยระยะเวลาเพียง1 ปี ที่เข้ามาทำหน้าที่นี้ ทำให้จำนวนพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ของแกร็บขยายตัวได้กว่า 5 เท่าเลยทีเดียว

หัวใจสำคัญที่ทำให้แกร็บไบค์ เติบโตได้มากขนาดนั้น “คุณแซนดี้” บอกว่า เป็นเพราะการบริหารงาน และนโยบายการดูแลผู้ขับขี่ด้วยความจริงใจ ซึ่งการดูแลใส่ใจไม่ได้มีแค่เพียง คุณภาพบริการที่มีให้กับลูกค้า แต่ในส่วนของพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ ก็ต้องใส่ใจทั้งตัวพี่ๆ ผู้ขับขี่ ครอบครัวของผู้ขับขี่ รวมไปถึงสังคม

โจทย์ที่ได้รับคือ เข้ามาดูในส่วนของ 2 ล้อ แกร็บเราอยู่มา 6 ปี โจทย์คือ เราจะทำอย่างไรให้คนที่อยู่กับแกร็บมีชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้น เราจึงเริ่มต้นจากการเข้ามาศึกษา มาทำความเข้าใจ ดูว่าพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่
เขายังขาดอะไร และต้องการอะไร เพื่อจะได้นำเข้ามาต่อยอด และทำทุกอย่างให้ดียิ่งขึ้น

“วันแรกที่เข้ามา คือคุยกับพี่ๆ คนขับ เราก็มาคุยกันว่า จะทำอย่างไรให้ทุกอย่างที่มีอยู่ดีขึ้น เราขอโอกาสให้แกร็บ ดูว่ามีอะไรที่เราจะเข้ามาช่วยได้บ้าง ตอนที่ไปคุย พบว่าพี่ๆ คนขับมีปัญหาที่หลากหลาย แรกๆ เขาไม่เข้าใจว่า แกร็บต้องการอะไร เขาบอกว่า เขาอยู่มา 6 ปีก็ไม่ได้คิดที่จะไปไหน แต่โอกาสในการสร้างเงินสร้างรายได้ รวมถึงการเติบโตของพวกเขาล่ะ  เรามองเขาอย่างไร และจะมีอะไรให้เขาได้บ้าง”

สิ่งที่ทำในตอนนั้นคือ “การให้คำมั่่นสัญญา” ผู้บริหารหญิงคนนี้ บอกเลยว่า แกร็บจะโฟกัสที่ตัวคนขับ ครอบครัว และสังคม โดยเริ่มจากการทำให้พี่ๆ ผู้ขับขี่ทั้งหลายเข้าถึง ดิวพิเศษจากพาร์ตเนอร์ของแกร็บ ที่มีทั้งโบนัส ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และประกันรถ ซึ่งจริงๆ เรื่องพวกนี้เป็นการผลักดันสิทธิพิเศษเพิ่มเติมให้กับบรรดาผู้ขับขี่ เพราะจริงๆ รวมไปถึงการให้ความรู้ มีการฝึกอบรม ช่วยให้เขาประกอบอาชีพของเขาได้ดียิ่งขึ้น เช่น เรื่องของภาษาอังกฤษ การขับรถให้ได้ดียิ่งขึ้น ปลอดภัยยิ่งขึ้น เพิ่มทักษะใหม่ๆ ในการสร้างรายได้และการเติบโตให้กับเขา รวมถึงขยายผลไปถึงครอบครัวของผู้ขับขี่ ที่จะมีกิจกรรมให้ครอบครัวได้เข้าร่วม อาทิ การมอบทุนการศึกษา การจัดฟุตบอลคลินิก ฝึกฝนให้กับลูกหลานของผู้ขับขี่ และยังทำกิจกรรมที่มอบโอกาสต่างๆ ช่วยเหลือให้กับสังคม

“เราไม่ได้พูดอย่างเดียว แต่เราทำจริง การที่ทำอย่างนี้ เป็นการผูกใจให้เห็นว่าเราทำให้เขาจริงๆ มีปัญหาก็เข้าไปจัดการทันที มีคอลล์เซ็นเตอร์ ที่ผู้ขับขี่สามารถติดต่อกับแกร็บได้ตลอดเวลา และยังสามารถติดต่อกับแซนดี้ได้โดยตรง เขาสามารถมาเจอกับเรา และเมื่อมีปัญหาสามารถคุยกับแซนดี้ได้เลย”

จากความจริงใจ และการเปิดรับ พร้อมเข้าไปช่วยคิดช่วยแก้ปัญหา ทำให้ผู้ขับขี่บอกกันปากต่อปาก จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีจำนวนผู้ขับขี่เข้ามาสมัครเป็นพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ของแกร็บเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแกร็บเองก็พยายามหาช่องทางใน
การสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้กับผู้ขับขี่ รวมถึงคนไทยที่ต้องการหารายได้เสริม เช่น การจัดทำแกร็บวอล์ก หรือการจัดโครงการพิเศษสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ได้เข้ามาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ของแกร็บได้

“คุณแซนดี้” บอกว่า แกร็บไม่ได้การันตีรายได้ แต่มีเบี้ยคนขยัน คนที่ขยันขับ ขยันทำงาน ก็จะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น บางคนมีรายได้สูงถึง 5-6 หมื่นต่อเดือน และยังมีการวัดผล การประเมินจากการให้เรตการให้บริการจากผู้บริโภคที่ใช้บริการ ซึ่งจัดแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ฮีโร่ แพลตินัม โกลด์ และซิลเวอร์ ซึ่งผู้ขับขี่เหล่านี้ก็จะได้รับสิทธิพิเศษที่แตกต่างกันไป และในปีนี้แกร็บไบค์ก็จะขยายพื้นที่บริการมากขึ้น รวมทั้งการจับมือร่วมกับพาร์ตเนอร์ให้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสในการสร้างงานสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นของพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่นั่นเอง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,506 วันที่ 19 - 21 กันยายน พ.ศ. 2562

หญิงแกร่ง ‘แกร็บไบค์’ จริงใจ - เข้าถึงปัญหา ผูกใจพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่