เบื้องหลัง รัฐบาลถอยใช้เงินธ.ก.ส. ตามม. 28 แจกเงินดิจิทัล

12 ก.ค. 2567 | 16:23 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2567 | 16:26 น.
832

เบื้องหลัง รัฐบาลถอยใช้เงินตามม. 28 แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หลังพบเอกสารสำงานกฤษฎีกา ตีความอำนาจ ธ.ก.ส.ไว้เมื่อปี 2549 ชัดเจน การใช้สินเชื่อกับประชาชนทั่วไป ไม่อยู่ในขอบเขตมาตรา 9 ตามกฎหมายจัดตั้งธ.ก.ส.

โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ดูเหมือนว่า กำลังเข้าใกล้ความเป็นจริงขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาแนะนำให้ประชาชน ที่มีคุณสมบัติและสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมลงโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท สามารถเข้ามาทยอยยืนยันตัวตนด้วยระบบ KYC ได้ล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน ทางรัฐ เพื่อเป็นการทยอยนำข้อมูลการยืนยันตัวตนเข้าสู่ระบบ และป้องกันการ กระจุกตัวของการยืนยันตัวตน หลังระบบมีการเปิดลงทะเบียนโครงการเงินดิจิทัลไปแล้ว 

พร้อมกับการไล่เรียงถึงไทม์ไลน์ของเงินดิจิทัล 10,000 บาทในเดือนกรกฎาคม 2567 ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง 

  • 10 กรกฎาคม 2567 ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเงินดิจิทัล
  • 15 กรกฎาคม 2567 นำรายละเอียดเข้าสู่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  
  • 24 กรกฎาคม 2567 นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” แถลงรายละเอียดโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท
  • 30 กรกฎาคม 2567 นำโครงการเงินดิจิทัล เข้าประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)

แค่เพียงการประชุมรอบแรก เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเงินดิจิทัล ก็มีการเปลี่ยนแปลงเสียแล้ว เมื่อคณะอนุฯ มีมติปรับลดวงเงินโครงการเหลือเพียง 4.5  แสนล้านบาท จากวงเงินเดิมที่เคยประกาศไว้ที่ 5 แสนล้านบาท

พร้อมปรับแหล่งเงินใหม่ว่า จะมาจากงบประมาณเป็นหลักคือ เป็นการใช้งบจากงบประมาณปี 2567 จำนวน 1.65 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาทที่ผ่านครม.ไปแล้ว และจากการบริหารจัดการอีก 4.3 หมื่นล้านบาท อีกส่วนจะมาจากงบประมาณปี 2568 จำนวน 2.85  แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณประจำ 1.527 แสนล้านบาทที่รวมในงบประมาณรายจ่ายไว้แล้ว และจากการบริหารจัดการอีก 1.323 แสนล้านบาท 

เบื้องหลัง รัฐบาลถอยใช้เงินธ.ก.ส. ตามม. 28 แจกเงินดิจิทัล

จากเดิมที่รัฐบาลเคยแถลงถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการเงินดิจิทัล 5 แสนล้านบาทมาจาก 3 ส่วนคือ

  1.  ขยายกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 1.527 แสนล้านบาท
  2. บริหารจัดการเงินงบประมาณ ปี 2567 จำนวน 1.75 แสนล้านบาท
  3. ใช้มาตรา 28 แห่งพระราบบัญญัติ(พ.ร.บ.)วินัยการเงินการคลังของรัฐ ผ่าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1.723 แสนล้านบาท เพื่อดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ ท่ามกลางข้อกังขาว่า สามารถดำเนินการได้หรือไม่ 

แม้รัฐบาลจะยืนยันว่า วงเงินที่ตั้งไว้ 4.5 แสนล้านบาทนั้น จะเพียงพอกับจำนวนคนที่จะเข้าร่วมโครงการมที่ 50 ล้านคนเหมือนเดิม 

พร้อมกับยืนยันว่า จากประสบการณ์ในอดีต จะมีประชาชนมาลงทะเบียนไม่เต็มตามเป้าหมาย หลักๆ ไม่เกิน 90%  แต่หากจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าที่ตั้งไว้ ก็จะใช้วิธีการบริหารจัดการงบประมาณเพิ่มเติม  ดังนั้นจึงมองว่า การจะใช้เงินตามมาตรา  28 ของธ.ก.ส.จึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป 

อาจฟังดูหล่อๆ แต่เบื้องหลังคือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยให้ความเห็นถึงอำนาจของ ธ.ก.ส.ในกรณีการให้บริการสินเชื่อของกองทุนธนาคารอิสลามแก่ประชาชนไว้ชัดเจน เมื่อปี 2549 

สืบเนื่องจากมติครม.เมื่อ  24 พฤษภาคม 2540 ให้จัดตั้งธนาคารอิสลาม และมอบหมายให้หน่วยงานรัฐประสานการทำงาน เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการธุรกิจธนาคารแบบอิสลามโดยด่วน 

ธ.ก.ส.จึงได้จัดตั้งกองทุนธนาคารอิสลาม เพื่อรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไปแล้วนำเงินที่รับฝากดังกล่าวไปให้บริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งการให้บริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลามนั้น ไม่สามารถให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าได้ กองทุนธนาคารอิสลาม จึงต้องดำเนินการ โดยวิธีการขายเชื่อ เช่าซื้อ หรือขายผ่อนชำระตามมาตรา 10(4) แห่งพ.ร.บ.ธ.ก.ส.

ในระยะแรกได้ให้บริการเฉพาะเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตรเช่นเดียวกับการให้กู้เงิน ตามมาตรา 10(1) แต่ต่อมาเงินรับฝากของกองทุนธนาคารอิสลามจากประชาชนมีจำนวนมากขึ้น ธ.ก.ส.จึงมีความประสงค์จะขยายการดำเนินการขายเชื่อ เช่าซื้อ หรือขายผ่อนชำระกับบุคคลทั่วไป ที่ไม่ใช่เกษตรกรด้วย 

ธ.ก.ส.เห็นว่า สามารถดำเนินการได้ตามมาตรา 10(4) เนื่องจากการดำเนินธุรกิจดังกล่าวเป็นไป เพื่อให้ได้เงินทุนมาดำเนินธุรกิจของธนาคารให้สมประโยชน์ ตามขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา 9 และอำนาจในการกระทำกิจการตามมาตรา 10 ไม่ต้องอยู่ภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา 9 เช่น การรับฝากเงิน ตามมาตรา 10 (5) ธ.ก.ส. สามารถรับฝากเงินจากบุคคลทั่วไปได้ มิใช่รับฝากเงินจากเกษตรกร เท่านั้น 

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 3) มีความเห็นว่า การที่ ธ.ก.ส. ประสงค์จะให้บริการสินเชื่อแก่ประชาชนทั่วไปไม่ใช่การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บุคคล หรือ กลุ่มบุคคลที่กฎหมายกำหนดไว้ ธ.ก.ส. ย่อมไม่มีอำนาจกระทำได้เพราะมิใช่การกระทำ กิจการที่อยู่ภายใต้ขอบวัตถุประสงค์ของกฎหมายจัดตั้งตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.บ.ธ.ก.ส. 2509

เรื่องนี้รัฐบาลเองก็รู้เรื่องนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ยื้อเวลาโครงการ หรือ บังเอิญมาเจอตอเข้าจริงๆ 

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,009 วันที่ 14 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567