"ภากร" เปิด 7 ขุมทรัพย์ลงทุนหุ้นยุคโลกเดือด

27 มิ.ย. 2567 | 14:12 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2567 | 14:36 น.

"ภากร ปีตธวัชชัย" มองครึ่งหลังปี 67 ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น รับอานิสงส์รัฐเร่งเบิกจ่ายงบ การท่องเที่ยวฟื้นตัว ชี้ความน่าสนใจลงทุนตลาดหุ้นไทยยังมี ราคาหุ้นปัจจุบันยังไม่สะท้อนต่อการเติบโตของกำไรในอนาคต พร้อมวาง 7 ธีมลงทุนดาวเด่น

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึง กลยุทธ์ตลาดหุ้นไทยฝ่าสถานการณ์โลก ในงานสัมมนาการลงทุนใหญ่ประจำปี Investment Forum 2024 : เจาะขุมทรัพย์ลงทุนยุคโลกเดือด จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2567 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นได้ โดยปัจจัยสนับสนุนหลักๆ เป็นผลมาจากการท่องเที่ยว การบริโภค เฮลธ์แคร์ และพลังงานทดแทน เป็นต้น

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ส่วนหนึ่งคาดการณ์ในช่วงครึ่งหลังปี 2567 งบประมาณภาครัฐจะทยอยเร่งออกมาได้ตามแผน หลังจากที่ในปี 2566 การเบิกจ่ายงบประมาณมีความล่าช้าไป ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร จากการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐที่จะเร่งออกมาในช่วงครึ่งหลังปีนี้เชื่อว่าจะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น สอดคล้องกับการประเมินของ IMF ที่มองว่าเศรษฐกิจประเทศไทยมีโอกาสจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งก็มีเพียงไม่กี่ประเทศจากทั่วโลกที่ IMF จะมีมุมมองที่เป็นบวก

ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยมี macro stability ที่สามารถรองรับเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาได้ดี มีอัตราการเร่งตัวของเงินเฟ้อไม่มาก เมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาค รวมถึงตลาดประเทศหลักอื่นๆ และมีความสามารในการแข่งขันในเวทีระดับโลก โดยปัจจุบันหนี้สินภาครัฐอยู่ระดับที่ประมาณ 64% ต่ำกว่าเกณฑ์ 70% ทำให้ยังมีโอกาสในการกู้ยืมมาใช้ได้ในอนาคต มีเงินสำรองที่อยู่ระดับสูง อีกทั้งตราสารหนี้ของไทยอยู่ที่ระดับ Investment grade กว่า 93%

แม้ว่าหลายคนอาจมองว่าประเทศไทยไม่มีผลิตภัณฑ์และผลิตผลที่ไม่เซ็กซี่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ไทยมีผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน อาทิ เฮลธ์แคร์ และภาคบริการ ที่มีศักยภาพและสามารถต่อยอดการเติบโตได้อีกมากในอนาคต ขณะเดียวกันอัตราการเร่งตัวของเงินเฟ้อประเทศไทยก็ไม่ได้มาก ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับราว 1.5% อีกทั้งประเทศไทยยังคงมีการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ยังไม่สะท้อนต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (EPS) ทั้งนี้ ผลประกอบการของ บจ. มีแนวโน้มดีขึ้นตามเศรษฐกิจ พร้อมโอกาสในการฟื้นตัวในหลายๆ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มี P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มองว่าเวลานี้เป็นจังหวะที่น่าสนใจ เพราะราคาหุ้นในปัจจุบันยังไม่สะท้อนต่อผลกำไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

"มองว่าในตอนนี้เป็นโอกาสเป็นจังหวะที่น่าสนใจในการลงทุนตลาดหุ้นไทย เพราะราคาหุ้นในปัจจุบันยังไม่สะท้อนต่อกำไรในอนาคต ไทยเรามีจุดแข็งหลายอย่างโดยเฉพาะในด้านของ Well-Being การท่องเที่ยวแนวโน้มเติบโตดี เชื่อว่าสิ้นปียอดนักท่องเที่ยวกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนวิกฤตโรคระบาด การแพทย์ไทยมีศักยภาพและยังพัฒนาไปได้อีกไกล ความเป็นมิตรของไทยจะเป็นแรงดึงดูการลงทุนจากต่างชาติในช่วงที่มีความกังวลด้านรัฐภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลก็ให้ความสำคัญ รวมถึงในเรื่องของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จะหนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวที่ดีมากขึ้น"ดร.ภากร กล่าว

แนวทางการลงทุนที่เศรษฐกิจไทยมีความโดดเด่น 7 ธีม และมองว่าเป็นจุดแข็งของตลาดหุ้นไทย ได้แก่

  1. ธุรกิจด้านการแพทย์และการท่องเที่ยว (Hospitality and Tourism) ที่มองว่าเป็นจุดแข็งประเทศไทยในเวลานี้ ซึ่งอาจต่อยอดด้วยการสร้างจุดแข็งโดยการใช้ดิจิตอลอิโคโนมีเป็นเรื่องที่ควรนำมาเสริมกัน โดยอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ ทั้งกลุ่มท่องเที่ยว, เกษตร และอาหาร เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 ในระดับภูมิภาค และอันดับที่ 24 ของโลก ในด้าน Wellness Economy โดย SET Well-Being Index ปัจจุบันมีทั้งหมด 30 บริษัท จาก 7 อุตสาหกรรม ได้แก่ การท่องเที่ยวและสันทนาการ การเกษตร ขนส่งและโลจิสติกส์ แฟชั่น การแพทย์ อาหารและเครื่องดื่ม และพาณิชย์ เป็นต้น
  2. การใช้งบลงทุนของภาครัฐ ที่ในปี 2567 นี้ คาดว่าน่าจะใช้งบประมาณจำนวนมากในกลุ่มรับเหมาฯ, สินค้าอุปโภคบริโภค การพาณิชย์ และอาหารเครื่องดื่ม อย่างไรก็ดี ก็ต้องมาลุ้นต่อว่าทางภาครัฐจะนำเงินออกมาใช้ได้เมื่อไหร่ และในรูปแบบไหน 
  3. การย้ายฐานการผลิต จากสถานการณ์ที่โลกกำลังเดือดเรื่องปัจจัยทางรัฐภูมิศาสตร์ (Geopoliticle) จะทำอย่างไรที่จะชักชวนนักลงทุนจากทั่วโลกที่กังวลต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ มีปัญหาในด้านการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ตกเป็นเป้าของสงครามให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ เพราะจุดเด่นเลยคือประเทศไทยเป็นมิตรกับทุกฝ่าย ซึ่งภาครัฐมีนโยบายต่างๆ ออกมา ทั้ง Longterm Visa, Bord of Investment จะทำอย่างไรให้การเข้ามาลงทุนทำได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งภาคธุรกิจที่จะได้รับปัจจัยบวกคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องจักรและยานยนต์, อุตสาหกรรมโลหะและวัสดุ, อุตสาหกรรมดิจิตอล, เกษตร อาหาร และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้พลังงานและสิ่งต่างๆ ที่ประเทศไทยมีพร้อม
  4. Global Play ที่ผ่านมาภาคธุรกิจไทยไปลงทุนในต่างประเทศค่อนข้างมาก เช่น สนามบิน AOT เคยเป็นสนามบินใหญ่อันดับ FDI ของโลก แต่ในปัจจุบันติดอันดับ 2 และบริษัทอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งอาหาร โรงแรม บริษัทของไทยถือว่าติดอันดับต้นๆ ของโลก มีรายได้จากต่างประเทศเฉลี่ยกว่า 5.81 ล้านล้านบาทต่อปี ดังนั้นการซื้อหุ้นบริษัทจดทะเบียนไทยก็คือการลงทุน Global Play รูปแบบหนึ่ง ทั้งนี้ จะเห็นว่าผลตอบแทนของ SET Global Big Cap และ SET Global Mid&Small Cap ค่อนข้าง Outperform ราว 50-60% ส่วน SET Global Large Cap ผลตอบแทน Outperform ตลาด ราว 10%
  5. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน (Sustainability) แม้ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยยังไม่ฟื้นตัวมากในลักษณะ K-Shape แต่หุ้นไทยที่อยู่ในดัชนี DJSI ถือว่าปรับตัวดี  
  6. หุ้นมีมีการจ่ายปันผลดี (Dividend Play) ในตลาด SETHD มีมากกว่า 30 บริษัทขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องสูง จ่ายปันผลต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปีติดต่อกัน รวมทั้งธุรกิจมีโอกาสเติบโตในอนาคต ดังนั้นถ้าหากนักลงทุนเลือกพอร์ตหุ้นที่เหมาะสม พอร์ตการลงทุนก็จะ Outperform ได้ 
  7. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ New Economy เพราะมองว่าการที่เศรษฐกิจจะเติบโต 100-200% ได้ ต้องมาจากธุรกิจใหม่ ซึ่งไม่ต้องกังวลว่าบริษัทจดทะเบียนไทยในตลาดไม่มีธุรกิจใหม่ๆ เพราะในความเป็นจริงมีบริษัทจดทะเบียนถึง 165 บริษัท ที่อยู่ใน Sector ใหม่ๆ ทั้ง ดิจิทัล และ อีคอมเมิร์ซ, สุขภาพ, เชื้อเพลิงชีวภาพ, อาการ และการแปลรูปผลิตผลทางการเกษตรเพื่อการบริโภคที่ใช้นวัตกรรม และยานยนต์สมัยใหม่ เป็นต้น โดยกว่า 73 บริษัทมีการดำเนินเป็นธุรกิจหลัก และอีก 92 บริษัทเป็นธุรกิจอื่นๆ

ทั้งนี้ ก็อาจต้องย้ำว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ทั้งในเรื่องความเสี่ยงจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopoliticle Risk), อัตราเงินเฟ้อ และนโยบายการเงิน เพราะถ้าหากดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่สูงสภาพคล่องในโลกก็อาจไม่มี, การทยอยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่ไม่สามารถประเมินได้