ต้องยอมรับว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนอย่างมาก ส่งผลให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลายบริษัทได้รับผลกระทบโดยเฉพาะราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลง แม้ว่าผลการดำเนินงานจะยังมีการเติบโตที่ดี เป็นผลให้หลายบริษัทเริ่มหันมาใช้กลไก “การซื้อหุ้นคืน” หรือ Treasury Stock พยุงราคาหุ้นตัวเอง
เมื่อไม่นานมานี้ ทางนายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้พูดถึงกรณีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใช้กลไกการซื้อหุ้นคืนจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมาว่า การซื้อหุ้นคืนเป็นกลไกที่ใช้กันในตลาดหุ้นทั่วโลก และเป็นมุมบวกในหลายด้านไม่ใช่เพียงพยุงราคาหุ้นตัวเองเท่านั้น
แต่ยังเพิ่มอัตราส่วนผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) เพราะจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นแต่ผลตอบแทนเท่าเดิมดีต่อราคาหุ้น อีกด้านยังเป็นการคืนทุนให้กับผู้ถือหุ้นตัวเองคล้ายกับการจ่ายเงินปันผล ดังนั้น หากแผนลงทุนของบริษัทนั้นเพียงพอ และยังมีเงินทุนเหลืออยู่นำมาซื้อหุ้นคืนเพื่อให้โอกาสผู้ถือหุ้นนำเงินส่วนเกินตรงนี้ไปใช้ลงทุนแสวงหาผลประโยชน์เอง
"ปัจจุบันเห็นว่ามีหลาย บจ. ซื้อหุ้นคืนในตลาดหุ้นจำนวนมากแต่เทียบกับ มูลค่ามาร์เก็ตแคป 17-18 ล้านล้านบาท ยังถือว่าน้อยมาก และยังสามารถซื้อหุ้นคืนในตลาดได้มากกว่านี้อีกด้วย เทียบกับตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่หนุนเพิ่ม ROE ใช้ช่องทางซื้อหุ้นคืนเช่นกัน"
นายอัสสเดช กล่าวเสริมว่า โปรแกรม Jump plus จะผลักดันให้ บจ. ที่สะสมทุนเอาไว้จำนวนมากไปพัฒนาธุรกิจ สร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งขณะนี้ได้เดินหน้าไปมาก และคาดว่าภายใน 2 เดือนจะเปิดเผยแผนผลักดัน บจ. ไทยให้เติบโต และสร้างโอกาสแบบก้าวกระโดดได้อย่างไร ซึ่งพื้นฐานที่สะท้อนความแข็งแกร่ง และความเชื่อมั่น เพราะหากไม่ดำเนินการ บจ.ไทย อาจถูกเปรียบเทียบตลาดหุ้นอื่นจนความน่าสนใจหายไป
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ROE ในตลาดหุ้นไทบถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มหุ้นพลังงานค่อนข้างมาก ซึ่งภายหลังการปรับโครงสร้างใหม่ลดน้ำหนักของกลุ่มพลังงานลง ส่งผลให้ ROE ในตลาดก็ลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ มองว่า “การซื้อหุ้นคืน” เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะ 60% ของหุ้นไทยถูกซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี แบ่งเป็น 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่
การที่ บจ. วางแผนในการซื้อหุ้นคืนนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากจะเป็นการพยุงราคาหุ้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว ยังเป็นการสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้่นคืนให้กับผู้ถือหุ้นอีกด้วย แต่อย่างไรก็ดี การที่ บจ. จะซื้อหุ้นคืนนั้นจำเป็นที่จะต้องมีกระแสเงินสดในมือที่เพียงพอ มีความสามารถในการชะระเงินกู้และหุ้นกู้ในระยะ 1-2 ปี โดยที่ไม่กระทบต่อสภาพคล่องของบริษัท
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด (Liberator) กล่าวว่า "การซื้อหุ้นคืน" อาจเป็นเพราะบจ. มองว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายในตลาดตอนนี้ ต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น และไม่สะท้อนมูลค่าพื้นฐานที่แท้จริง จึงตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นในตลาดกลับคืน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนในระยะสั้น
อีกทั้งเพื่อเป็นการส่งสัญญาณทางอ้อมให้รู้ว่าราคาหุ้นต่ำเกินไปแล้ว ซึ่งท้ายที่สุดแล้วในระยะยาวหากราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น บริษัทยังสามารถนำหุ้นที่ซื้อคืนกลับมาขายในตลาดได้อีกครั้ง แต่ส่วนตัวมองว่าการจะพยุงราคาหุ้นนั้น เมื่อมีการซื้อหุ้นคืนแล้ว ควรเป็นการตัดจำหน่ายออกจากตลาดไปจริงและไม่มีการปล่อยกลับมาสู่ตลาดอีก ยังไงราคาหุ้นก็ดีขึ้น
นอกจากนี้ "การซื้อหุ้นคืน" ยังส่งผลดีไปถึงเงินปันผลต่อหุ้น (Dividends per Share: DPS) และ กำไรต่อหุ้น (EPS) ก็จะสูงขึ้น จากปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดที่ลดลง ก็เป็นโมเมนตัมที่ดี
"สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนควรให้การจับตาดูและระมัดระวังมากที่สุดคือ เมื่อ บจ. มีการประกาศการซื้อหุ้นคืนแล้ว ภายหลังผู้บริหารกลับมีการขายหุ้นในมือตนเองออกมา เหมือนเป็นการนำข้อมูลภายในมาใช้หาประโยชน์ในการซื้อขาย (Insider Trading) เพราะเท่าที่สังเกตมาระยะหนึ่งก็เห็นว่ามี บจ. ที่ทำเช่นนี้แล้ว ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องระวังให้มาก"
ถามว่าแล้วหลังจากนี้จะเห็น บจ. ทยอยประกาศซื้อหุ้นคืนเพิ่มเติมอีกหรือไม่นั้น มองว่าก็มีโอกาสที่เป็นไปได้ แต่ บจ. ขนาดใหญ่จะซื้อหุ้นคืนก็ต่อเมื่อราคาหุ้น P/E ถูกกว่า และ มีระดับ P/BV ที่ต่ำ นอกจากนี้ บจ. ต้องมีกระแสเงินสดในมือเพียงพอและต้องไม่กระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ (Working Capital) ด้วย
แต่เอาเข้าจริงแล้วการซื้อหุ้นคืนแม้เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ช่วยเข้ามาพยุงราคาหุ้นในช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน แต่บจ. ก็ต้องมีการพิจารณาถึงความคุ้มค่าด้วยว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่ เพราะการนำเอากระแสเงินสดในมือไปต่อยอดลงทุนสร้างฐานที่มั่นคงให้ธุรกิจก็เป็นเรื่องที่จำเป็นและอาจมีความสมเหตุสมผล (Make sense) มากกว่าหรือไม่
บจ. ต้องมองด้วยว่าความคุ้มค่าและผลประโยชน์ที่จะได้รับได้คุ้มเสียหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าการออกหุ้นกู้ในช่วงนั้นก็อาจไม่ได้การตอบรับที่ดีเช่นเดิมนักลงทุนไม่เชื่อมั่น ดังนั้นแล้วก็ที่จะเห็น บจ. ขนาดใหญ่ออกมาซื้อหุ้นคืนนั้น คงเป็นเรื่องของรายกรณีไป (Case by case)