SET Index ปิดภาคเช้าดิ่ง 23.02 จุด ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีฉุดตลาดหุ้นร่วง

03 ก.พ. 2568 | 12:54 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.พ. 2568 | 12:54 น.

ตลาดหุ้นไทยวันนี้ 3 ก.พ. 68 ร่วง 23.02 จุด ฉุดดัชนีหล่นลงระดับ 1,290.04 จุด มูลค่าซื้อขาย 3.33 หมื่นล้าน หลังทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเม็กซิโก แคนาดา และจีน อีกทั้งรับแรงฉุดราคาหุ้น CPALL-DELTA ดิ่ง

ความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ 3 ก.พ. 68 เปิดการซื้อขายภาคเช้า ณ เวลา 12.43 น. ดัชนีร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 1,290.04 จุด ปรับตัวลดลงมา 24.46 จุด หรือเปลี่ยนแปลง 1.86% จากปิดตลาดก่อนหน้า ในระหว่างเปิดการซื้อขายภาคเช้าดัชนีดีดตัวขึ้นทำระดับสูงสุดที่ 1,296.07 จุด และย่อตัวลงทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,270.87 จุด มีมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 33,382.45 ล้านบาท

จากการรวบรวมข้อมูลมูลค่าซื้อขายสูงสุด 5 ในช่วงเปิดการซื้อขายภาคเช้าวันนี้นั้น พบว่า หุ้นทั้ง 10 ยืนแดนลบทั้งหมด ประกอบด้วย

  • CPALL ราคา 51.25 บาท ลดลง 0.75 บาท เปลี่ยนแปลง 1.44% มูลค่าซื้อขาย 3,695.58 ล้านบาท
  • DELTA ราคา 123.00 บาท ลดลง 3.00 บาท เปลี่ยนแปลง 2.38% มูลค่าซื้อขาย 2,094.20 ล้านบาท
  • KBANK ราคา 158.00 บาท ลดลง 2.50 บาท เปลี่ยนแปลง 1.56% มูลค่าซื้อขาย 1,881.72 ล้านบาท
  • KTB ราคา 22.80 บาท ลดลง 0.10 บาท เปลี่ยนแปลง 0.44% มูลค่าซื้อขาย 1,192.35 ล้านบาท
  • PTT ราคา 30.75 บาท ลดลง 0.75 บาท เปลี่ยนแปลง 2.38% มูลค่าซื้อขาย 1,156.44 ล้านบาท

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นไทยในวันนี้นั้น หลักๆ เป็นผลมาจากความกังวลต่อความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้ากลับมากดดัน

หลังจากสหรัฐฯ เตรียมขึ้นภาษีนำเข้าเม็กซิโกและแคนาดาในอัตรา 25% และจีน 10%  อิงข้อมูลการค้าปี 2566 จะมีผลต่อสินค้านำเข้าสหรัฐฯสูงราว 1.3 ล้านล้านเหรียญฯ หรือ 43% ของมูลค่าการสินค้านำเข้าทั้งหมด ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของทุกฝ่าย

ประเมินความเสี่ยงข้างต้นจะเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะยาว ส่วนระยะสั้นทำให้ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อลงช้า FED ลดดอกเบี้ยกลับมา ซึ่งอาจทำให้ค่าเงิน Dollar Index แข็งค่า U.S. Bond Yield ทรงตัวระดับสูง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันต่อทิศทาง Fund Flow และเป็น Sentiment ลบต่อกลุ่ม Yield Sensitive ไฟแนนซ์ โรงไฟฟ้า

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังได้รับแรงกดดันจากราคาหุ้น CPALL ที่ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในวันนี้ หลังจากที่มีประเด็นเรื่องครอบครัวผู้ก่อตั้งร้านสะดวกซื้อ 7-11 ในญี่ปุ่น กำลังขอให้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ของประเทศไทย ร่วมลงทุนในการซื้อกิจการคืนจาก Seven & i Holdings

แม้ว่าทาง CPALL จะมีการแจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ในเชืงแบ่งรับแบ่งสู้มาแล้วว่า ในการลงทุน บริษัทฯ จะดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง โดยเน้นประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ ผู้ถือหั้น และผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ เป็นสำคัญ

แต่ดูเหมือนว่าดีลการลงทุนดังกล่าวสำหรับนักลงทุนแล้วอาจไม่ได้มีมุมมองในเชิงบวกนัก เนื่องจากระดับ D/E ของ CPALL CPF อยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 2 เท่า ขณะที่ CPAXT อยู่ที่ระดับราว 1 เท่า สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถในการกู้ยืมเริ่มตึงตัว การลงทุนในดีลขนาดใหญ่ดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อสภาพคล่อง

รวมถึงภาระการจ่ายดอกเบี้ยในระดับที่สูง ซึ่งมองว่าอาจต้องใช้ระยะเวลากว่า 1-1.6 ปี จึงจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ภาพอาจคล้ายกับต้องที่ทำดีลแม็กโครและโลตัส ดังนั้นแล้วในระยะสั้นต้องได้รับแรงกดดันโดยเฉพาะในแง่ของกำไร

"มองว่าการที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในวันนี้เป็นผลมาจากความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นภาษีของทรัมป์ แต่อาจเป็นความกังวลที่มากเกินไป เพราะมองว่าการขึ้นภาษีไทยอาจได้รับผลกระทบที่จำกัด การลงทุนแนะนำเลือกในหุ้นที่อิงเศรษฐกิจในประเทศ แนวโน้มผลงาน ไตรมาส 4/67 ดี และจ่ายปันผลสูง"

ทั้งนี้ มองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยในวันนี้ Downside เริ่มจำกัดแล้ว ประเมินมูลค่าหุ้น (Valuation) อยู่ที่ระดับ 13-15 เท่า โดยกรอบแนวรับสำคัญถัดไปที่ 1,247 จุด เป็นจุดที่ตลาดสร้างฐานใหม่ กลยุทธ์การลงทุน แนะนำเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/68 ออกมาดี แล้วหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูง

โดยหุ้นที่มีแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 4/67 ดี เช่น หุ้นท่องเที่ยว AOT ERW SPA ขณะที่หุ้นที่ให้ปันผลสูง แนะนำ กลุ่มโรงไฟฟ้า EGCO RATCH และหุ้นแบงก์ KTB SCB เป็นต้น