เปิดสาเหตุ"ดร.เอ้-สืบพงษ์ ปราบใหญ่" หลุดอธิการ"ม.รามคำแหง

26 ธ.ค. 2564 | 17:40 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ธ.ค. 2564 | 03:40 น.

เปิดเหตุ"ดร.เอ้-สืบพงษ์ ปราบใหญ่" หลุดอธิการ ม.รามคำแหง"  บ่ายเบี่ยงเรียกประชุมกก.สภามหาลัย จนหลายฝ่ายเดือดร้อน เตรียมเจอเด้งสอง หลังร่วมซุกที่ดินสุพจน์"ได้มาโดยมิชอบ"

แหล่งข่าวจากสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงกรณีที่สื่อมวลชนรายงานข่าวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กรณีเครือข่ายพิทักษ์คุณธรรมมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ยื่นเรื่องต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  และอุปนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ตรวจสอบกรณีปรากฎข้อมูลว่า นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยได้รับการโอนที่ดิน 2 แปลงในพื้นที่จังหวัดนครนายก ต่อจากนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม

หลังจากที่นายสุพจน์ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งข้อกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ  และเมื่อวันที่24 ธ.ค.2564 ที่ประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง มีมติให้ถอดถอนนายสืบพงษ์จากการดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมีการแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทน 

แหล่งข่าวกล่าวว่า   ส่วนหนึ่งของเนื้อหาของแถลงการณ์จากเครือข่ายฯระบุว่า"...อธิการบดีคนปัจจุบันอาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายเนื่องจากได้รับโอนที่ดินจำนวน 2 แปลง ในพื้นที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก หลัง ป.ป.ช. ได้ตั้งข้อหาบุคคลผู้โอนทรัพย์สินนั้น ร่ำรวยผิดปกติ จึงอาจเข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุน ทุจริตต่อหน้าที่

ด้วยการซุกซ่อน ปกปิดแหล่งที่มาทรัพย์สิน เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ว่าก่อน ขณะ หรือหลังกระทำความผิด มิต้องให้รับโทษหรือรับโทษน้อยลง

ขณะเดียวกัน ที่ดินดังกล่าวยังได้ถูกศาลฎีกาพิพากษาให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 469/2561 จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าว อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561..."นั้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2564 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยนายสืบพงษ์ได้รับการสรรหามาปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีคนปัจจุบัน

และเมื่อรับตำแหน่งปรากฏว่านายสืบพงษ์พยายามเลื่อนการประชุมสภามหาวิทยาลัยและบ่ายเบี่ยงการเรียกประชุมถึงสองครั้งโดยเหตุผลที่ให้ไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้  

ทั้ง ๆ ที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยได้พยายามใช้อำนาจตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยให้มีการเรียกประชุมเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่องานราชการ แต่นายสืบพงษ์ก็บิดพลิ้วมาโดยตลอด จนส่งผลกระทบต่อนักศึกษา บุคลากร หลักสูตรการเรียนการสอน รวมทั้งภารกิจต่างๆของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก 

แหล่งข่าวกล่าวว่า "กรรมการสภามหาวิทยาลัยบางท่านเป็นผู้เสนอให้ถอดถอนนายสืบพงษ์จากการดำรงตำแหน่งอธิการบดีเพราะส่งผลกระทบในวงกว้างกับมหาวิทยาลัยและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  

และที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาอย่างละเอียด เห็นว่าหากให้นายสืบพงษ์อยู่ในตำแหน่งต่อไปอาจสร้างความเสียหายมากกว่านี้ นอกจากนั้น การปฏิเสธเรียกประชุมสภามหาวิทยาลัยยังอาจเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157  อีกด้วย"

แหล่งข่าวกล่าวว่า  ส่วนกระแสข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอเรื่องการโอนที่ดินระหว่างนายสุพจน์ไปยังนายสืบพงษ์นั้น  ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงอีกเรื่องหนึ่ง  โดยที่ประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงเพิ่งทราบเรื่องนี้ และจะดำเนินการสอบสวน เพราะน่าจะขัดต่อพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541

รวมทั้งข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหงว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้บริหาร พ.ศ.2562  ในข้อ 6 และข้อ 7   หากเรื่องนี้เป็นจริงก็เท่ากับว่า   นายสืบพงษ์ร่วมกันสนับสนุนการกระทำความผิดของนายสุพจน์ในครั้งนั้นด้วย

แหล่งข่าวระบุว่า การที่นายสืบพงษ์พยายามไม่เรียกประชุมสภามหาวิทยาลัยเนื่องจากเกรงว่าสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงจะดำเนินการสอบสวนเกี่ยวกับข้อร้องเรียนเรื่องวุฒิการศึกษาและเรื่องที่เกี่ยวพันกับคดีของนายสุพจน์ซึ่งกำลังตกเป็นข่าวในขณะนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 มาตรา23 วรรคสาม บัญญัติว่า นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระวรรคสอง อธิการบดีพ้นจากตำแหน่งเมื่อ 3)ถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง และ6)สภามหาวิทยาลัยมีมติให้ถอดถอน โดยตอนนี้นายสืบพงษ์ได้ถูกถอดถอนแล้ว  และสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงจะได้ดำเนินการสอบสวนในเรื่องอื่น ๆ ที่มีการร้องเรียนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายสืบพงษ์ผ่านการสรรหาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงคนที่10 โดยผ่านการสรรหาเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2563    

และเมื่อวันที่ 15 ก.ย.2564 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงครั้งที่15/2563ให้นายสืบพงษ์ดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้นายสืบพงษ์ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่วันที่12ก.ย.2564 

อนึ่ง   อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงจะดำรงตำแหน่งวาระละสี่ปีและดำรงตำแหน่งไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

ด้านนายสืบพงษ์กล่าวว่า การประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำเเหงเมื่อวันที่24ธ.ค.ตนเข้าร่วมประชุมด้วยเเต่เมื่อถึงวาระที่พิจารณาเรื่องของตน ตนถูกเชิญออกจากห้องประชุมจึงไม่ทราบรายละเอียดของมติที่ประชุม ตอนนี้ขอรอดูมติที่ประชุมดังกล่าวก่อน 

"เเละตอนนี้ตนยังปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ของมหาวิทยาลัยตามปกติ ส่วนการเคลื่อนไหวของบางกลุ่มที่จะเกิดขึ้นนั้นตนไม่ทราบรายละเอียด"