คปภ.ตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนด้านประกันภัยแผ่นดินไหว

30 มี.ค. 2568 | 13:37 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2568 | 13:46 น.

เลขาธิการ คปภ. ลงพื้นที่ตึกสตง. ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว พร้อมจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชน ด้านการประกันภัย ให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนอย่างใกล้ชิด

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 คปภ.พร้อมสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และผู้เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของตึก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ที่ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เพื่อประเมินความเสียหายและเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัยแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ

คปภ.ตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนด้านประกันภัยแผ่นดินไหว

ขณะเดียวกัน สั่งการให้จัดตั้ง War Room ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัย ณ สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านประกันภัยอย่างใกล้ชิด

นอกจากนั้น ยังสั่งการให้สำนักงาน คปภ. ภาคและจังหวัดทั่วประเทศ ติดตามและรายงานความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นระยะ โดยจะบูรณาการร่วมมือกับภาคธุรกิจประกันภัย หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้แก่ประชาชนอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 แมกนิจูด ความลึก 10 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลาประมาณ 13.20 น. โดยประมาณ ตามเวลาประเทศไทย ส่งผลให้อาคารสูงบางแห่งเกิดการสั่นไหว ส่งผลให้ตึกสตง.ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ในเขตจตุจักร ถล่มลงมา เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้บาดเจ็บ สูญหาย และเสียชีวิตหลายราย

สำนักงาน คปภ. ได้ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดและจากการตรวจสอบพบว่า โครงการดังกล่าวมีการทำประกันภัย Construction All Risk (CAR) ไว้กับ 4 บริษัท ได้แก่

บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)

บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)

บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน)

บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) สำหรับ

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอาคารสูงที่เป็นสำนักงานและที่พักอาศัย จะต้องมีการเข้าสำรวจและประเมินความเสียหายเพื่อให้ปลอดภัยก่อนใช้งาน

ดังนั้น ขอให้ประชาชนหรือผู้เอาประกันภัยที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยว่า มีความคุ้มครองภัยจากแผ่นดินไหวหรือไม่ ถ้ามีความคุ้มครองให้รีบแจ้งความเสียหายแก่บริษัทประกันภัยทันที เพื่อประโยชน์ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้อย่างรวดเร็ว