"คุณสู้ เราช่วย" CHAYO มองหนทางปลดหนี้ภาระลูกหนี้ ยอดขาย NPL ครึ่งแรกปี 68 หด

24 ธ.ค. 2567 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2567 | 08:54 น.

"สุขสันต์ ยศะสินธุ์" มองบวกโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” หยุดดอกเบี้ยลดเงินต้นช่วยบรรเทาภาระหนี้ประชาชนได้ กระทบครึ่งแรกปี 68 แบงก์ตัดขาย NPL หดตัว ชี้สัดส่วนซื้อหนี้เสียอายุหนี่งปีต่ำ 5% วางงบพันล้านลุยซื้อหนี้ใหม่เติมพอร์ต 1-1.5 หมื่นล้าน

โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนเรื้อรัง โดยที่โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สมาคมธนาคารไทย รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยมีเป้าหมายในการลดภาระทางการเงินให้แก่ประชาชน สร้างวินัยทางการเงิน และส่งเสริมความยั่งยืนในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ครอบคลุมลูกหนี้ 1.9 ล้านราย 2.1 ล้านบัญชีมูลหนี้คงค้างรวม 8.9 แสนล้านบาท ซึ่งมาตรการการดังกล่าวประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่ “จ่ายตรง คงทรัพย์” และ “จ่าย ปิด จบ”

ภาครัฐและสถาบันการเงินจะร่วมสนับสนุนเม็ดเงินในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมฝ่ายละครึ่งหนึ่ง (50%) เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ร่วมโครงการ ผ่านกลไกการจัดตั้งแหล่งเงินทุนกลางภายใต้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากประเด็นดังกล่าวทำให้มีคำถามเกิดขึ้นมาว่า แล้วผู้ประกอบการบริหารสินทรัพย์ (AMC) จะมองอย่างไร และวางแผนรับมือต่อไปแบบไหน

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ธุรกิจเจรจาติดตามเร่งรัดหนี้สิน ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ และกิจการศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า  ให้มุมมองว่า การที่ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรังนั้นเป็นเรื่องดี และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้

ซึ่งโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากกว่าล้านราย กลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการนี้ ได้แก่

  • สินเชื่อบ้าน วงเงินรวมไม่เกิน 5 ล้านบาท
  • สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ วงเงินรวมไม่เกิน 800,000 บาท
  • สินเชื่อธุรกิจ SMEs วงเงินรวมไม่เกิน 5 ล้านบาท

"กลุ่มแรกก็คือกลุ่มกลุ่มบ้านที่จาก 5 ล้าน ผ่อนไม่คิดดอกเบี้ยเนี่ย 3 ปี เมื่อไม่คิดดอกเบี้ยเงินที่ผ่อนไป ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ เช่น ผ่อนหนึ่งหมื่น เงินก้อนนี้ก็จะไปตัดต้นเงินเลยหนึ่งหมื่น เพราะฉะนั้นในช่วงแรกถ้าผ่อนแล้วไม่มีดอกเบี้ยลูกหนี้ก็ตัดเงินต้นได้เยอะเลยภายในระยะเวลาหนึ่งปี ส่วนตัวมองว่าสิ่งเหล่านี้ที่ภาครัฐได้พยายามน่าจะช่วยคนได้"

สุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO

แต่ในมุมกลับกันในเรื่องนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือดังกล่าว เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยที่เคยได้รับในส่วนนี้ก็จะหายไปพอสมควร แต่อย่างไรก็ดี หากว่าประชาชนเข้าร่วมโครงการจำนวนมากและมูลหนี้มากเกินกว่าเงินสดสนับสนุน ก็เชื่อว่าภาครัฐก็จะหาหนทางช่วยเหลือสถาบันการเงินด้วยเช่นเดียวกัน

ในแง่ของผู้ประกอบการ AMC หากว่าโครงการดังกล่าวเริ่มต้นในช่วงเดือนม.ค.68 และต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิ.ย.68 ก็คาดว่าจะได้เห็นการขายหนี้เสียในช่วงครึ่งแรกปี 68 ที่ลดลงกว่าเมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน เพราะแบงก์ต้องการให้ลูกหนี้มาทําเรื่องปรับโครงสร้างหนี้

แต่เชื่อว่าในช่วงปลายปีปริมาณการตัดจำหน่ายหนี้เสียของสถาบันการเงินจะเริ่มกลับมาขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปริมาณหนี้เสียที่ถูกตัดจำหน่ายออกในปี 68 จะลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ยราว 2 แสนล้านบาท จากปี 67 ที่คาดว่าจะสูงกว่า 3 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ CHAYO มีการซื้อหนี้เสียใหม่อายุไม่เกินหนึ่งปี มีปริมาณที่ต่ำมาก ไม่เกิน 5% ของมูกหนี้ที่ออกมาในระบบ บริษัทจะมีการซื้อหนี้ที่มีอายุมากกว่าหนึ่งปีเป็นหลัก ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ AMC น้อยมาก

"มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้ มองว่าค่อนข้างมีความแตกต่างมากกว่าช่วงโควิด-19 ระบาด เพราะครั้งนี้แบงก์พักดอกเบี้ยถึง 3 ปี ทำให้ในแต่ละปีลูกหนี้สามารถตัดเงินต้นที่คงค้างไว้ได้จำนวนมาก"

อย่างไรก็ตาม CHAYO ยังคงวางเป้าหมายการซื้อมูลหนี้ด้อยคุณภาพใหม่เข้ามาเติมพอร์ตเพิ่ในปี 68 ไว้ที่ไม่น้อยกว่า 1-1.5 หมื่นล้านบาท บริษัทวางการใช้งบประมาณไว้ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนออกเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ประมาณ 80% ของงบลงทุนทั้งหมด ส่วนที่เหลือราว 20% เป็นหนี้มีหลักประกัน เป็นต้น และยังคงเป้าหมายการเติบโตของผลการดำเนินงานไว้ที่ไม่น้อยกว่า 20% จากปีก่อน