ธ.ก.ส. “พักหนี้เกษตรกร” เฟส 2 แจ้งความประสงค์ร่วมโครงการภายใน ม.ค.68

02 พ.ย. 2567 | 08:55 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2567 | 08:55 น.
7.9 k

ธ.ก.ส.ลุย “พักหนี้เกษตรกร” เฟส 2 แก้หนี้ต่อเนื่องจากเฟสแรก 1.4 ล้านคน ชี้แจ้งความประสงค์ร่วมโครงการภายใน ม.ค.68 พร้อมเดินหน้าอบรม ฟื้นฟูอาชีพ วางเป้าช่วยอีก 3 แสนราย

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า การเดินหน้ามาตรการพักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 2 เป็นการแก้ไขปัญหาหนี้ต่อเนื่องให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการฯ ระยะที่ 1 กว่า 1.41 ล้านราย

โดยเปิดให้ลูกค้าแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการ ระยะที่ 2 ผ่านสาขา ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 – 31 มกราคม 2568 ซึ่งธนาคารจะตรวจสอบข้อมูล ประเมินศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ (Loan Review)

ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข จะได้รับการพักชำระหนี้ในระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 – 30 กันยายน 2568 และ ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2567 มีผู้ผ่านการสอบทานศักยภาพหนี้ (LR) เพื่อเข้ามาตรการต่อ จำนวน 49,787 ราย

ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส. ยังได้ตั้งเป้าหมายในการอบรมและส่งเสริมการฟื้นฟูประกอบอาชีพ ให้กับลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการฯ เพิ่มอีก 300,000 รายทั่วประเทศ

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลในระยะที่ 1 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2567 โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้กับ ธ.ก.ส.ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท มีผู้เข้าร่วมมาตรการสำเร็จ จำนวนกว่า 1.41 ล้านราย ต้นเงินคงเป็นหนี้ 209,392 ล้านบาท

โดย ธ.ก.ส. ได้มีการจัดอบรมและส่งเสริมฟื้นฟูการประกอบอาชีพ ภายใต้หลักการ 3ลด 3เพิ่ม 3สร้าง ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ พร้อมเตรียมตลาดรองรับในการจำหน่ายผลผลิตผ่านภาคีเครือข่ายของธนาคารให้กับลูกหนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในการประกอบอาชีพ มีรายได้เพียงพอและสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด โดย ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2567 มีผู้ผ่านการอบรม จำนวน 315,254 ราย

ขณะเดียวกัน ธนาคารยังได้สนับสนุนเงินทุนผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพ ภายใต้มาตรการพักชำระหนี้ให้กับผู้ผ่านการอบรมฯ วงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนและเสริมสภาพคล่องในระหว่างการพักหนี้ โดยมีผู้ใช้บริการสินเชื่อ จำนวน 15,137 ราย ยอดจ่ายสินเชื่อสะสมรวมกว่า 1,232 ล้านบาท

“หลังเสร็จสิ้นมาตรการในช่วงระยะที่ 1 ธ.ก.ส. ได้ติดตามและประเมินผลการฟื้นฟูพัฒนาอาชีพ พบว่า ผู้เข้าร่วมมาตรการฯ สามารถสร้างผลผลิต สร้างรายได้เพิ่มหรือลดต้นทุนการผลิตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 จำนวน 60,629 ราย”