ข้าพระบาท ทาสประชาชน : ปิดคอกย้ายพรรค กับอุดมการณ์พรรคการเมือง

30 พ.ย. 2561 | 18:24 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2561 | 02:31 น.
ปิด-2 เมื่อมีการปักหมุดการ เมืองการเลือกตั้งทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญใหม่ปี 2560 ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ทุกคนคาดหวังและรอคอยบรรยากาศการเลือกตั้ง หลังการรัฐประหารที่รัฐบาล คสช.ครองอำนาจการปกครองมาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึงเกือบ5 ปี ทำให้บรรยากาศการเมืองคึกคักเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 อันถือเป็นวันสุดท้ายของการเข้าสังกัดเป็นสมาชิกพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง เพื่อที่จะทำให้ตนเองมีระยะเวลาในการเป็นสมาชิกพรรคครบ 90 วัน เมื่อนับจากวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 หากมีการเลือกตั้งจริงตามกำหนดการดังกล่าว

ทั้งนี้ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 97 (3) ที่บัญญัติไว้ข้อหนึ่งตาม (3) ให้บุคคลผู้มีคุณสมบัติที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าวให้ลดลงเหลือสามสิบวัน
46953513_499025630604111_783026049058340864_n ด้วยเหตุตามกฎหมายรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี่แหละ ทำให้วันสุดท้ายคือ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เป็นวัน “คอกพรรคการเมืองแตก” เพราะผู้ที่ต้องการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ต้องวิ่งวุ่นกันจ้าละหวั่น ทั้งต้องไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่ที่ตนชอบ ทั้งต้องลาออกจากพรรคเดิม และต้องวิ่งไปยื่นหนังสือลาออกที่ กกต.ต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อให้แน่ใจว่าตนเองขาดจากสมาชิกพรรคเดิมแล้ว ป้องกันไม่ให้พรรคเดิมหักหลังไม่ยอมลบชื่อออก ซึ่งจะมีผลทำให้ตนขาดคุณสมบัติ หน้าแตกเอาได้ในวันไปยื่นใบสมัคร ส.ส.

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 จึงเป็นวันโกลาหลของคนการเมือง ภาษาข่าวหนังสือพิมพ์ถึงขนาดเรียกวันนี้ว่า “วันปิดคอกย้ายพรรค” อ่านแล้วก็โดนใจ โชคดีที่ผู้เขียนมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด จนบัดนี้ก็ยังมิได้คิดจะสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด แต่ยินดีสนับสนุนทุกพรรคทุกคนที่คิดดีต่อชาติบ้านเมืองครับ เมื่อมีการเลือกตั้งคงเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ปรากฏการณ์ย้ายพรรค หรือวิ่งวุ่นเพื่อสมัครเข้าพรรคการเมืองดังกล่าว จะโทษนักการเมืองเหล่านั้นว่าไม่มีจุดยืน ไร้อุดมการณ์ทางการเมืองคงพูดยาก สาเหตุหนึ่งก็มาจากรัฐธรรมนูญและรูปแบบวิธีการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมนี่แหละ ที่กำหนดกฎเกณฑ์กติกาให้เป็นเช่นนั้น นักการเมืองทั้งหลายจึงดิ้นรนเอาตัวรอด บางพรรคก็แตกคอกแตกพรรค สร้างกลยุทธ์เอาแบงก์ 1,000 มาแตกเป็นแบงก์ 100 หวังให้ได้ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อให้ได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้ง

คิดการใหญ่เพื่อแก้เกมติดล็อกจากรัฐธรรมนูญ ฝ่ายพรรคพลังประชารัฐที่คาดว่าจะเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ก็เดินเกมดูดและขุดกำแพงพรรคคู่แข่งจนออกอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง พรรคที่โดนดูดหรือที่ลูกพรรคตีตนหนีจาก ก็เลยต้องออกมาตอบโต้โจมตีพรรคคู่แข่ง กระทั่งออกมาด่าไล่ส่งอดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรีและลูกพรรคที่เคยสังกัดพรรคกลุ่มอำนาจเก่าว่า ทรยศพรรค ขายอุดมการณ์ เนรคุณประชาชน เป็นพวกเห็นแก่เงิน ยอมตนรับใช้พรรคเผด็จการไปโน่นเลย

[caption id="attachment_355112" align="aligncenter" width="335"] เพิ่มเพื่อน [/caption]

พรรคที่ออกมาโวยวายมากที่สุดในเรื่องนี้คือคนของ พรรคเพื่อไทย กับ พรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเสียงด่าทอและอาการโวยวายอดีตพรรคพวกตนเองที่ตีจากไป โดยทำประหนึ่งว่าพรรคตนมีอุดมการณ์เพื่อชาติบ้านเมืองเสียเหลือเกิน เป็นผู้เสียสละยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยแบบพลีชีพ เหมือนกับว่าพรรคตนไม่เคยดูดสมาชิกพรรคอื่นมาก่อน

หากทบทวนดูให้ดีต้นตำรับการดูดมาจากพรรคใด ก็จะพบความจริงว่า ต้นกำเนิดของพรรคเพื่อไทยมีรากเหง้ามาจากพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน มิใช่หรือ2 พรรคดังกล่าวเกิดขึ้นและโตมาจากการดูดและควบรวมเอาพรรคการเมืองอื่นๆ มารวมในพรรคของตนมิใช่หรือ พรรคเสรีธรรม, พรรคความหวังใหม่, พรรคชาติพัฒนา ก็เคยถูกดูดและควบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนมาแล้วทั้งสิ้น

จนต่อมาทั้ง 2 พรรคโดนศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค เพราะทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จึงได้กลายมาเป็นพรรคเพื่อไทย ถึงวันนี้ ถ้าหากนักการเมืองเหล่านั้นจะตีจากพรรคเพื่อไทย ทำไมพวกเขาต้องกลายเป็นคนทรยศ ต้องอยู่กับเพื่อไทยไปจนตายหรือไม่ก็ติดคุกใช่ไหม จึงจะเป็นคนดีของพรรค ดังนั้นการย้ายพรรคของนักการเมือง จึงไม่อาจเอาเรื่องอุดมการณ์พรรคมาตำหนิวิจารณ์หรือด่าทอสมาชิกได้เลย เพราะแต่ละพรรคก็พอๆ กัน

หากจะถามถึงอุดมการณ์พรรคการเมือง ก็ต้องถามว่ายุคการบริหารของพรรคการเมืองใด ที่มีการสังหารประชาชนในสงครามปราบยาเสพติดถึง 2,500 ศพ โดยมิได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย ในขณะที่รัฐบาลทหารไม่มีใครตายสักศพ, รัฐบาลใดที่มีคดีทุจริตและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรํ่ารวยผิดปกติมากที่สุด และมีรัฐมนตรีถูกพิพากษาจำคุกในคดีทุจริตมากที่สุด, และในยุคของพรรคการเมืองใดที่บ้านเมืองลุกเป็นไฟ การประชุมอาเซียนถูกลุยจากมวลชนพรรคไหน จนผู้นำประเทศต่างๆ ต้องหนีตาย วงประชุมระดับโลกต้องล้มเลิกกลางคััน ศาลากลางจังหวัดถูกเผาหลายจังหวัด ทรัพย์สินประชาชนไหม้เป็นจุล และประชาธิปไตยแบบไหนที่ลูกพรรคติดคุก หัวหน้าลอยนวล อย่างนี้หรือที่เรียกว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตย?

พรรคการเมืองทั้งหลายไม่ว่าพรรคใด จะดูด จะแย่งชิงสมาชิกหรือผู้สมัครเกรดต่างๆ ก็ทำไปเถอะครับ เพราะการเมืองไทยก็เล่นกันแบบนี้มาจนชาชินแล้ว ตราบใดที่การปฏิรูปทางการเมือง ยังไม่ปรากฏเป็นจริง อย่ามาอ้างอุดมการณ์หรือประชาธิปไตยให้เหม็นขี้ปากเลยครับ

อย่ากล่าวหาใครเรื่องเผด็จการ หรืออย่าอวดอ้างตนเป็นนักประชาธิปไตย ทำตนเองให้เป็นผู้มีอุดมการณ์จริงๆ ให้ได้ ปฏิบัติตนยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยจริงๆ เสียก่อน ค่อยออกมาโวยวายผู้อื่น แหกปากร้องตะโกนแบบนี้มันขายขี้เท่อครับ

| คอลัมน์ : ข้าพระบาททาสประชาชน
| โดย : ประพันธุ์ คูณมี
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3422 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค.2561
595959859