IWG ระบุ "การทำงานที่ยืดหยุ่น" คำตอบสุดท้ายของ "คนรุ่นใหม่"

01 เม.ย. 2562 | 12:37 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2562 | 15:12 น.
1.1 k


IWG เผยพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ 83% เลือกทำงานที่มีความยืดหยุ่น ด้านองค์กรขานรับ ระบุ 10 ปีที่ผ่านมา 85% ของธุรกิจ ประกาศใช้นโยบายพื้นที่ทำงานที่ยืดหยุ่น บางองค์กรกำลังวางแผนที่จะนำนโยบายนี้มาใช้

IWG ผู้ดำเนินการบริหารแบรนด์ผู้ให้บริการพื้นที่สำนักงานระดับโลก อย่าง Regus (รีจัส) และ Spaces (สเปซเซส) จัดทำผลสำรวจกลุ่มนักธุรกิจ จำนวนกว่า 15,000 คน ใน 80 ประเทศทั่วโลก พบว่า 83% ของผู้ตอบแบบสำรวจ มองว่า "การทำงานที่ยืดหยุ่น" ถือเป็นบริบทใหม่ (New Normal) ของคนทำงานในยุคปัจจุบัน และยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกองค์กรเข้าร่วมทำงาน โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ให้ความยืดหยุ่นมากกว่าจำนวนวันหยุด อีกทั้งองค์กรที่ขาดนโยบายด้านความยืนหยุ่นในการทำงาน มีแนวโน้มที่จะสูญเสียพนักงานที่มีความรู้ความสามารถสูงกว่าองค์กรที่มีความยืดหยุ่นในการทำงาน ทั้งในด้านเวลาทำงานและสถานที่ทำงาน ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กว่า 85% ขององค์กรต่าง ๆ ได้มีการปรับเพิ่มนโยบายในการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น

 

IWG ระบุ \"การทำงานที่ยืดหยุ่น\" คำตอบสุดท้ายของ \"คนรุ่นใหม่\"

 

นอกจากนี้ ยังพบว่า 60% ของผู้ตอบแบบสำรวจ เห็นว่า ในบางองค์กรมีแนวโน้มที่ไม่สามารถประยุกต์แนวคิดการทำงานที่ยืดหยุ่นได้ โดยเฉพาะในองค์กรที่เก่าแก่ ที่อยู่มานาน ส่วนใหญ่จะมีข้อจำกัดในการเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน เพราะเกรงว่าการทำงานในรูปแบบดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมองค์กรและแนวทางการทำงานที่มีมาอย่างยาวนาน

นายลาส์ วิททิก รองประธานฝ่ายขาย ประจำภูมิภาคอาเซียน ของ IWG กล่าวว่า จากรายงานการสำรวจ Global Workspace Survey ในปีที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงการก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ แต่จากผลสำรวจในครั้งนี้ ทำให้เห็นได้ชัดว่า ปัจจุบัน การทำงานที่ยืดหยุ่นถือเป็นบริบทใหม่ในการทำงานที่องค์กรต่าง ๆ นั้น มุ่งเน้นเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ความคล่องตัวในการทำงาน และการเสาะหาทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถ โดยมากกว่า 50% ของผู้ตอบแบบสำรวจ มีความต้องการในการทำงานนอกสถานที่อย่างน้อย 2-3 วันต่อสัปดาห์

ในปัจจุบัน องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก จำเป็นต้องเพิ่มความคล่องตัวในการปรับตัวให้สอดคล้องรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น ผลจากผลสำรวจแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการพิจารณา เอาแนวคิดการทำงานแบบยืดหยุ่นเข้ามาประยุกต์ใช้ในองค์กร เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ขององค์กร อาทิ ประโยชน์เชิงกลยุทธ์และการเงิน การสร้างความได้เปรียบในการดึงดูดพนักงานที่เป็นคนรุ่มใหม่ให้มีความสนใจในองค์กรยิ่งขึ้น และการรักษาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถได้

จากผลสำรวจ 71% ของผู้ตอบแบบสำรวจ มองว่า การนำแนวคิดการทำงานที่ยืดหยุ่นมาใช้กับองค์กรสามารถช่วยดึงดูดและเฟ้นหาพนักงานที่มีความรู้ ความสามารถ และตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรได้ดี พร้อมทั้งช่วยรักษาพนักงานที่มีความสามารถขององค์กรไว้ได้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของพนักงานที่มีต่อการทำงานที่ยืดหยุ่น โดยคิดเป็นร้อยละ 32 ของผู้ตอบแบบสำรวจ พบว่า แนวคิดดังกล่าวมีความสำคัญและตอบโจทย์ความต้องการพนักงานได้ดีกว่าการมอบหมายงานที่มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่สูงขึ้น

ปัจจุบัน พนักงานส่วนมากให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work/Life Balance) โดยจากผลสำรวจพบว่า แนวคิดการทำงานที่ยืดหยุ่นมีส่วนช่วยในการสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ถึง 78% รวมไปถึงการช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น ในกลุ่มพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากความเครียด มีปัญหาด้านสุขภาพจิต พนักงานสูงอายุ เป็นต้น

แนวคิดการทำงานที่ยืดหยุ่นไม่เพียงจะช่วยให้พนักงานมีความสุขในการทำงานและมีสุขภาพที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานอีกด้วย โดยยืนยันได้จากผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 85 เห็นว่า ความยืดหยุ่นถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานได้ดีที่สุด รองลงมา คือ ร้อยละ 21 กล่าวว่า ประสิทธิภาพการทำงานที่ดีเป็นผลมาจากรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ที่ได้มีการระบุไว้ว่า ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงไม่กี่ปีผ่านมา

ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่มีการผันผวน ทำให้องค์กรต่าง ๆ และผู้ประกอบการกำลังให้ความสำคัญในด้านความคล่องตัวของการดำเนินธุรกิจและการประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย โดย 55% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ยืนยันว่า ในปี 2562 นี้ องค์กรต้องการความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มในการมองหาช่องทางการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ และกว่าร้อยละ 64 ของผู้ตอบแบบสำรวจ ระบุว่า การทำงานแบบยืดหยุ่นมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพและย่นระยะเวลาในการขยายธุรกิจสู่ตลาดใหม่ในต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น โดย 66% ของผู้ตอบแบบสำรวจ เลือกใช้แนวคิดการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อรองรับความต้องการในการขยายธุรกิจ จำนวน 65% เผยว่า ต้องการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการทำงาน โดยเลือกใช้พื้นที่สำนักงานที่มีความยืดหยุ่นและการบริการอย่างครบวงจร

จากผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า 40% ของผู้ตอบแบบสำรวจ มองว่า ระยะเวลาในการเดินทางไปทำงานในแต่ละวันถือเป็นส่วนที่เลวร้ายที่สุดในการทำงาน และเชื่อว่า การเดินทางไปทำงานอาจเป็นเรื่องที่ล้าสมัยในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2573) โดย 22% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ระบุว่า พวกเขาเดินทางไปทำงาน "สายเป็นประจำ" เนื่องจากการจราจรในช่วงเช้าติดขัดและหยุดชะงักบ่อยครั้ง อีกทั้งยังใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเดินทางไปทำงาน จึงมองว่า องค์กรควรปรับระเบียบเวลาในการเข้างานของพนักงาน โดยรวมเวลาที่ใช้ในการเดินทางเข้าไปกับเวลาการทำงาน

สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจและพนักงานกว่า 50% ของผู้ตอบแบบสำรวจ มองว่า การทำงานที่ยืดยุ่นถือเป็นบริบทใหม่ของคนทำงานในยุคปัจจุบัน เพราะพนักงานส่วนใหญ่ใช้เวลาทำงานนอกสถานที่มากกว่าอยู่ในออฟฟิศถึง 3-4 วันต่อสัปดาห์ หรือมากกว่านั้น โดยสามารถเห็นผลได้ชัดเจนจากกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 70% ให้เหตุผลว่า สภาพแวดล้อมในการทำงานถือเป็นปัจจัยสำคัญในตัดสินใจเปลี่ยนงานและแนวคิดการทำงานที่ยืดหยุ่นนี้มีส่วนช่วยให้องค์กรต่าง ๆ มีโอกาสในการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานและดึงดูดพนักงานที่มีความรู้ความสามารถได้


 

IWG ระบุ \"การทำงานที่ยืดหยุ่น\" คำตอบสุดท้ายของ \"คนรุ่นใหม่\"