ศูนย์ FLEC เดินหน้าเข้มแข็ง บูรณาการรัฐ-เอกชนต่อยอดสู่การพัฒนาแรงงานยั่งยืน

12 มี.ค. 2562 | 14:50 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มี.ค. 2562 | 22:31 น.

ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา แสดงผลงานการบูรณาการความร่วมมือของ 5 องค์กรรัฐ เอกชน และภาคสังคม ช่วยป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์แบบครบวงจรและรวดเร็วขึ้น พร้อมสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิแรงงาน เพื่อขจัดปัญหาแรงงานจากสังคมไทย

นางสาวนาตยา เพชรัตน์ กรรมการศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (ศูนย์ FLEC) กล่าวว่า จากการดำเนินงานของศูนย์ FLEC ในรูปแบบความร่วมมือของ 5 องค์กรนับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อกลางปี 2559 ที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ได้ช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและป้องกันการค้ามนุษย์เชิงรุก รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนและช่วยยกมาตรฐานคุณภาพชีวิตของแรงงานประมงและครอบครัวแบบครบวงจร ในระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (The United Nations Sustainability Development Goals หรือ SDGs โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข โดยศูนย์ฯ ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจคนในชุมชน สร้างเครือข่ายเพื่อช่วยร่วมป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาการละเมิดและใช้แรงงานผิดกฎหมาย ขณะที่พัฒนาแรงงานเป็นแกนนำร่วมช่วยเหลือเพื่อนที่เสี่ยงหรือตกเป็นเหยื่ออีกทางหนึ่ง

ในส่วนของความยั่งยืนด้านคุณภาพชีวิตของแรงงานและครอบครัว ศูนย์ฯ ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานในทุกด้าน ครอบคลุมความเป็นอยู่ การเข้าถึงสาธารณสุข ขยายโอกาสทางการศึกษาภาคบังคับของบุตรแรงงานในประเทศไทย การเพิ่มทักษะความรู้เกษตรพอเพียงเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนแก่ครอบครัวของแรงงาน เช่น สอนปลูกผักสวนครัว ทำน้ำยาล้างจาน ตลอดจนการขยายโอกาสให้แรงงานบนเรือประมงเข้าถึงการใช้ยาและความรู้ด้านสุขอนามัยมากขึ้น

ศูนย์ FLEC เดินหน้าเข้มแข็ง บูรณาการรัฐ-เอกชนต่อยอดสู่การพัฒนาแรงงานยั่งยืน

“ศูนย์ฯ ดำเนินการตามเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนตามแนวทางของ SDGs อย่างต่อเนื่อง ทั้งตัวแรงงานและครอบครัว เพื่อเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพช่วยเพิ่มศักยภาพให้ก้บภาคอุตสาหกรรมอาหารของทั้งประเทศไทย และประเทศบ้านเกิดของแรงงาน” นางสาวนาตยา กล่าว

นางสาวนาตยา ย้ำว่า ปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานผิดกฎหมายมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับปัญหาสังคมอื่นๆ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการแก้ปัญหา ศูนย์ FLEC เป็นต้นแบบของความร่วมมือเพื่อดำเนินงานด้านปัญหาแรงงาน และพัฒนาคุณภาพชีวิต สามารถสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมทั้งด้านปัญหาแรงงานที่เป็นภาพลักษณ์ของประเทศ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน และสามารถขยายเครือข่ายในการป้องกันปัญหาได้มากขึ้น

สำหรับ การก้าวสู่ปีที่ 4 ของศูนย์ FLEC ยังคงเดินหน้าการแก้ปัญหาเชิงรุกมากขึ้น โดยส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายในการป้องกันปัญหาค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฎหมายทุกรูปแบบให้มากที่สุด ควบคู่ การพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อช่วยลดเหลื่อมล้ำทางสังคม ผ่านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานและครอบครัว ซึ่งปัจจุบัน ศูนย์ FLEC ได้ดำเนินการเพิ่มทักษะอาชีพเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและเป็นทางเลือกเป็นอาชีพสร้างรายได้เสริมในอนาคต การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับบุตรหลานของแรงงานเข้าสู่ระบบการศึกษาของไทย รวมไปถึง การเพิ่มทักษะชีวิตแก่แรงงานและครอบครัว ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่คนในสังคมให้ช่วยเป็นหูเป็นตาป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตลอดจนให้ศูนย์ฯ เป็นศูนย์กลางที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจของแรงงานเพื่อนำไปสู่การขจัดปัญหาแรงงานในสงขลา

ศูนย์ FLEC เดินหน้าเข้มแข็ง บูรณาการรัฐ-เอกชนต่อยอดสู่การพัฒนาแรงงานยั่งยืน

 

 

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายในการสนับสนุนศูนย์ FLEC ให้เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สนับสนุนการแก้ปัญหาแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชนและป้องกันการค้ามนุษย์ทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค ทั้งยังช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารและส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้านการจ้างแรงงานตามมาตรฐานสากลและกฎหมายแรงงาน เป็นต้นแบบให้กับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อการป้องกันปัญหาแรงงานในระยะยาวได้ ขณะเดียวกันทางศูนย์มีแนวคิดที่จะส่งเสริมการอนุรักษ์ทะเลผ่านช่องทางการประมงโดยมุ่งเน้นความร่วมมือจากแรงงานประมงบนเรือ เพื่อลดผลกระทบจากขยะที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมทางทะเล อันจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ ซึ่งกิจรรมทั้งหมดมุ่งสนองตอบต่อแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งองค์การสหประชาชาติ (SDGs)

ศูนย์ FLEC เดินหน้าเข้มแข็ง บูรณาการรัฐ-เอกชนต่อยอดสู่การพัฒนาแรงงานยั่งยืน