แรงซื้อธนาคารกลาง หนุนราคาทองคำไปต่อ

20 พ.ย. 2567 | 13:31 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2567 | 13:32 น.

วายแอลจีเผย แผนสะสมทองคำของธนาคารกลาง หนุนความต้องการถือทองไปต่อ ชี้ราคาปรับตัวระยะสั้น พบ 10  เดือนยังให้ผลตอบแทนทั้ง Gold spot และทองแท่งในประเทศถึง 26.52% และ 27.87% ตามลำดับ

ราคาทองคำยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ท่ามกลางความกังวลว่านโยบายต่างๆ ของนาย โดนัลด์ ทรัมป์ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐจะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นและอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ยุติวงจรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน

ขณะที่ราคาทองในประเทศเปิดตลาด(14 พ.ย.) ปรับตัวลงแรง 300 บาท สู่บริเวณ 42,550 บาท เมื่อเทียบกับประกาศราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายของเมื่อวาน โดยระหว่างวันมีการประกาศราคาทองคำทั้งหมด 7 รอบ รวมราคาปรับเพิ่มขึ้น 100 บาท

ส่วนราคาทองคำต่างประเทศ(Gold Spot) ปรับตัวลงต่อเนื่องสู่บริเวณแถวๆ 2,563 ดอลลาร์ หลังจากร่วงหลุดระดับ 2,600 ดอลลาร์ในวันก่อน ขณะที่ราคาทองคำโคเม็กซ์สหรัฐปิดตลาดคืนที่ผ่านมาลดลง 19.80 ดอลลาร์สู่บริเวณ 2,586.50 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการปรับลดลงติดต่อกัน 4 วันทำการ

นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ราคาทองคำช่วง 11 เดือนปี 2567 สร้างระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ถึง 7 เดือน โดยช่วง 10 เดือนแรกราคา Gold Spot ปรับตัวขึ้นมามากถึง 683 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ราคาปิด ณ เดือนตุลาคมที่ระดับ 2,745 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือเติบโตถึง 33.12%  

นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

ขณะที่ราคาทองคำแท่งในประเทศ 96.5% ขยายตัวขึ้นมาได้ดีเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวขึ้นมาทั้งสิ้น 10,700 บาทต่อบาททองคำ สู่ระดับ 44,350 บาทต่อบาททองคำหรือเติบโตถึง 31.80% ใกล้เคียงกับ Gold Spot  ดังนั้นทั้งราคา Gold Spot และทองคำแท่ง 96.5% ยังถือว่าให้ผลตอบแทนในระดับที่โดดเด่นถึง 26.52% และ 27.87% ตามลำดับ 

สำหรับแนวโน้มราคาทองคำระยะกลางถึงสิ้นปีนี้ คาดการณ์ Gold Spot แนวรับ1 อยู่ที่ 2,547 ดอลลาร์ แนวรับ2 อยู่ที่ 2,450 ดอลลาร์ แนวต้าน1 อยู่ที่ 2,710 ดอลลาร์และแนวต้าน2 อยู่ที่ 2,800 ดอลลาร์

ส่วน GOLD 96.5% แนวรับ1 อยู่ที่ 41,800บาท แนวรับ2 อยู่ที่ 40,200บาท แนวต้าน1 อยู่ที่ 44,500 บาทและแนวต้าน2 อยู่ที่ 45,600 บาท ภายใต้สมมุติฐาน ระดับอัตราแลกเปลี่ยน 34.60 บาทต่อดอลลาร์

แรงซื้อธนาคารกลาง หนุนราคาทองคำไปต่อ
ส่วนมุมมองด้านปัจจัยทางเทคนิค แม้ว่าแนวโน้มราคาทองคำจะฟื้นตัวขึ้นได้บ้าง หลังจากราคาทิ้งตัวลง แต่ราคายังฟื้นตัวในระดับจำกัด ส่งผลให้ระยะสั้นราคามีโอกาสแกว่งตัวในทิศทางอ่อนตัวลง

เบื้องต้นแนะนำให้รอดูการสร้างฐานของราคา

  • หากทรงตัวรักษาระดับไว้จนยืนเหนือแนวรับบริเวณ 2,547 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อย่างแข็งแกร่ง ราคามีโอกาสขยับขึ้นทดสอบแนวต้าน 2,710 ดอลลาร์ต่อออนซ์
  • หากผ่านได้ ลุ้นราคาทดสอบแนวต้านถัดไปโซน 2,790-2,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (2,790 ระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์) 
  • หากราคาหลุดแนวรับแรก ประเมินแนวรับถัดไป 2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ระดับสูงสุดเดือน พ.ค.)

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการซื้อขายในสัปดาห์สุดท้ายของปี อาจเป็นไปอย่างเบาบาง เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ชะลอการเข้าตลาดก่อนช่วงวันหยุดยาวปลายปีและหลายประเทศหยุดยาวต่อเนื่องในช่วงเทศกาลวันคริสต์มาส  ซึ่งกรอบการเคลื่อนไหวของราคาทองคำมักจะแคบลงหลังช่วงเทศกาลคริสต์มาสจนถึงเทศกาลปีใหม่  

“กลยุทธ์การลงทุนระยะกลางถึงสิ้นปีนี้ แนะนำทำกำไรระยะสั้นจากการแกว่งตัว โดยเข้าซื้อหากราคาย่อตัวไม่หลุดแนวรับ 2,547-2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ไม่แนะนำให้เข้าซื้อทั้งหมดบริเวณแนวรับใดแนวรับหนึ่ง ควรเหลือเงินทุนเพื่อซื้อเฉลี่ย” 

  • หากราคาหลุดแนวรับ ควรตัดขาดทุน หากราคาหลุดแนวรับโซน 2,450ดอลลาร์ต่อออนซ์ และให้แบ่งขายทำกำไร เมื่อราคาดีดตัวขึ้นแนวต้าน 2,710 ดอลลาร์ต่อออนซ์
  • หากผ่านได้มุมมองเชิงบวกจะเพิ่มขึ้น สามารถถือต่อลุ้นราคาขึ้นทดสอบแนวต้นถัดไปโซน 2,790-2,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ส่วนแนวโน้มระยะยาวราคาทองคำสิ้นปี 2568 ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบทิศทางขาขึ้น โดยราคาในระดับรายปี มีการสร้างระดับสูงสุดใหม่ และไม่มีการต่ำสุดใหม่จากปีก่อนหน้า และราคาสร้างระดับสูงสุดครั้งใหม่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง

แม้ว่าราคาจะมีแรงขายทำกำไรสลับเข้ามากดดันราคาอ่อนตัวอย่างชัดเจน แต่ยังเห็นแรงช้อนซื้อเก็งกำไรเข้าพยุงราคาปรับตัวขึ้นต่อ 

คาดการณ์แนวโน้มราคาทองคำระยะยาว Gold Spot แนวรับ1 อยู่ที่ 2,450 ดอลลาร์ แนวรับ2 อยู่ที่ 2,278ดอลลาร์ แนวต้าน1 อยู่ที่ 2,800ดอลลาร์ แนวต้าน2 อยู่ที่ 3,000ดอลลาร์ ส่วน Gold 96.5% คาดการณ์แนวรับ1 อยู่ที่ 40,200บาท แนวรับ2 อยู่ที่ 37,400บาท แนวต้าน1 อยู่ที่ 46,000บาท และแนวต้าน2 อยู่ที่ 49,300บาท 

ส่วนปัจจัยหนุนทิศทางทองคำได้แก่

  1. ธนาคารกลางมีแผนสะสมทองคำเพิ่มในระยะยาว
  2. ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)
  3. สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ และปัจจัยเสี่ยงจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจบรรเทาลง ภายใต้การบริหารของ“ทรัมป์”  

สำหรับคำแนะนำในการลงทุนทองคำนั้น แนวโน้มราคาทองคำในระยะยาวเป็นบวก นักลงทุนระยะยาวสามารถเข้าสะสมทองคำเพิ่มเติม โดยการเข้าซื้อ หากราคาเคลื่อนไหวเหนือกรอบแนวรับบริเวณ 2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นกรอบด้านล่างของทิศทางขาขึ้น

หากหลุดแนวรับโซน 2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจชะลอการเข้าซื้อเพื่อรอดูการสร้างฐานของราคา หากยืนไม่อยู่ประเมินแนวรับถัดไปแนวรับโซน 2,278 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย หรือมีการถือครองทองคำอยู่แล้ว แนะนำสามารถเข้าสะสมทองคำเพิ่มเติม

ทั้งนี้แนวรับดังกล่าวเป็นกรอบด้านล่างของทิศทาง Sideway up  โดยราคาทองคำยังมีโอกาสขยับขึ้นทดสอบแนวต้าน 2,790-2,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เป็นแนวต้านแรก หากผ่านได้แนวโน้มระยะยาวจะเป็นบวกเพิ่มขึ้น และแสดงถึงแรงซื้อที่แข็งแกร่ง ทำให้ประเมินว่า มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อไปทดสอบแนวต้านถัดไป ซึ่งอยู่ในโซน 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์

อย่างไรก็ตาม หากราคา Gold Spot แตะระดับ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และ ค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 35.15 บาทต่อดอลลาร์ ราคาทองคำแท่ง 96.5% จะสามารถขึ้นแตะระดับ 50,000 บาทต่อบาททองคำได้


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,045 วันที่ 17 - 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567