คาดพ.ร.ฏ.ธปท.คุมนอนแบงก์นอกระบบเข้าครม.ต้นส.ค.นี้

12 ก.ค. 2567 | 15:47 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2567 | 15:48 น.

วงในคาดพ.ร.ฏ.ธปท.คุมนอนแบงก์นอกระบบเข้าครม.ต้นส.ค.นี้ มองบวกยกระดับมาตรฐานเช่าซื้อเทียบชั้นแบงก์ คาดใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปีหลังครม.ไฟเขียว เหตุต้องให้ความรู้ ที่ไม่มีประสบการณ์ ทั้งมาร์เก็ตคอนดักต์และ RL

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)ว่า ด้วยการกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2565 เนื่องจากการประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีการให้บริการกับประชาชนเป็นวงกว้าง และมีอัตราการขยายตัวสูง

ขณะเดียวกัน ยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลการประกอบธุรกิจดังกล่าวที่ชัดเจน อีกทั้งที่ผ่านมา ข้อร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับการใช้บริการดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นควรออกเป็นพ.ร.ฎ. ภายใต้อำนาจของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินและคุ้มครองผู้บริโภค โดยกำหนดบทลงโทษกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

คาดพ.ร.ฏ.ธปท.คุมนอนแบงก์นอกระบบเข้าครม.ต้นส.ค.นี้

สาระสำคัญของพ.ร.ฎดังกล่าวเป็นการให้อำนาจธปท.กำกับนอนแบงก์ที่ปัจจุบันอยู่นอกระบบ เพื่อดึงนอนแบงก์เข้าสู่ระบบ โดย กำหนด 4 กลุ่มเป้าหมายในการกำกับดูแล ควบคุมนอนแบงก์ทั้งหมด ทั้งรายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก และรายจิ๋วคือ มอเตอร์ไซด์ ซึ่งครอบคลุมลูกค้ากว่า 5,000 ราย ประกอบด้วย

  • รายใหญ่ ที่มีพอร์ตลูกค้ามากกว่า 5,000 ล้านบาท
  • รายกลาง พอร์ตลูกค้า 1,000-5,000 ล้านบาท
  • ผู้ประกอบการรายเล็ก พอร์ตต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
  • รายจิ๋ว (มอเตอร์ไซด์) มีพอร์ตต่ำกว่า 10 ล้านบาท

ความคืบหน้าประกาศพ.ร.ฏ ของธปท. กำหนดการประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 พ.ศ. ….เพื่อกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์

แหล่งข่าวจากผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คาดว่ากระทรวงการคลังจะเสนอร่างพ.ร.ฎดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมหรือต้นเดือนสิงหาคมนี้ และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในอีก 3 เดือนหลังครม. มีมติเห็นชอบแล้ว

ส่วนในทางปฎิบัติเบื้องต้นหรือระยะแรก ผู้ประกอบการนอนแบงก์จะต้องลงทะเบียนกับธปท. คาดว่า จะใช้เวลาไม่น่าจะเกิน 2 เดือน แต่กระบวนการดึงนอนแบงก์นอกระบบเข้าสู่ระบบ น่าจะใช้เวลา 6 เดือนถึง  1 ปี เพราะเป็นกระบวนการให้ความรู้นอนแบงก์ ซึ่งไม่มีประสบการณ์เรื่อง การกำกับดูแลการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (มาร์เก็ตคอนดักต์)และเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม หรือ Responsible Lending: RL

ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายกลางต้องวางระบบใหม่ หรือปรับปรุงระบบ เชื่อมระบบต่อกับธปท. ส่วนผู้ประกอบการรายเล็กและรายจิ๋ว จะยื่นมูลค่าพอร์ตที่ปล่อยสินเชื่อต่อธปท.

“ผมมองเป็นมุมบวก เพราะการดึงกลุ่มเช่าซื้อนอนแบงก์เข้าระบบเป็นการยกระดับมาตรฐาน เป็นทิศทางการให้สินเชื่อที่ยุติธรรมภายใต้มาตรการฐานเดียวกับแบงก์ เพราะที่ผ่านมากลุ่มเช่าซื้อนอนแบงก์จะมีความหลากหลาย ซึ่งวพ.ร.ฎของธปท.ฉบับนี้ เป็นแนวทางกำกับการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เพื่อให้เช่าซื้อนอนแบงก์ปฎิบัติตาม RL หรือมาร์เก็ตคอนดักต์ที่ใช้กับแบงก์และปรับปรุงใหม่แล้ว” แหล่งข่าว กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,008 วันที่ 11 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2567