กฟผ.สร้างบ้านปลาจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า

25 ก.ค. 2560 | 15:23 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2560 | 22:23 น.
กองทัพภาคที่ 4 ร่วมกับ กฟผ. จัดทำ “โครงการบ้านปลาปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า” ด้วยการนำลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งานมาจัดทำเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรประมงชายฝั่งทะเลในพื้นที่ จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส

พลโท ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธานในพิธีปล่อยปะการังเทียม ตามโครงการบ้านปลาปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 65 พรรษา ณ หาดวาสุกรี ชุมชนปาตาตีมอ เทศบาลเมืองตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

โดยมี นายพงศ์เทพ ไข่มุกด์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายวรพจน์ อินทร์ทอง ผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานเอกชน และชุมชนในพื้นที่จังหวัด ปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 2,000 คน โดยโครงการฯ ในครั้งนี้จะนำลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งานแล้วจำนวน 6,400 ลูก มาสร้างเป็นปะการังเทียม 400 ชุด และนำไปวางในพื้นที่ ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และ ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลและช่วยฟื้นฟูคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่วิถีประมงของจังหวัดชายแดนใต้ S__15040570

สำหรับ โครงการบ้านปลาปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า กฟผ. ได้ดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี 2556 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดยนำไปวางบริเวณหาดเตยงาม ค่ายกรมหลวงชุมพร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และจากการติดตามผลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่พบว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีผลทำให้สัตว์ทะเลชนิดต่าง ๆ เข้ามาอยู่อาศัยและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น กฟผ. จึงได้ขยายผลนำปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ไปวางเพิ่มเติมที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี อีก 2 จุด และที่บริเวณ เกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพิ่มอีก 1 จุด ซึ่งในการดำเนินงานได้เน้นสร้างการมีส่วนร่วมและปลูกจิตสำนึกให้กับกลุ่มประมงพื้นบ้านให้เห็นคุณค่าและร่วมมือในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรประมงชายฝั่งทะเล โดยที่ผ่านมาได้จัดทำปะการังเทียมแล้วทั้งสิ้นจำนวน 1,300 ชุด ใช้ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้ารวม 28,000 ลูก ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถฟื้นฟูทรัพยากรประมงชายฝั่งทะเลของไทยให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้ในการทำประมงให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน