ต้นไม้ 58 ชนิดกู้เงินได้

01 ส.ค. 2561 | 11:14 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2561 | 20:32 น.
3.9 k
2655665

ที่ประชุมครม.สัปดาห์ก่อนได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ... โดยกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้เสนอ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่อง มาจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เสนอแผนขับเคลื่อนระบบการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง ในส่วนของระบบการจัดการทรัพยากรและชุมชน ที่จะผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์

กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้กำกับดูแลพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 ได้เสนอออกกฎกระทรวงตามพ.ร.บ.นี้ให้นำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าสูงมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ โดยออกกฎกระทรวงตามมาตรา 8 (6) พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจที่บัญญัติให้หลักประกัน ได้แก่ ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงได้กำหนดไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 58 ชนิดตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่าให้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้
J6613333-144 ต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า 58 ชนิด อาทิ ต้นสัก ต้นพะยูง ต้นชิงชัน ต้นกระซิก ต้นกระพี้เขาควาย ต้นสาธร ต้นแดง ต้นประดู่ป่า ต้นประดู่บ้าน ต้นมะค่าโมง ต้นมะค่าแต้ ต้นเคี่ยม ต้นพะยอม ต้นตะเคียนทอง ต้นตะเคียนหิน ต้นตะเคียน

ต้นสะเดา ต้นสัตบรรณ ต้นตีนเป็ดทะเล ต้นปีบต้นตะแบกนา ต้นแคนา ต้นกัลปพฤกษ์ ต้นมะขามป้อม ต้นจามจุรี ต้นหลุมพอ ต้นกฤษณา ไม้หอม ต้นเทพทาโร ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน ต้นมะขาม

กฎหมายหลักประกันธุรกิจออกมาเมื่อปี 2558มีผลใช้บังคับปี 2559 โดยหลักประกันทางธุรกิจกำหนดไว้เดิม เช่น กิจการ, สิทธิเรียกร้อง เช่น สินค้าคงคลัง-เครื่องจักร, บัญชีเงินฝาก, อสังหาริมทรัพย์, ทรัพย์สินทางปัญญาและทรัพย์สินอื่นๆ ที่ผ่านมาที่นิยมใช้เป็นหลักประกัน แค่เพียงบัญชีเงินฝาก ทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนอื่นๆแบงก์ยังไม่ค่อยรับเป็นหลักประกัน ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้เอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน สามารถมีหลักทรัพย์มาใช้เป็นหลักประกันได้เพิ่มขึ้น

การนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันได้ จะไปสอดรับกับโครงการธนาคารต้นไม้ ที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำพ.ร.บ.ธนาคารต้นไม้ รองรับการส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ การออม รองรับสังคมสูงวัย และยังต้องแก้ไข พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และ พ.ร.บ.อื่นๆ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อขจัดอุปสรรค ส่งเสริม สนับสนุน และจูงใจให้ประชาชนและชุมชนปลูกต้นไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อการออม และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

การปลดล็อกให้ไม้ยืนต้น 58 ชนิดเป็นหลักประกันธุรกิจได้ อาจยังไม่เพียงพอ รัฐบาลจะต้องเร่งพิจารณาแก้กฎหมายปลดล็อกให้สามารถตัดไม้มีค่าบางชนิดในที่ดินตัวเองมาขายได้ด้วยตามความเหมาะสม เปลี่ยนแปลงเป็นรายได้ ช่วยส่งเสริมท้องถิ่นเข้มแข็ง เพิ่มทางเลือกในการลงทุน เอื้ออำนวยต่อเศรษฐกิจฐานราก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง...
- พณ.แจง “ต้นไม้” เป็นหลักประกันกู้ เพิ่มช่องทางให้ผู้มีรายได้น้อย

|บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
|ฉบับ 3388 หน้า 16 ระหว่างวันที่ 2-4 ส.ค.2561
e-book-1-503x62