ดันสุดลิ่ม! "ชาวนายุค 4.0" ชิมลางประมูลออนไลน์ "ข้าวอินทรีย์" ล้านไร่

11 ต.ค. 2561 | 10:40 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2561 | 20:18 น.
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2552 ให้วันที่ "5 มิถุนายน" ของทุกปี เป็น "วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ" แต่คนทั่วไปไม่ค่อยรับทราบ เพราะรัฐบาลไม่ได้ประกาศและกำหนดไว้ในปฏิทินเหมือนวันสำคัญอื่น ๆ "ฐานเศรษฐกิจ" ฉบับนี้ สัมภาษณ์พิเศษ "นายสุเทพ คงมาก" นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ถึงการผลักดันรัฐบาลให้ประกาศและกำหนดวันข้าวและชาวนาแห่งชาติเป็นวันสำคัญลงในปฏิทิน และพูดถึงทิศทางอนาคตของ บริษัท ข้าวรวมพลัง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวถุง "รวมพลัง" ที่อยู่ภายใต้การบริหารของสมาคม ว่า ณ ปัจจุบัน มีความก้าวหน้าอย่างไร และจะยกระดับการทำธุรกิจอย่างไรในอนาคต

 

[caption id="attachment_330672" align="aligncenter" width="424"] สุเทพ คงมาก สุเทพ คงมาก[/caption]

วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ
นายสุเทพ กล่าวว่า จากที่ ครม. ได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน เป็นวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ เนื่องด้วยในวันนี้เมื่อปี 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทอดพระเนตรการทำนาที่ อ.บางเขน และทอดพระเนตรกิจกรรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งได้ทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เองในแปลงนา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่หาที่สุดมิได้ ที่พระราชทานความเมตตาต่อข้าวและชาวนาในสยาม

สำหรับ "ข้าวและชาวนา" ถือเป็นสัญลักษณ์และเอกลักษณ์สำคัญของชาติ รวมถึงเป็นความมั่นคงทางอาหารที่หล่อเลี้ยงคนไทยและชาวโลกด้วย ดังนั้น ทางสมาคมจึงได้ทำหนังสือถึงรัฐบาล เพื่อกำหนดให้ "วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ" เป็นวันสำคัญของชาติ เพื่อบรรจุลงในปฏิทินให้ทราบโดยทั่วกัน ปัจจุบัน หนังสือสำคัญฉบับนี้ได้ถึงมือของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีแล้ว จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป


ขาย "ข้าวอินทรีย์" ออนไลน์
นายสุเทพ กล่าวอีกว่า นับตั้งแต่เข้ามาบริหารสมาคมร่วม 3 ปีแล้ว ได้จัดตั้ง บริษัท ข้าวรวมพลัง จำกัด ขึ้นเพื่อผลิตและจำหน่ายข้าวบรรจุถุง 5 กิโลกรัม ในแบรนด์ "ข้าวรวมพลัง" เพื่อรับซื้อข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุมธานี จากสมาชิกในราคาสูงกว่าตลาด สามารถช่วยสมาชิกได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอ ล่าสุด ทางผู้บริหารของสมาคม ได้มีการประชุมความร่วมมือ 4 ฝ่าย ได้แก่ บริษัท ข้าวรวมพลัง จำกัด, เกษตรกรลุ่มนํ้าปากพนัง จำกัด, สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และบริษัท เทรดคอนเน็ค จำกัด เป็นเจ้าของและผู้พัฒนาโปรแกรมประยุกต์คอนเนกมาร์เก็ตออนไลน์ เพื่อทำตลาดกลางข้าวอินทรีย์แบบจับคู่และประมูลออนไลน์


rice3

"ระบบการทำงานของโปรแกรมนี้ เมื่อนำมาบริหารจัดการตลาดข้าวเปลือกและข้าวสารในระบบแพลตฟอร์มออนไลน์ จะเป็นการสร้างและพัฒนาระบบการขายการตลาดแบบค้าส่งข้าวเปลือกและข้าวสารอินทรีย์ในรูปแบบใหม่ มีการซื้อขายจริงตามเงื่อนไขของตลาด รองรับตลาดข้าวเกษตรอินทรีย์ (ที่มีมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และเกรดคุณภาพข้าวที่ได้มาตรฐานกำกับ) ทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร ที่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถเปิดราคาและกำหนดราคาขายข้าวได้ด้วยตนเอง โดยการนำเสนอและเปิดราคา (ต้นทุนการผลิตบวกกำไรที่ต้องการ) และปริมาณข้าวที่ต้องการขายผ่านระบบโปรแกรมการจับคู่และประมูลออนไลน์เข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อ (ที่ผ่านการรับสมัคร การคัดกรอง ของฝ่ายกรรมการบริหารตลาดที่มีความมั่นคงในการประกอบธุรกิจ) ที่อยู่ทั้งตลาดในประเทศและทั่วโลก"

ทั้งนี้ จะมีการจัดฝึกอบรมและพัฒนากระบวนการบริหารจัดการตลาดจับคู่และประมูลออนไลน์อย่างเป็นระบบให้กับกลุ่มผู้ขายและกลุ่มผู้ซื้อต่อไป


ป้องชาวนาถูกเอาเปรียบ
สำหรับที่มาของการทำตลาดกลางข้าวอินทรีย์แบบจับคู่และประมูลออนไลน์นี้ เนื่องจากระบบตลาดข้าวและการค้าข้าวของไทย ส่วนใหญ่ชาวนาผู้ปลูกข้าวมักถูกเอาเปรียบ ถูกกดราคามาโดยตลอด ไม่สามารถเสนอราคา หรือ ขายข้าวในราคาที่ทำให้มีรายได้และฐานะที่มั่นคงได้เลย ซึ่งเมื่อรัฐบาลส่งเสริมนโยบายปลูกข้าวอินทรีย์ เบื้องต้น 1 ล้านไร่ สมาคมจึงมีแนวทางใหม่ป้องกันไม่ให้ชาวนาผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ต้องกลับไปในวังวนวัฐจักรแห่งการถูกเอารัดเอาเปรียบอีก

"อยากให้ถอดบทเรียนจากอดีต เช่น การล่มสลายของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟท), ท่าข้าวกำนันทรง และท่าข้าวต่าง ๆ จำเป็นที่จะต้องใช้กลยุทธ์การใช้ระบบดิจิตอล อินเตอร์เน็ต เข้ามาบริหารจัดการข้าวเปลือก เชื่อมโยงไปถึงข้าวสารทั้งในและต่างประเทศในอนาคต โดยเอื้ออำนวยให้ผู้ซื้อและผู้ขายเชื่อมโยงกันเองโดยตรง จะเกิดผลอย่างไร นับว่าเป็นความท้าทายของชาวนาในยุค 4.0 อย่างยิ่ง"


090861-1927-9-335x503-8-335x503

อย่างไรก็ดี อยากจะฝากถึงผู้ส่งออก เนื่องจากได้ทราบข่าวว่า ได้ประกาศรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิล่วงหน้าจากชาวนาที่ 13,850 บาทต่อตัน จากราคาตลาด ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 17,000 บาท ประเมินแล้วจะตํ่ากว่าราคาที่เป็นจริง ในฐานะที่เป็นตัวแทนชาวนาอยากจะให้ราคาที่ออกมาเป็นธรรมทุกฝ่าย ผู้ส่งออกกำไรไม่ต้องเอามาก โรงสีที่ซื้อข้าวสด ข้าวแห้ง ให้ชาวนาได้ส่วนแบ่งที่เป็นธรรมด้วย เพราะฉะนั้นการตั้งราคาตํ่าเกินไป การส่งมอบจะส่งผลให้โรงสีซื้อราคาตํ่า คาดว่าในเร็ว ๆ นี้ จะมีการคุยกันอีกครั้งว่า ถ้าประกาศซื้อล่วงหน้าเป็นผลกระทบตามไปด้วย โดยเฉพาะปีนี้ไทยตั้งเป้าส่งออกข้าว 11 ล้านตัน ก็อยากให้ชาวนาได้มีส่วนแบ่งอย่างเป็นธรรมด้วย


หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,408 วันที่ 11 - 13 ตุลาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว