ดึง 4 ขุมทรัพย์ อัดฉีดนโยบายรัฐ กรุงศรีแนะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

13 ก.ย. 2567 | 06:00 น.

เปิด 4 แหล่งเงิน อัดฉีดนโยบายรัฐ ทั้งลดเงินนำส่ง FIDF ครึ่งหนึ่ง มารับซื้อหนี้ ขายหุ้นที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือ รายได้ค่าธรรมเนียมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ พร้อมดึงธุรกิจใต้ดินเข้าระบบ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หนุนมาตรการ NIT เพิ่ม VAT 10% 

KEY

POINTS

  • รัฐบาลจะลดการนำส่งเงินเข้ากองทุน FIDF ลงครึ่งหนึ่ง จากประมาณ 70,000 ล้านบาทเป็น 35,000-40,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อนำเงินไปซื้อหนี้เสียจากสินเชื่อบ้านและรถยนต์ 
  • กระทรวงการคลังจะขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ.
  • การจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากใบอนุญาตของสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ
  • รัฐบาลจะผลักดันให้เศรษฐกิจนอกระบบและเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี เพื่อเพิ่มรายได้ภาครัฐ โดยคาดว่าจะเพิ่มรายได้เป็น 50% ของ GDP หรือประมาณ 9 ล้านล้านบาทจากมูลค่า GDP ต่อปีที่มีอยู่ 18 ล้านล้านบาท

เมื่อวันที่ 12 กันยายน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภาถึง 10 นโยบายเร่งด่วนและ 3 นโยบายระยะกลางและระยะยาว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งเรื่องปัญหาหนี้สิน รายได้ ค่าครองชีพ รวมทั้งความมั่นคงและปลอดภัยในสังคม เพื่อนำความหวังของคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด โดยมีนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที คือ

ดึง 4 ขุมทรัพย์ อัดฉีดนโยบายรัฐ กรุงศรีแนะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง  

10 นโยบายเร่งด่วน

  1. ผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ
  2. ดูแลและส่งเสริมพร้อมปกป้องผลประโยชน์ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และแก้ไขปัญหาหนี้ SMEs เช่น การพักหนี้ การจัดทำ Matching Fund  
  3. เร่งออกมาตรการลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน  ผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit)และกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทาง 
  4. สร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยนำเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Under ground Economy) เข้าระบบภาษี ที่คาดว่า จะมีมูลค่าสูงกว่า 50% ของ GDP
  5. เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
  6. ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย ภายใต้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”
  7. เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex)
  8. แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร
  9. เร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์/มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ
  10. ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

3นโยบายระยะกลาง-ยาว

ส่วนนโยบายระยะกลางและระยะยาวประกอบด้วย

  1. สร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม โดยส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต(HEVS PHEVS BEVs และ FCEVs) ส่งเสริมยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) เพื่อส่งเสริม Soft Power
  2. ส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว  ต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ และบริการทางการแพทย์ มุ่งสู่เป้าหมายที่จะทำให้ไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก
  3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาส พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัยและนวัตกรรม เดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Projects) อย่างต่อเนื่อง เร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ ครอบคลุมและเข้าถึงได้ทั้งในด้านพื้นที่และราคา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ปฏิรูประบบภาษีไปสู่แบบ Negative Income Tax และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ

4 แหล่งเงินหนุนนโยบายรัฐ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ขณะนี้ รัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร กำลังจัดเตรียมความพร้อมของแหล่งเงิน เพื่อนำมาใช้ขับเคลื่อนนโยบายทั้งหมดของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีแหล่งเงินสำคัญด้วยกัน 4 แห่ง ประกอบไปด้วย 

  1. การดึงเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ อัตรา 0.46% ต่อปี ประมาณปีละ 70,000 ล้านบาท จำนวน 50% หรือประมาณปีละ 35,000- 40,000 ล้านบาท ไปซื้อหนี้เสียจากสินเชื่อบ้านและรถยนต์ สัดส่วน 50% จากสถาบันการเงิน เพื่อทำให้การจัดการหนี้เสียเหล่านี้เป็นไปอย่างเหมาะสม และส่งเสริมความมั่นคงในระบบการเงิน
  2. การขายหุ้นที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้น
  3. การจัดเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจากสถานบันเทิงครบวงจร
  4. การผลักดันรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี และเศรษฐกิจใต้ดิน เข้าสู่ระบบภาษี ให้ได้สัดส่วน 50% ต่อ GDP หรือคิดเป็นเงินประมาณ 9 ล้านล้านบาท จากมูลค่า GDP ต่อปีที่มีอยู่ 18 ล้านล้านในปัจจุบัน

เอกชนหนุนใช้ระบบ NIT

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า นโยบายที่รัฐบาลประกาศควรทำควบคู่กันเช่น ภาษี NIT (Negative Income Tax) หากดึงคนลงทะเบียนในระบบฐานภาษี รัฐจะเห็นข้อมูลสามารถแยกแยะระหว่างคนเสียภาษีและคนที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษี ซึ่งจะมีข้อมูลว่า ใครควรได้รับความช่วยเหลือ และดึงดูดให้คนอยากจ่ายภาษี มีสิทธิประโยชน์ที่ดี เพราะปัจจุบันคนจ่ายภาษีไม่ได้สิทธิพิเศษกว่าคนไม่เสียภาษี และทำให้การใช้เงินรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ 

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

 “NIT จะทำให้เห็นข้อมูล หากใครยื่นตัวเองเงินเดือนน้อย หลอกเอาเงินช่วยเหลือโดยไม่จำเป็น ต้องมีบทลงโทษด้วย หากภาครัฐต้องจ่ายภาษีมากขึ้นต่อไป อาจจะต้องปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่อาจจะช่วยคนจนสำหรับปัจจัย4 อัตราภาษีเป็นศูนย์ นอกจากนี้ต้องจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดก เพื่อนำเงินภาษีช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ให้คนจนเข้าถึงโอกาสเท่าเทียมกัน”

ขณะเดียวกันควรลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ทัดเทียมสิงคโปร์ ซึ่งสิงคโปร์คิดในอัตรา 22% แต่ยังลดภาษีได้ค่อนข้างมาก เพื่อเตรียมให้คนเข้าสู่วัยเกษียณ ทำให้อัตราภาษีของสิงคโปร์ต่ำกว่า 22% ด้วยซ้ำ ส่วนฮ่องกงอัตรา 15% หรือ 17% แต่ไทยยังอัตรา 35% ค่อนข้างสูง ท่ามกลางนานาประเทศดึงการลงทุนจากต่างประเทศ อย่างดูไบอัตราศูนย์ ถ้าไทยลดเหลือ 20%น่าจะดึงนักลงทุนและแรงงานเข้ามาได้มาก

สำหรับ “ดิจิทัล วอลเลต” หากเริ่มแจกเฟสแรก น่าจะมีส่วนผลักดันเศรษฐกิจ 0.1%  ส่วนโอกาสที่จะผลัดดันจีดีพีให้เติบโตที่ระดับ 5%นั้นเป็นประเด็น เพราะถ้าอยากได้อีก 2.0% ต้องเพิ่มกลไกเข้ามาอีกมาก โดยเฉพาะอย่างน้อยต้องมีเงินเข้ามาประมาณ 360,000 ล้านบาท

แต่ปัจจุบันยังไม่มีธุรกิจชูโรง ยกเว้น ถ้าอนาคตสามารถผลักดัน “เอ็นเตอร์เทรนคอมเพล็กซ์” รวมเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งจะเพิ่มรายได้ภาครัฐด้วย แต่ต้องกีดกันไม่ให้คนไทยกลุ่มเปราะบางหรือที่รายได้ความช่วยเหลือจากรัฐเข้าใช้บริการ  

“สัญญาณเป็นบวกมากขึ้น แต่ในเชิงตัวเลขต่อเศรษฐกิจนั้น อาจจะมีโอกาสอัพไซด์ขึ้นกับการนำ 10 นโยบายไปปรับใช้ได้จริงและการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชนและเอื้อให้ธุรกิจเดินได้"

ส่วนการแก้หนี้นั้น ปฎิบัติได้ยาก นอกจากมีความท้าทายในการลงรายละเอียด ยังต้องคำถึงถึงความเป็นธรรมด้วย สิ่งที่ต้องระวังคือ ระวังเรื่องก่อหนี้และหางานพิเศษให้คนมีรายได้เพิ่ม

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า ขอดูไทม์ไลน์และความเป็นไปของแต่ละนโยบายให้มีความชัดเจนก่อน แต่เฉพาะมาตรการ “ดิจิทัล วอลเลต” หากประเมินจากเม็ดเงิน 100,000 ล้านบาท น่าจะเป็นจุดเพิ่มเติมของงบประมาณที่จะเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ

"มองว่า จะมีส่วนกระตุ้นจีดีพีได้ 0.2-0.3% ซึ่ง Krungthai Compass ยังคงประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ 2.3% บนสมมติฐานที่ไม่ได้รวมการแจกเงินดิจิทัล วอลเลต และเมื่อรวมเม็ดเงินจากมาตรการดิจิทัลวอลเลต ก็น่าจะมีส่วนเพิ่มเติมจีดีพีขึ้นมาประมาณ 0.2-0.3%"

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย

อย่างไรก็ตาม ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ที่การเบิกจ่ายภาครัฐกลับมา จะส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจะค่อยๆดีขึ้นจากการเบิกจ่ายภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงบประมาณการลงทุนของภาครัฐที่เริ่มกลับเข้ามาปลายเดือนเม.ย.-ต้นพ.ค.ซึ่งเป็นจุดแตกต่างจากครึ่งปีแรกที่ผ่านมา

ทั้งนี้เชื่อว่า หากงบประมาณปี2568 สามารถเบิกใช้ของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัสดุก่อสร้างสามารถเดินหน้าโดยไม่ติดข้อจำกัดเช่นที่ผ่านมา 

“ส่วนตัวยังให้น้ำหนักกับปัจจัยการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐยังเป็นตัวแปรสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย  ในส่วนของการส่งออกในช่วง 1-2เดือนที่ผ่านมาตัวเลขค่อนข้างดีขึ้น ส่วนใหญ่มาจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก   ส่วนสินค้าอาหาร หรือสินค้าเกษตรก็ยังประคองตัวไปได้” 

แนะรัฐแก้ปัญหาเร่งด่วนควบคู่ปัญหาเชิงโครงสร้าง

ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า นอกจากปัญหาหนี้ครัวเรือนแล้ว ไทยยังประสบปัญหาเชิงโครงสร้างอีกหลายประการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ฉุดรั้งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจให้ต่ำกว่าระดับศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกที่ลดลง ตลอดจนปัญหาสังคมสูงอายุ  

ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

ดังนั้นวิจัยกรุงศรี จึงอยากเห็นรัฐบาลแก้ปัญหาเร่งด่วน ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นปัญหาระยะยาวอีกด้วย โดยในระยะสั้น หากรัฐบาลสามารถเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน ทั้งงบลงทุนตามกรอบงบประมาณปี 2567 ต่อเนื่องถึงปีงบประมาณ 2568

"ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งในเขตพื้นที่ EEC และในพื้นที่อื่นๆ ก็จะทำให้กลไกการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกครั้ง และช่วยเรียกความมั่นใจของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติกลับมา หนุนสร้างรายได้ภาคเกษตร-อุตสาหกรรม-บริการ "

ส่วนในระยะปานกลางถึงยาวนั้น ควรเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ได้แก่

  1. มุ่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้ง Hard Infrastructure และ Soft Infrastructure (โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานเชิงดิจิทัล) เพื่อเอื้อให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างสะดวก ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้
  2. สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ ตลอดจนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Strategic Resource และเทรนด์เทคโนโลยี

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,027 วันที่ 15 - 18 กันยายน พ.ศ. 2567