โบ้ย 2 ค่ายใหญ่! "เครื่องซักผ้า" ถูกตัดจีเอสพี

08 พ.ย. 2561 | 16:07 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2561 | 23:07 น.
529
081161-1555

ผวาสหรัฐฯ ตัดจีเอสพีไทย 11 รายการ ทุบซ้ำส่งออกไปสหรัฐฯ วูบเพิ่ม "เครื่องซักผ้า" ระบุ 2 ค่ายใหญ่ "ซัมซุง-แอลจี" ดันตัวเลขโต เหตุถูกตัดสิทธิ "กล้วยไม้" จับตาคู่ค้าผลักภาระภาษี-ต่อลดราคา

จากที่สหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศผลการพิจารณาโครงการทบทวนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ประจำปี 2560 โดยได้ตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย 11 รายการ แบ่งเป็น ตามหลักเกณฑ์ที่มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% จำนวน 10 รายการ ได้แก่ ดอกกล้วยไม้สด ทุเรียนสด มะละกอตากแห้ง มะขามตากแห้ง ข้าวโพดปรุงแต่ง ผลไม้/ถั่วแช่อิ่ม มะละกอแปรรูป แผ่นไม้ปูพื้น เครื่องพิมพ์ และขาตั้งกล้องถ่ายรูป และอีก 1 รายการ คือ เครื่องซักผ้า จากเกณฑ์มูลค่าการนำเข้าเกิน 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นการตัดสิทธิ์จีเอสพีที่มีจำนวนรายการมากสุดในรอบ 10 ปี และมีผลให้สินค้าข้างต้นต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ (MFN) เฉลี่ย 1-8% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2561 นั้น

ด่วน! สหรัฐฯ สั่งตัด GSP ไทย 11 รายการ อ้างส่วนแบ่งตลาดเกิน 50%

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไฟฟ้า เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้สินค้าเครื่องซักผ้าของไทยถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิจีเอสพีในครั้งนี้เป็นผลจาก 2 ค่ายใหญ่จากเกาหลี ได้แก่ ซัมซุงและแอลจี ได้มาลงทุนตั้งโรงงานผลิตเครื่องซักผ้าไซซ์ขนาดใหญ่ในไทย มีเป้าหมายหลักเพื่อใช้สิทธิจีเอสพีไทยส่งออกยังสหรัฐฯ จากก่อนหน้านี้เครื่องซักผ้าที่ผลิตในเกาหลีใต้ถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) ซึ่งผลพวงจากที่ 2 ค่าย ได้ส่งออกเครื่องซักผ้าจากไทยไปสหรัฐฯ มากในปี 2560 และเกินเพดานนำเข้าที่กำหนด (เกิน 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี) จึงทำให้ถูกตัดสิทธิดังกล่าว


GP-3415_181108_0002

"การถูกตัดสิทธิจีเอสพี คาดจะกระทบต่อยอดการส่งออกเครื่องซักผ้าของไทยไปสหรัฐฯ ที่อาจลดลงในอนาคต จากเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ยอดส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ลดลงจากสงครามการค้า แต่ในข้อเท็จจริงกระทบกับผู้ประกอบการจากค่ายเกาหลีที่ตั้งฐานในไทย ส่วนผู้ประกอบการไทยไม่กระทบ เพราะส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่มาก"

ด้าน นายวิทยา ยุกแผน อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย กล่าวว่า จากที่ดอกกล้วยไม้สดถูกตัดจีเอสพีครั้งนี้ด้วย ผลกระทบคงเกิดขึ้นบางส่วน จะมีผลต่อการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่จะลดลงหรือไม่นั้น ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป เรื่องนี้คงต้องรอดูความชัดเจนก่อนว่า อัตราภาษีดอกกล้วยไม้ที่จะต้องเสียภาษีนำเข้าตลาดสหรัฐฯ หลังถูกตัดจีเอสพีแล้วจะเป็นเท่าใด ผู้นำเข้าจะผลักภาระภาษีมาให้ผู้ประกอบการไทยหรือไม่ หากไม่ผลักภาระ ผู้นำเข้าจะมีการขอต่อรองราคาสินค้าลงมากน้อยเพียงใด เพื่อชดเชยกับต้นทุนภาษีที่จะต้องถูกเก็บ (จากเดิมภาษี 0%)


กล้วยไม้

สำหรับตลาดสหรัฐฯ ณ ปัจจุบัน ถือเป็นตลาดส่งออกดอกกล้วยไม้อันดับ 1 ของไทย
 ที่มาแรงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แซงญี่ปุ่น ที่อดีตเป็นตลาดอันดับ 1 แต่จากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และกระทบเศรษฐกิจญี่ปุ่นเมื่อหลายปีก่อน ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัว ผู้ประกอบการไทยเลยหันมาทำตลาดอื่นเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากตลาดสหรัฐฯ ถูกกระทบจากการถูกตัดจีเอสพีครั้งนี้ ก็ยังมีอีกหลายตลาดที่สามารถขยายออกไปได้ โดยตลาดที่มาแรงในขณะนี้ คือ ตลาดจีนและเกาหลีใต้

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การถูกตัดสิทธิจีเอสพีของไทยรอบล่าสุด จำนวน 11 รายการ เป็นไปตามกฎเกณฑ์ หรือ กติกาที่สหรัฐฯ กำหนด การที่หลายสินค้าไทยมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% ในสหรัฐฯ ถือว่ามีความสามารถในการแข่งขันสูงแล้ว หากจะถูกเก็บภาษีในอัตรานำเข้าปกติ 1-8% ก็น่าจะยังแข่งขันได้ เพราะอัตราไม่สูงมาก ที่ผ่านมา การให้สิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯ แก่ไทย เป็นการให้ฝ่ายเดียว การถูกตัดตามหลักเกณฑ์ ไทยจึงไม่มีสิทธิไปว่าเขาได้ แต่มีสิทธิทักท้วงได้ โดยในจำนวน 11 รายการ ที่ถูกตัดสิทธิครั้งนี้ มี 1 รายการ คือ ขาตั้งกล้องถ่ายรูป ที่ฝ่ายไทยได้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว พบว่า มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 19.8% ไม่เข้าเกณฑ์ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ได้แจ้งไปยังสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง

 

[caption id="attachment_344253" align="aligncenter" width="503"] อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์[/caption]

"ในอนาคต สินค้าไทยต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น และยืนให้ได้ด้วยลำแข้งตัวเอง ลดการพึ่งพาจีเอสพีให้น้อยลง ซึ่งจะเห็นได้จากที่ผ่านมา สินค้าไทยได้ถูกสหภาพยุโรป ตุรกี และแคนาดา ยกเลิกการให้สิทธิจีเอสพีไปแล้ว เมื่อปี 2558 แรก ๆ อาจกระทบบ้าง แต่ที่สุด เราก็ปรับตัวเองและแข่งขันได้"

ปัจจุบัน มีประเทศที่ยังให้สิทธิจีเอสพีไทยมี 5 กลุ่ม/ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช นอร์เวย์ ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ โดยในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ มูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิจีเอสพีไปยัง 5 ประเทศ มูลค่ารวม 5,297.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้มีมูลค่าการใช้สิทธิ 3,169.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราการใช้สิทธิ 59.84% ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.35% ในจำนวนนี้มูลค่าการใช้สิทธิไปยังตลาดสหรัฐฯ มากสุด มูลค่า 2,858.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ 68.46%


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,415 วันที่ 4 - 7 พ.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โบ้ย 2 ค่ายเกาหลี เหตุ "เครื่องซักผ้า" ถูกตัดจีเอสพี
'ทรัมป์' จ่องัดเซฟการ์ด เครื่องซักผ้าไทยระทึก


เพิ่มเพื่อน
บาร์ไลน์ฐาน