ผสมผสานการทำงาน ‘สตาร์ตอัพและองค์กร’ ดัน Viu ขึ้นแท่นเบอร์ 2

14 ก.ย. 2562 | 11:00 น.
2.2 k

การดำเนินธุรกิจขององค์กรแบบสตาร์ตอัพ เป็นที่รู้กันว่ามีความคล่องตัวสูง เคลื่อนไหวเร็ว ปรับเปลี่ยนได้ตลอด และเมื่อผนวกเข้ากับความเป็นระบบขององค์กร ดำเนินงานโดยมีการวางแผนเป็นไกด์ไลน์ กลับช่วยให้การบริหารงานเดินหน้าไปได้อย่างแม่นยำ และก้าวสู่เป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น ด้วยบทพิสูจน์จากการบริหารงานแบบผสมผสานของ Viu (วิว) วิดีโอสตรีมมิ่ง จากฮ่องกง ที่เข้ามาเปิดตลาดในไทยเป็นประเทศที่ 15 จาก 17 ประเทศที่ Viu เข้าไปลงทุน ภายใต้การบริหารงานของ “ธวัตวงศ์ ศิลมานนท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีซีซีดับเบิลยู โอทีที (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ Viu นั่นเอง

ผู้บริหารคนนี้บอกว่า เขาเข้ามาบริหาร Viu เกือบ 3 ปีเต็ม ภารกิจคือ ทำอย่างไรให้ธุรกิจของ Viu เติบโตได้อย่างรวดเร็วและมั่นคง ในขณะที่ไทยเป็นประเทศที่มีโอกาสทางการตลาดสูง ด้วยปริมาณผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมถึงปริมาณการเข้าชมวิดีโอสตรีมมิ่ง หรือทีวีออนไลน์ ไม่ตํ่ากว่า 50 ล้านคน ซึ่งถือเป็นปริมาณที่โดดเด่นมากทั้งในระดับโลกและภูมิภาค

ผสมผสานการทำงาน ‘สตาร์ตอัพและองค์กร’ ดัน Viu ขึ้นแท่นเบอร์ 2

“ความท้าทายตอนแรก คือ เว็บผิดกฎหมาย คือ เร็วเขาก็เร็ว และเขาก็ไม่ต้องเสียเงินซื้อลิขสิทธิ์ ต้นทุนเขาตํ่ากว่าเรา
เราจะทำอย่างไรให้คนมาดู ซึ่งแนวทางที่เราเลือกก็คือ การนำเสนอความต่างด้วยคุณภาพที่เหนือกว่า คอนเทนต์ที่ดีกว่า วันแรกที่เราได้ล้านดาวน์โหลด เราแฮปปี้มาก เรามาถูกทาง”

“ธวัตวงศ์” บอกว่า Viu เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยได้เพียง 2 ปีนิดๆ แต่ก็สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดอันดับ 2 ด้วยฐานผู้ดาวน์โหลดปีแรก 2.5 ล้าน และขยับขึ้นเป็น 6.1 ล้านในปีนี้ เรียกว่าโตแบบก้าวกระโดด ด้วยปัจจัยหลัก คือ การเลือกคอนเทนต์เจาะได้ถูกตลาด

การพัฒนาธุรกิจของ Viu เลือกที่จะนำเสนอความต่าง และกล้าเสี่ยงกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ชอบดูของฟรี ผู้บริหาร Viu บอกว่า ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งรายอื่นๆ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับคอนเทนต์หนังจากฮอลีวูด แต่ Viu เลือกที่จะจับคอนเทนต์ซีรีส์เกาหลี ที่ทั้งคนดูไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ให้ความสนใจ แม้คนดูไทยจะนิยมการดูแบบไม่ถูกกฎหมาย แต่เขามั่นใจว่า หากได้ดูของใหม่ ที่หลุดจากต้นฉบับเพียงไม่กี่ชั่วโมง ด้วยคุณภาพที่ดีกว่า ทั้งคุณภาพการรับชมและการแปล แถมยังมีให้เลือกทั้งแบบดูฟรี และแบบเสียเงิน จาก 3 ช่องดังของเกาหลี ทั้ง SBS NBC และ KBS ทำไมบรรดาสาวกซีรีส์เกาหลีจะไม่เลือก Viu...ซึ่งก็เป็นไปตามคาด

“เราทำเอ็กคลูซีฟดิวกับเจ้าของคอนเทนต์ ซึ่งตอนนี้ทำกับหลายเจ้ามาก และยังจ้างบริษัทแปลหลายบริษัท ทำให้เราแปลได้ทัน เร็วที่สุดคือ 8 ชั่วโมง ของภาษาไทย ภาษาอังกฤษ 4 ชั่วโมง เราการันตี 1 วันหลังจากออกอากาศที่เกาหลี ออกอากาศวันนี้ที่เกาหลี 4 ทุ่ม วันพรุ่งนี้คุณได้ดูแน่”

เรื่องของคอนเทนต์คือ หนึ่งหัวใจสำคัญของความสำเร็จ ซึ่งเขามีการทำสัญญากับเจ้าของคอนเทนต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งคอนเทนต์ไทย และคอนเทนต์ที่ผลิตขึ้นเอง ตามนโยบายของบริษัทแม่ ซึ่งปีนี้วางเป้าผลิตทั้งหมด 80 เรื่อง ในขณะที่ไทยผลิตแล้ว 1 เรื่องและกำลังจะมีอีก 1 เรื่องใหม่ตามมาเร็วๆ นี้

หนึ่งในแนวทางการบริหารของเรา คือ อิมแพ็กต์ ทำแล้วต้องคุ้ม มียอดคนดูมากเพียงพอ เราต้องระมัดระวัง และดูผลจากการลงทุน Return on Investment

เป็นอย่างไร...

ส่วนเรื่องของคน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญ “ธวัตวงศ์” บอกว่า การที่มีประสบการณ์มาทางออนไลน์ ช่วยได้มาก ทั้งด้านการเงิน การตลาด และการสร้างทีม ทีมของ Viu เราไม่ได้เลือกแค่งานฟังก์ชันนัล ต้องดูที่เป้าหมายเป็นหลัก ไม่ใช่แค่ Job Description เราจะให้เป้าหมายว่า ต้องการแบบนี้ แล้วให้แต่ละทีมไปคิดเองเลยว่า เคพีไอ คือ อะไร แต่เคพีไอต้องดิ้นได้ ลองทำแล้วไม่เวิร์ก ก็เปลี่ยนได้ ไม่งั้นมันไม่ได้ประโยชน์ มันเป็นแนวคิด มันคือวิธีการบริหารแบบ OKR

การทำงานที่รวดเร็ว แข่งขันกับเทคโนโลยีและคู่แข่งข้ามชาติ ที่ยังทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ทำให้การทำงานของทีม ต้องปรับตัวเร็ว ลุยงานเต็มที่ แต่ผู้นำคนนี้ก็ไม่ได้ลืมคำว่า Work-Life Balance เพียงแต่ว่า Work-Life Balance ของ Viu เป็นการบาลานซ์การทำงานกับชีวิตอย่างสมเหตุสมผล ช่วงงานคือลุยงานเต็มที่จนบรรลุเป้าหมาย แต่หลังจากนั้นก็เป็นช่วงพัก ที่ไม่ได้พักแค่วัน 2 วัน แต่หากงานลุล่วง พนักงานก็มีสิทธิที่จะลางานได้เป็นอาทิตย์ เพื่อพักผ่อนให้เต็มที่ ก่อนกลับมาลุยงานใหม่  

“ธวัตวงศ์” บอกว่า ที่นี่ทำงานกันโหด ทุกคนรับผิดชอบงานให้เสร็จ ไม่ต้องอยู่ออฟฟิศ ไปทำงานที่บ้านได้ ไปทำงานตามร้านกาแฟได้ ตราบใดที่งานจบ เราก็โอเค คำว่า Work-Life Balance มันแล้วแต่คน บางคน Work-Life Balance มันอยู่ที่เวิร์กเยอะ ส่วนบางคนอยู่ที่ไลฟ์เยอะ... คือ อย่างที่บอก ตรงนี้เป็นจุดกลางที่ดี เรากึ่งสตาร์ตอัพ แต่มีระบบ เราไม่ได้นอนที่ออฟฟิศ เรายังมีความเป็นบริษัท และสตาร์ตอัพ เราเคลื่อนไหวได้ค่อนข้างเร็ว แต่เราก็ยังมีความเป็นคอร์ปอเรต มีวันหยุด มีไกด์ไลน์ มีออฟฟิศ มีแบรนด์

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา กับการบริหารงานที่ Viu ในช่วงที่การแข่งขันสูง และโลกมีการปรับเปลี่ยน ธุรกิจถูกดิสรัปทีฟ ได้ตลอดเวลา ผู้บริหารหนุ่มคนนี้บอกว่า มันทำให้เขาต้องคิดตลอด และเป็นเรื่องของการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต การทำงานเน้นที่ประสิทธิภาพ (efficiency) มากกว่า การไปนั่งคุมต้นทุน หรือคิดแค่เรื่องอะไรที่แหวกแนว (innovate) เพราะการคิดเรื่องใหม่ๆ เรื่องที่แหวกแนว พอทำแล้ว สักพักก็มีคนทำตาม เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำตลอดเวลาคือ การคิดไปข้างหน้า โดยไม่ตื่นตระหนกเกินไป มิเช่นนั้น อาจทำให้ตัดสินใจผิดพลาด

ผสมผสานการทำงาน ‘สตาร์ตอัพและองค์กร’ ดัน Viu ขึ้นแท่นเบอร์ 2

  ที่สำคัญคือ ต้องตั้งเป้าหมายให้ถูกต้อง

ต้องเรียนรู้เร็ว และคิดว่าตัวเองไม่ใช่แก้วที่เต็มนํ้า “การก้าวขึ้นมายืนอยู่ในตำแหน่งผู้นำได้ ไม่ได้หมายความว่าคุณรู้ทุกอย่าง” นั่นคือสิ่งที่ผู้บริหารคนนี้คิดอยู่เสมอ การพร้อมเรียนรู้ และปรับตัว รวมถึง หลัก “7 อุปนิสัย พัฒนาสู่ผู้มีประสิทธิผลสูง” ที่เขียนโดย สตีเฟน อาร์.โคว์วีย์ จึงเป็นแนวทางที่ “ธวัตวงศ์ ศิลมานนท์” ใช้เป็นหลัก ในการนำพา Viu ประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง ที่เติบโตอย่างมั่นคง และอยู่ในตำแหน่งผู้นำตลาดตลอดไป

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,504 วันที่ 12 - 14 กันยายน พ.ศ. 2562

ผสมผสานการทำงาน ‘สตาร์ตอัพและองค์กร’ ดัน Viu ขึ้นแท่นเบอร์ 2