ตลท. เปิดเฮียริ่งปรับเกณฑ์คำนวนดัชนี SET50 ลดความผันผวนหุ้นบิ๊กแคป

05 ก.พ. 2568 | 15:06 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2568 | 15:06 น.

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดรับฟังความเห็นปรับสูตรคำนวณ SET50-SET100 ลดอิทธิพลหุ้นบิ๊กแคป สร้างดัชนีสะท้อนตลาดจริง ส่งความเห็นได้ถึง 17 ก.พ. 68

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงคำนวณดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมองว่าดัชนี SET50 และ SET100 ทำหน้าที่เป็นตัวชี้วัดความเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ และมีสภาพคล่องสูง

ซึ่งดัชนีเหล่านี้ถูกใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงสำหรับการลงทุนในกองทุนรวม ตราสารอนุพันธ์ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น  อีกทั้งยังเป็นดัชนีที่ได้รับการติดตามจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดโดยรวม

ในปัจจุบัน ดัชนีดังกล่าวใช้วิธีการคำนวณแบบ Market Capitalization Weight ซึ่งให้สัดส่วนน้ำหนัก โดยคำนวณตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของแต่ละหลักทรัพย์ในดัชนีเป็นหลัก วิธีการดังกล่าวแม้ว่าจะสามารถสะท้อนขนาดและความสำคัญของแต่ละหลักทรัพย์ได้

ทั้งนี้ พบว่าในบางกรณีหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่จะมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีสูง ซึ่งอาจทำให้ดัชนีไม่สะท้อนภาพรวมของตลาดเท่าที่ควร และส่งผลกระทบต่อการกระจายความเสี่ยงของนักลงทุน เพื่อลดปัญหาดังกล่าว ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีแนวคิดที่จะศึกษาและปรับปรุงวิธีการคำนวณดัชนี SET50 และ SET100

"วัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบของดัชนีจากหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่และทำให้ดัชนีมีการกระจายตัวของน้ำหนักหลักทรัพย์ที่เหมาะสมมากขึ้น ในการนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขอรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง โดยท่านสามารถให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568"

การจำกัดน้ำหนักหลักทรัพย์ (Capped Weight) ในระดับสากล

เพื่อแก้ปัญหาหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลมากต่อดัชนี ตลาดหลักทรัพย์หรือผู้จัดทำในต่างประเทศจึงเลือกใช้การกำหนด Capped Weight ในการคำนวณดัชนี เพื่อจำกัดสัดส่วนของหลักทรัพย์/กลุ่มหลักทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยการจำกัดน้ำหนักของหลักทรัพย์ในดัชนีนั้น

ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ในหลายดัชนีทั่วโลก เช่น EuroStoxx50, HSI, MSCI, CAC40, NASDAQ100 และ Nikkei225 เป็นต้น จากการศึกษาจากดัชนีชั้นนำในต่างประเทศ การใช้ Capped Weight สามารถดำเนินการได้หลายแนวทาง โดยพิจารณาใน 2 มิติหลัก ได้แก่ การจำกัดน้ำหนักในระดับรายหลักทรัพย์ และ/หรือ กลุ่มหลักทรัพย์

  1. การจำกัดน้ำหนักในระดับรายหลักทรัพย์ (Constituent Stock Weight Capping) : เป็นแนวทางที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในดัชนีต่างประเทศ เช่น HSI, MSCI, EuroStoxx50 และ NASDAQ100 โดยกำหนดเพดานน้ำหนักของหลักทรัพย์รายตัวให้อยู่ในช่วง 8%-15% เพื่อลดอิทธิพลของหลักทรัพย์ขนาดใหญ่
  2. การจำกัดน้ำหนักของกลุ่มหลักทรัพย์ขนาดใหญ่/กลุ่มอุตสาหกรรม (Top-Weight/Sector/Industry Weight Capping) : มีบางดัชนีที่จำกัดน้ำหนักของกลุ่มหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ เพิ่มเติมจากการจำกัดน้ำหนักรายหลักทรัพย์ เช่น ดัชนี NASDAQ100 กำหนดให้ 5 หลักทรัพย์ที่มี Market Capitalization สูงสุด (Top 5) มีน้ำหนักรวมกันไม่เกิน 38.5% เพื่อให้แน่ใจว่าดัชนีไม่ถูกครอบงำโดยหลักทรัพย์ขนาดใหญ่เหล่านั้นด้วย 

ข้อเสนอในการจำกัดน้ำหนักหลักทรัพย์รายตัวใน SET50 และ SET100 Index Series

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอให้พิจารณาจำกัดน้ำหนักหลักทรัพย์รายตัว (Constituent Stock Weight Capping) เพื่อช่วยลดอิทธิพลของหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ต่อดัชนี เนื่องจากเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับผลการหารือเบื้องต้นกับผู้ใช้งานดัชนีและผลการศึกษาต่างประเทศข้างต้น

และจะพิจารณานำ Capped Weight มาใช้กับ SET50, SET100, SET50FF และ SET100FF ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทำการทดสอบ (Index Simulation) พบว่าการจำกัดน้ำหนักหลักทรัพย์รายตัวในดัชนี SET50 และ SET100 ที่ระดับ 10% นั้น สามารถลดอิทธิพลของหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยยังคงรักษาโครงสร้างและความสามารถในการสะท้อนภาพรวมของตลาดไว้ได้ นอกจากนี้ ระดับ 10% ยังสอดคล้องกับข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่กำหนดให้กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนทั่วไป (Retail Mutual Fund) ไม่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์รายตัวเกิน 10% (ประกาศ ทน. 87/2558)

ข้อเสนอแนวทางปรับการคำนวณดัชนีด้วย Capped Weight รายหลักทรัพย์ 

  1. กำหนดให้หลักทรัพย์รายตัวที่เป็นองค์ประกอบในดัชนี SET50, SET50FF, SET100 และ  SET100FF มีน้ำหนักไม่เกิน 10% ในแต่ละรอบการคัดเลือก 
  2. กำหนดให้มีการ Rebalance น้ำหนักของหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีดังกล่าวเป็นรายไตรมาส และในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างรอบคัดเลือก เช่น กรณีหลักทรัพย์ IPO ขนาดใหญ่ หรือกรณีควบรวมและซื้อกิจการ (Merger & Acquisition) โดยแนวทางการ Rebalance จะเน้นการลด Index Turnover ที่ไม่จำเป็น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้ดัชนี